เอเจนซีส์ - ซัมมิตอาเซียนรูดม่านเปิดงานโดยไร้เงาตัวแทนจากพม่า หลังรัฐบาลทหารหม่องยืนกรานต้องการให้ผู้นำหรือรัฐมนตรีร่วมประชุมเท่านั้น การตัดสินใจงดรับตัวแทนทางการเมืองจากแดนพุกามครั้งนี้ถือเป็นการสบประมาทรัฐบาลทหารพม่าอย่างรุนแรงที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้สิ่งที่ต้องลุ้นกันต่อไปคือ อาเซียนจะตกลงกันได้และเริ่มติดต่อกับรัฐบาลเงาของพม่าอย่างเป็นทางการมากขึ้นหรือไม่
บรูไน ประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเลขาธิการอาเซียน ต่างไม่พาดพิงถึงกรณีนี้ระหว่างเปิดประชุมสุดยอดเสมือนในวันอังคาร (26 ต.ค.)
อาเซียนตัดสินใจเรื่องนี้หลังจากผู้แทนพิเศษ เอรีวัน ยูซอฟ ประกาศเมื่อหลายวันก่อนว่า จะไม่อนุญาตให้ตัวแทนทางการเมืองของพม่า ซึ่งรวมถึงอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนที่ถูกทหารโค่นอำนาจและขณะนี้ถูกตั้งข้อหาคดีอาญาหลายคดี เข้าร่วมประชุม
อาเซียนไม่อนุญาตให้มิน อ่องหล่าย ที่เป็นผู้นำการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เข้าร่วมประชุมเนื่องจากล้มเหลวในการยุติเหตุการณ์รุนแรง ไม่อนุญาตการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และไม่เปิดเจรจากับฝ่ายต่อต้านตามที่ตกลงกับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน
การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการสบประมาทรัฐบาลทหารพม่าอย่างรุนแรงที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก และยังเป็นการดำเนินการที่กล้าหาญของอาเซียนที่ยึดถือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด
กองทัพพม่าที่ปกครองประเทศยาวนานถึง 49 ปีในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา คัดค้านแข็งกร้าว พร้อมกล่าวหาอาเซียนละทิ้งบรรทัดฐานของตัวเองและยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลของชาติอื่น ซึ่งรวมถึงอเมริกา
หลังการประชุมสุดยอด นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ของมาเลเซีย ทวิตสนับสนุนการตัดสินใจของบรูไนเกี่ยวกับตัวแทนการประชุมจากพม่าอย่างเต็มที่ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย แสดงความเห็นว่า การดำเนินการกับพม่ามีความสำคัญต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังเป็นบททดสอบวิธีจัดการสถานการณ์ของอาเซียน
ผู้นำไทยยังเรียกร้องให้พม่าปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ และยอมให้เอรีวัน เดินทางเยือนเร็วๆ นี้ รวมทั้งเริ่มขั้นตอนแรกในกระบวนการสร้างความเชื่อมั่น และควรไว้ใจว่า อาเซียนจะช่วยให้พม่าบรรลุสันติภาพและความปรองดอง และกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ผู้แทนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงของพม่าสังหารพลเรือนกว่า 1,000 คน และควบคุมตัวประชาชนอีกหลายพันคน อีกทั้งทำให้คนนับหมื่นต้องทิ้งบ้านจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของทหาร
พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า อคติและเกินจริง ทั้งยังมาจากแหล่งข่าวที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ที่ประกาศตัวเป็นรัฐบาลเงา โดยกลุ่มนี้ประกอบด้วยกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย กลุ่มทหารบ้านท้องถิ่น และกองกำลังชาติพันธุ์
รัฐบาลทหารพม่ายังยืนยันว่า ทหารจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากการต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านติดอาวุธ และสำทับว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งถูกปลุกปั่นโดยกลุ่มก่อการร้ายที่ร่วมมือกับรัฐบาลเงา ทั้งนี้ เจ็ค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา ได้พบกับตัวแทนของเอ็นยูจีเมื่อวันจันทร์ (25 ต.ค.)
ผู้นำอาเซียนยังมีกำหนดประชุมกับผู้นำอเมริกา จีน และเกาหลีใต้ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะร่วมหารือผ่านวิดีโอลิงก์
ไมเคิล วาติคิโอติส ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชียของเซ็นเตอร์ ฟอร์ ฮิวมานิทาเรียน ไดอะล็อกที่มีฐานอยู่ในเจนีวา กล่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าอาจกังวลกับการถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมซัมมิตอาเซียนแม้เคยถูกนานาชาติโดดเดี่ยวมายาวนานก็ตาม แต่คำถามสำคัญคืออาเซียนจะตกลงกันได้หรือไม่ในการติดต่อกับเอ็นยูจีอย่างเป็นทางการมากขึ้น เช่นเดียวกับอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ที่เริ่มดำเนินการแล้ว