ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะเข้าร่วมประชุมซัมมิตทางไกลกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ในวันอังคาร(26ต.ค.) เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่วอชิงตันจะมีส่วนร่วมในระดับสูงกับอาเซียน ที่ทางอเมริกามองว่าเป็นกุญแจสำคัญในยุทธศาสตร์ตีโต้กลับจีนของพวกเขา
สถานทูตสหรัฐฯในบรูไนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าไบเดนจะเป็นผู้นำคณะผู้แทนของอเมริกาสำหรับการประชุมซัมมิตอาเซียน-สหรัฐฯส่วนหนึ่งในการประชุมหลายการประชุมของบรรดาผู้นำอาเซียนในสัปดาห์นี้
สหรัฐฯไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมระดับประธานาธิบดีมานับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมปป์ ร่วมประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ ในกรุงมะนิลาปี 2017
พวกนักวิเคราะห์มองว่าการร่วมประชุมกับอาเซียนของไบเดน สะท้อนถึงความพยายามของประธานาธิบดีรายนี้ที่ต้องการประสานเชื่อมต่อพันธมิตรและคู่หูในความพยายามตีโต้กลับจีนร่วมกัน
ขณะเดียวกันพวกเขายังคาดหมายด้วยว่า ไบเดน จะมุ่งเน้นความร่วมมือเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนโควิด-19 ภาวะโลกร้อน ห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้แล้วยังคาดหมายด้วยว่า ไบเดน จะให้คำรับประกันกับอาเซียน ว่าการมุ่งเน้นประสานความร่วมมือกับอินเดีย ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ของสหรัฐฯเมื่อเร็วๆนี้ ที่เรียกกันว่าภาคี 4 ประเทศ(Quad) และข้อตกลงจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย ไม่ได้มีเจตนามาแทนที่บทบาทกลางของอาเซียนในภูมิภาค
เอ็ดการ์ด คาแกน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกและโอเชเนียของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เน้นย้ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า วอชิงตันไม่ได้มอง Quad ว่าเป็น "นาโต้แห่งเอเชีย" และไม่มีเจตนาแข่งขันกับอาเซียน
เขาบอกว่าวอชิงตันมีความสนใจทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อรับประกันความยืดหยุ่นของห่วงโซุอุปทาน ในด้านโลกร้อนและเพื่อจัดการกับ "ความท้าทายร่วมในประเด็นทางทะเล" ซึ่งดูเหมือนเป็นการพาดพิงถึงคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์อย่างกว้างขวางของจีน ในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้
อย่างไรก็ตาม ไบเดน ไม่ได้ส่งสัญญาณว่ามีแผนใดๆในการหวนคืนสู่ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่ทรัมป์ถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2017
การประชุมซัมมิตอาเซียนในครั้งนี้จะมีขึ้นโดยปราศจากพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำทหารพม่า ซึ่งก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ การกีดกันของอาเซียนที่ไม่พบเห็นบ่อยครั้งนัก ในขณะที่อาเซียนเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นกลุ่มที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิก
คาแกน เรียกความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญ แต่บอกว่าจำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้ ในการจัดการกับความท้าทายต่างๆที่พม่ากำลังเผชิญ
(ที่มา:รอยเตอร์)