xs
xsm
sm
md
lg

‘เศรษฐกิจจีน’ เติบโตช้าลงมากในไตรมาส 3 เจอพิษอสังหาฯ ปั่นป่วน-ไฟฟ้าไม่พอใช้-ซัปพลายติดขัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เศรษฐกิจจีนมีอัตราเติบโตเชื่องช้าที่สุดในรอบ 1 ปีในช่วงไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตามตัวเลขของทางการที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (18 ต.ค.) โดยเป็นผลจากภาวะง่อนแง่นหนักในตลาดอสังหาริมทรัพย์ การขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในหลายท้องที่ และการสะดุดติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน

หลังจากกระเตื้องดีขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 การฟื้นตัวของจีนที่เป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกก็ดูเหมือนลดพลังลงไปมาก โดยตามการแถลงของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน จีดีพีของไตรมาส 3 ปีนี้ขยายตัวได้ด้วยอัตรา 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ถือว่าอ่อนแรงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2020 และอยู่ในระดับน้อยกว่าการคาดการณ์ของพวกนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่

ตัวเลขนี้ยังหล่นลงมาถึง 3% จากอัตราเติบโตต่อปีของไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย) ปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 7.9% และฟู่ หลิงหุ่ย โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนก็แถลงในวันจันทร์ (18) ว่า การฟื้นตัวภายในประเทศยังคง “ไม่เสถียรและไม่สม่ำเสมอ” ขณะที่ “ความไม่แน่นนอนต่างๆ ของสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในปัจจุบันกำลังเพิ่มสูงขึ้น”

เมื่อเปรียบเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 เติบโตขึ้นจากไตรมาส 2 เพียง 0.2% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่การหดตัวอย่างเป็นประวัติการณ์สืบเนื่องจากโควิด-19 ในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

ทางด้าน ลูอิส คูอิจส์ หัวหน้าด้านเศรษฐกิจเอเชียของ ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นว่า “อัตราเติบโตของจีนถูกดึงลากลงมา จากการชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถูกขยายกลายเป็นความปั่นป่วนใหญ่โตในระยะหลังๆ นี้ โดยผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาหนักหน่วงของกลุ่มเอเวอร์แกรนด์”

ทั้งนี้ การพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดของ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ที่เป็นยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ แต่กำลังอาการหนักด้วยภาระหนี้สินมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ คือปัจจัยที่กระทบอารมณ์ความรู้สึกของพวกที่คิดซื้อที่พักอาศัยในแดนมังกร

รัฐบาลจีนซึ่งวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับภาระหนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้เพิ่มความเข้มงวดด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การกู้ยืม ส่งผลกลายเป็นการตีกระหน่ำอย่างแรงใส่พวกกิจการที่มุ่งขยายตัวด้วยการก่อหนี้สินมหาศาลอย่างเช่น เอเวอร์แกรนด์ แล้วยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า การก่อสร้าง

พวกนักลงทุนกำลังเฝ้าจับตามองด้วยความวิตกถึงพัฒนาการต่างๆ ในเรื่องราวดรามาของเอเวอร์แกรนด์ ท่ามกลางความกังวลที่ว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของจีนได้ออกมารับรองให้ความเชื่อมั่นอีกคำรบหนึ่งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ผลเสียหายใดๆ ที่จะกระทบต่อภาคการเงินนั้นเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมเอาไว้ได้ ขณะเดียวกัน อี้ กัง ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนกล่าวต่อเวทีสัมมนาในวันอาทิตย์ว่า ทางการกำลังเฝ้าจับตามองดูพวกปัญหาอย่างเช่นความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ “สืบเนื่องจากการบริหารอันผิดพลาดและการขยายตัวอย่างอันตรายมาก” ของบางกิจการ

ทางด้าน นักเศรษฐศาสตร์ คูอิจส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมี “ผลกระทบเพิ่มขึ้นมาในเดือนกันยายน” จากภาวะขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในบางท้องที่และการตัดลดการผลิต ซึ่งมีสาเหตุจากการที่พวกรัฐบาลในท้องถิ่นมุ่งปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมายด้านภูมิอากาศและด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

เขาชี้ว่า ความเสียหายที่เพิ่มขึ้นมานี้ มองเห็นได้จากตัวเลขผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยเวลานี้ลงต่ำมาอยู่ในระดับ 3.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ ราจิฟ บิสวัส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แห่ง ไอเอชเอส มาร์กิต มองเช่นกันว่า จีดีพีไตรมาส 3 ที่อ่อนปวกเช่นนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนปัจจัยลบหลายๆ ประการผสมผสานกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่การสะดุดติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน

ถึงแม้เจอปัจจัยทางลบต่างๆ เหล่านี้ แต่ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน อี้ กัง ยังคงระบุคาดหมายว่า จีดีพีตลอดทั้งปีนี้จะสามารถสามารถเติบโตด้วยอัตราประมาณ 8%

ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีจุดที่สดใส เป็นต้นว่า ยอดขายปลีกกำลังเติบโตในอัตรา 4.4% จาก 2.5% ในเดือนสิงหาคม ขณะที่มาตรการจำกัดเข้มงวดต่างๆ ของจีนเพื่อต่อสู้ไวรัสโคโรนา กำลังได้รับการผ่อนคลาย

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)




กำลังโหลดความคิดเห็น