ในเรือที่ลอยลำนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา คุณยายทวดวัย 101 ปี นาม เวอร์จิเนีย โอลิเวอร์ ชาวร็อกแลนด์ รัฐเมน ใช้นิ้วและมือที่ยังแข็งแกร่งดั่งคีมเหล็กจับกระชับก้ามมโหฬารของกุ้งล็อบสเตอร์พันธุ์ยาวซึ่งค่อนข้างลื่น และสวมแถบยางรัดก้ามนั้นปุ๊บปั๊บฉับไว ด้วยความคล่องแคล่วชำนาญที่สะสมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยวัย 7 ปี
คุณยายทวดนักจับกุ้งมือฉมังท่านนี้เป็นผู้สูงวัยที่สุดในบรรดานักจับกุ้งขึ้นทะเบียนใบอนุญาตทั้งปวงของรัฐเมน โดยคุณยายทวดยังแข็งแรงอย่างยิ่ง แม้อายุอานามจะเกินหนึ่งศตวรรษแล้ว ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์หลายรายบอกว่า คุณยายทวดโอลิเวอร์อาจเป็นผู้ชราซึ่งยังแอ็กทีฟที่สูงวัยที่สุดของโลกก็เป็นได้
เมื่อทศวรรษ 1930 ซึ่งคุณยายทวดโอลิเวอร์เพิ่งเข้าสู่วงการจับกุ้งล็อบสเตอร์ไปขายนั้น ประชากรกุ้งล็อบสเตอร์หนาแน่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน่านน้ำนอกชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น รัฐเมน รัฐแมสซาชูเซตส์ และรัฐโรดไอแลนด์ โดยจะอาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องมหาสมุทรที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยแผ่นหิน ณ ความลึกประมาณ 4-5 เมตร ดังนั้น อุตสาหกรรมการจับกุ้งล็อบสเตอร์ไปขายเป็นอาหารแสนโอชะราคาแพงลิ่วจึงเฟื่องฟูอย่างยิ่ง
แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เปลี่ยนไป ปริมาณกุ้งที่จับได้มีจำนวนน้อยลง สถิติของกรมทรัพยากรสัตว์ทะเลแห่งรัฐเมนบันทึกเมื่อปี 2008 ว่า มีการจับกุ้งล็อบสเตอร์ได้สุทธิปีละ 31.6 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าซื้อขายที่ 244 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบันนี้ คุณยายทวดเวอร์จิเนีย และคุณตาแมกซ์ โอลิเวอร์ บุตรชายวัย 78 ปี ช่วยกันแล่นเรือออกจากท่าของเมืองร็อกแลนด์แห่งเทศมณฑลน็อกซ์เคาน์ตี สัปดาห์ละ 3 วัน เรือที่พา 2 แม่ลูกออกสู่น่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกมีชื่อไพเราะเฉกเช่นเดียวกับคุณยายทวด โดยอดีตสามีผู้ล่วงลับไปแล้วของคุณยายทวดเป็นผู้ตั้งให้
“ทวดกะว่าจะแล่นเรือจับกุ้งอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ค่ะ ...จนกว่าจะตายล่ะค่ะ” คุณยายทวดโอลิเวอร์ ให้สัมภาษณ์แก่เอเอฟพีไว้อย่างนั้น “คนชอบมาถามทวดอยู่เรื่อยว่า ‘นี่จะแล่นเรือจับกุ้งไปอีกทำไม’ ก็ฉันอยากทำของฉันอย่างนี้อะ ทวดแก่พอจะเป็นเจ้านายตัวเองได้นี่นา”
มนุษย์หนึ่งศตวรรษท่านนี้มักถูกเรียกขานว่า คุณผู้หญิงล็อบสเตอร์ แต่เพื่อนๆ และคนสนิทจะเรียกเธอว่า จินนี่เธออยู่ในร็อกแลนด์มาตลอดทั้งชีวิตบนถนนสายเดิมตั้งแต่เกิดและลืมตาดูโลกเมื่อปี 1920
“จินนี่เค้าเจ๋งจริงครับ” กล่าวโดย เดวิด คูเซนส์ นักจับกุ้งล็อบสเตอร์มีใบอนุญาตและอดีตประธานสมาคมนักจับกุ้งล็อบสเตอร์มีใบอนุญาตแห่งรัฐเมน
“จินนี่จับล็อบสเตอร์มาตลอดเลยครับ เธออายุ 101 ปีแล้ว แต่ยังออกไปจับกุ้งทุกสัปดาห์ พวกเราเห็นเธอมาลงเรือที่นี่สัปดาห์ละ 3 วันเธอจะมาตั้งแต่เช้ามืดเสมอครับ” คูเซนส์เล่า
คุณยายทวดโอลิเวอร์ลุกจากที่นอนตอนตีสามครึ่ง และออกจากบ้านประมาณตีห้า บางครั้งจะมาในรถกระบะของเธอเอง บางคราวมากับรถเชฟวีปี 1956 ของคุณตาแมกซ์ แล้วลงเรือพายไซส์จิ๋ว ไปขึ้นเรือเวอร์จิเนียเพื่อออกสู่มหาสมุทร
จินนี่กับแมกซ์วางกรงดักกุ้งล็อบสเตอร์ 200-300 อันไว้ที่พื้นท้องมหาสมุทรแอตแลนติก ย่านหมู่บ้านสปรู๊ซเฮด และเมื่อได้เวลาอันเหมาะสมคุณตาแมกซ์จะใช้เครื่องกว้านสายโยงเพื่อนำกรงขึ้นมาซึ่งภายในกรงมีกุ้งล็อบสเตอร์ก้ามโตๆ หลายตัวที่เข้าไปกินเหยื่อ และติดกับค้างคาอยู่ด้านในส่วนคุณยายทวดจินนี่ใช้มือในถุงมือยางจับล็อบสเตอร์แต่ละตัวขึ้นมาวัดความยาว สวมแถบยางรัดก้ามทั้งสองข้าง และจัดวางไว้ในแท็งก์ขังกุ้ง
ในการนี้ ด้วยความทะมัดทะแมงในชุดกางเกง และรองเท้าบูตกันน้ำครึ่งแข้ง พร้อมถุงมือยาง คุณยายทวดมีหน้าที่จับกุ้งล็อบสเตอร์มาตรวจสอบทีละตัว โดยจะต้องวัดความยาวว่ามีขนาดที่ไม่เล็กเกินข้อกำหนดของกฎหมายแล้วใช้คีมพิเศษสวมแถบยางรัดก้ามกุ้งให้แน่นหนาว่าไม่มีหลุดไม่มีพลาดใดๆ
ภารกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการจับกุ้งล็อบสเตอร์นั้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบอย่างเดียวของคุณยายทวดจินนี่ เพราะเธอทำหน้าที่ขับเรือด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากหมอกลงหนา เธอจะให้ลูกชายเป็นผู้ขับเรือ
ด้วยอายุปูนนี้ สองแม่ลูกโอลิเวอร์จะออกเรือเฉพาะในสภาพอากาศที่สดใส ซึ่งไม่เหมือนเมื่อสมัยยังหนุ่มสาวกว่านี้ ทั้งสองจะออกน่านน้ำมหาสมุทรตามกำหนดเวลาทั้งปวงไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรก็ตาม
“แม่ออกเรือจับกุ้งเสมอครับ แม่ไม่ยอมหยุดเลย” คุณตาแมกซ์บอก
“แม่มีเรื่องต้องทำโน่นนี่ตลอดเวลา จะต้องเคลื่อนไหวเสมอ ภารกิจยุ่งทุกเมื่อครับ บางทีผมก็เหนื่อยใจแม้แค่จะนึกถึงล่ะครับ”
พอถึงช่วงท้ายปลายๆ วัน กุ้งล็อบสเตอร์ทั้งปวงจะถูกนำไปยังสหกรณ์บ่อกุ้งล็อบสเตอร์ โดยที่ว่าการขายให้แก่สปรูซเฮดล็อบสเตอร์ปอนด์โค-ออปจะได้ราคาดีกว่าที่อื่น เพราะสหกรณ์รับซื้อในระดับขายส่ง
คุณยายทวดโอลิเวอร์ยืนยันว่าจะยังไม่ยุติอาชีพจับกุ้งล็อบสเตอร์ในเร็ววันนี้
“ทวดยังไม่อยากไปนั่งเก้าอี้เข็นค่ะ” เธอบอกอย่างนั้น
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : เอเอฟพี และเว็บไซต์ข่าวอีเอฟอีดอทคอมของสเปน)