เมื่อ อิดิต ฮาเรล ซีกัล (Idit Harel Segal) มีอายุครบ 50 ปี คุณแม่ลูก 3 ผู้เป็นสตรีวัยงามชาวอิสราเอลผู้นี้ ตัดสินใจทำสิ่งอันทรงคุณค่าอย่างยิ่งให้เป็นที่ระลึกของช่วงแห่งชีวิต ด้วยการมอบ “ของขวัญต่อลมหายใจ” แก่ผู้อื่น
เธอจะบริจาคไตข้างหนึ่งให้แก่คนแปลกหน้า ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ซีกัลเป็นคุณครูโรงเรียนอนุบาลในเขตเอชฮาร์ (Eshhar) ชุมชนชนบทแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของอิสราเอล ชุมชนแห่งนี้ถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นโดยชาวยิวที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
สตรีแห่งอุดมคติคนนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณตาผู้ล่วงลับไปแล้ว คุณตาเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีเยอรมัน คุณตาสอนให้เธอใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย และยึดมั่นในขนบธรรมเนียมของชาวยิวที่ถือว่า ไม่มีหน้าที่ใดจะสูงส่งยิ่งไปกว่าการช่วยรักษาชีวิตผู้อื่นให้รอดพ้นจากความตาย
ดังนั้น ซีกัล ไปปรึกษากลุ่มเอ็นจีโอกลุ่มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้บริจาคและผู้รับอวัยวะ กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเพื่อถ่ายโอนไตของเธอไปให้แก่ใครบางคนที่จำเป็นต้องได้ไตใหม่เพื่อยืดชีวิต ดำเนินเนิ่นนานราว 9 เดือน กว่าจะตรวจพบผู้ขอรับบริจาคไตที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของเธอ
ปรากฏว่า ใครคนนั้นสำหรับซีกัล คือ เด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 3 ขวบจากดินแดนฉนวนกาซา
ทุกคนในครอบครัวช็อก เมื่อซีกัลเผยให้ทราบถึงแผนกระทำความดีใหญ่หลวงนี้
เมื่อซีกัลเริ่มเปิดเผยแผนการกระทำความดีครั้งสำคัญของชีวิตให้สมาชิกในครอบครัวทราบ (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ทราบผลการสรรหาผู้รับบริจาคด้วยซ้ำ) ทุกคนตกใจกันมาก ตามด้วยปฏิกิริยาคัดค้านและการทุ่มเถียงที่รุนแรงสุดๆ เธอให้สัมภาษณ์อย่างนั้นแก่ไทมส์ออฟอิสราเอล สื่อรายใหญ่ระดับประเทศ
เบื้องแรกเลยคือ ยูวาล สามีแสนดี
“ทำไมคุณไม่ปรึกษาผมสักคำเลย” ซีกัลเล่าว่าสามีโวยวายอย่างนั้น “ทำไมคุณทำอย่างนี้กับตัวเอง คุณยังอายุนิดเดียว แล้วถ้าลูกคนไหนเกิดต้องการไตขึ้นมาล่ะ”
หลังจากนั้นมา ยูวาลคอยแต่จะหว่านล้อมอ้อนวอนให้เธอถอนตัวออกมา
ในส่วนของคุณพ่อคุณแม่และญาติพี่น้องทั้งปวง ปฏิกิริยาออกมาย่ำแย่กว่านั้นมหาศาล
“ครอบครัวดิฉันคัดค้านเรื่องนี้จริงๆ ทุกคนต่างคัดค้านเรื่องนี้ ทั้งสามี ทั้งน้องสาว ทั้งสามีเขย และคนที่ไม่สนับสนุนเลยคือคุณพ่อค่ะ” ซีกัล บอกระหว่างการให้สัมภาษณ์เอพี เมื่อเร็วๆ นี้ ที่บ้านซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาลูกเล็กๆ ใน เอชฮาร์ “พวกเขากลัวกันมากน่ะค่ะ”
ปฏิกิริยาของคุณพ่อนับว่าวิกฤตทีเดียว เพราะเมื่อไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้ซีกัลถอนตัว คุณพ่อเคืองจัด ถึงกับบอกลูกเขยให้หย่าขาดจากซีกัลที่ทำตัวเยี่ยงนี้ ยิ่งกว่านั้น ยังถึงกับเลิกพูดกับลูกสาวไปเลย แม้แต่ช่วงฉลองเทศกาลเซเดอร์ ก็ไม่จัดพิธีร่วมกับลูกสาวคนนี้
อย่างไรก็ตาม ลูกทั้งสามของซีกัลมีท่าทีสนับสนุน ลูกชายคนโตวัย 23 ปี เขียนสรรเสริญคุณแม่ไว้ในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีการส่งต่อๆ กันเป็นที่เอิกเกริกมิใช่น้อย ด้านลูกชายคนกลางวัย 15 ปี ไม่ได้เผยความรู้สึกออกมา หากกล่าวว่าเมื่อคุณแม่ตัดสินใจอย่างนี้ก็ต้องเคารพกัน ส่วนยัยสาวน้อยคนเล็กวัย 10 ปีเป็นปลื้มกับน้ำใจอันใหญ่หลวงของคุณแม่ น้องบอกว่า “คุณแม่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริงเสียงจริง คุณแม่เป็นนางฟ้าเดินดิน”
และแล้วชื่อผู้ที่ได้รับการคัดกรองให้ได้รับไตของซีกัล ก็ปรากฏออกมา
ขณะที่ความแตกร้าวในครอบครัวของซีกัลยังไม่คลี่คลาย ปัญหาใหม่ก็พุ่งเข้าชน ซีกัลได้รับทราบมาว่าผู้ที่ได้คิวเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรายถัดไปเป็นเด็กชายปาเลสไตน์วัย 3 ขวบจากดินแดนฉนวนกาซา และน้องคนนี้เป็นผู้ที่มีเนื้อเยื่อเข้ากับเนื้อเยื่อของเธอได้
บิลาล (นามสมมติ) ป่วยหนักด้วยปัญหาไตผิดปกติจากพันธุกรรม และต้องได้รับการฟอกไตไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ไม่มาก คุณพ่อของบิลาลเป็นคนขับแท็กซี่ ส่วนคุณแม่เป็นนักกฎหมาย บิลาลมีพี่ชายวัย 7 ขวบ
แพทย์บอกว่า บิลาลต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งปรากฏว่าไม่มีคนไหนในครอบครัวที่มีเนื้อเยื่อตรงกับบิลาล ในการนี้ คุณพ่อของน้องตอบตกลงกับแพทย์แล้วว่า ยินดีบริจาคไตของตนให้แก่ชาวอิสราเอล เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ลูกชายตัวน้อยจะได้รับการผ่าตัด โดยมีผู้บริจาครอมอบให้แล้ว
ความรู้สึกนึกคิดของซีกัลเมื่อได้ทราบข้อมูลนี้ น่านับถือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงภูมิหลังของเธอ
ซีกัลมิได้โดดเด่นเพียงในทางอาชีพการงานแห่งความเป็นแม่พิมพ์ของชาติ หากยังในด้านของแนวความคิดทางการเมืองแบบฝ่ายขวาที่หนักแน่น ซีกัลมีความภาคภูมิใจแรงกล้าในความเป็นชาวยิว ขณะเดียวกัน สมาชิกในครอบครัวล้วนเป็นยิวฝ่ายขวา โดยบางส่วนนั้นเป็นขวาสุดโต่งรุนแรง โดยมีบาดแผลแค้นฝังลึกในดวงใจ
คุณปู่คุณย่าของซีกัลเสียชีวิตในเหตุการณ์ปะทะยิว-ปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมปี 1948 ซึ่งในเวลานั้น คุณพ่อของซีกัลยังแบเบาะด้วยวัยเพียง 1 ขวบ คุณพ่อเติบโตขึ้นมากับครอบครัวบุญธรรม และแล้วในศึกอินติฟาดาที่สอง เมื่อปี 2002 คุณลุงในครอบครัวบุญธรรมเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกสังหาร
ซีกัลจึงเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแห่งความรักชาติเข้มข้น กระนั้นก็ตาม เธอมิได้ถอนถอยออกจากการตัดสินใจทำความดี
“ในมุมมองของดิฉัน การบริจาคในครั้งนี้เป็นเรื่องส่วนตัว และมิใช่เรื่องการเมือง” ซีกัล กล่าว และยืนยันว่า
“แม้ได้ทราบว่าผู้ใดจะได้รับไตไปนั้น ไม่ได้ทำให้ดิฉันเสียใจ หรือเปลี่ยนใจแม้แต่นาทีเดียว ดิฉันรู้สึกว่านี่เป็นบางอย่างที่ถูกกำหนดให้ต้องเกิดขึ้น ไม่มีวันไหนเลยที่ดิฉันจะไม่รู้สึกเปี่ยมสุขกับการได้ช่วยรักษาชีวิตของเด็กน้อยน่ารักคนนั้น”
เหนืออื่นใด เธอวาดหวังว่าสิ่งที่เธอเลือกกระทำคราวนี้จะเป็นตัวอย่างหนึ่งของความเมตตากรุณาในดินแดนที่มีแต่การสู้รบขัดแย้งตลอดกาลแห่งนี้
เขียนจดหมายน้อยส่งความปรารถนาดีไปยังน้องบิลาล
“หนูไม่รู้จักฉันหรอก แต่อีกไม่นานเราจะใกล้ชิดกันมาก เพราะไตของฉันจะเข้าไปอยู่ในตัวของหนู” ซีกัลเขียนจดหมายเป็นภาษาฮีบรู ไปถึงน้อง 3 ขวบชาวปาเลสไตน์คนนั้น โดยมีเพื่อนคนหนึ่งแปลจดหมายฉบับนั้นเป็นภาษาอาหรับ เพื่อให้ครอบครัวผู้รับบริจาคไตสามารถเข้าใจเนื้อหาในจดหมาย
ทั้งนี้ ครอบครัวของน้องบิลาลขอร้องให้ช่วยสงวนนาม เพราะการดำเนินการใดๆ ร่วมกับคนอิสราเอลเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่งยวดภายในบรรยากาศร้าวฉานเรื้อรังระหว่างชาติ ยิว-ปาเลสไตน์
“ฉันตั้งความหวังแบบเทใจทั้งดวงว่า การผ่าตัดนี้จะประสบความสำเร็จ และหนูจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างยืนยาวด้วยสุขภาพที่แข็งแรงและใช้ชีวิตที่มีความหมาย”
จดหมายของซีกัลเขียนขึ้นในห้วงที่ศึก 11 วันหฤโหดแห่งปี 2021 ระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เพิ่งสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“ฉันโยนความโกรธและความคับแค้นใจทิ้งไปหมด และมองเห็นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ฉันมองเห็นความหวังที่จะไปสู่สันติภาพและความรักอันเมตตากรุณา” ซีกัลเขียนอย่างนั้นในตอนหนึ่งของจดหมาย พร้อมบอกว่า “และถ้าหากจะมีคนแบบพวกเราเพิ่มมากขึ้นอีก มันก็จะไม่มีอะไรให้ต้องมาสู้รบกันเลย”
ไม่ปริปากให้ครอบครัวทราบถึงน้องบิลาล เพราะความแตกร้าวยิว-ปาเลสไตน์ฝังลึกเหลือเกิน
ตอนที่ซีกัลทราบว่าเด็กชายที่จะรับบริจาคไตของเธอเป็นใคร เธอตัดสินใจเก็บกำข้อมูลไว้มิดชิดอยู่เป็นเดือนๆ
“ดิฉันไม่ยอมบอกให้ใครฟังเลยค่ะ” ซีกัล เล่ากับเอพีอย่างนั้น “ดิฉันบอกตัวเองว่า แค่ทราบเรื่องที่จะบริจาคไต ยังมีเสียงในทางลบถึงขนาดนี้แล้ว มันก็ชัดเจนมากเลยว่าการที่เด็กชายปาเลสไตน์จะเป็นผู้ได้รับบริจาคน่ะ จะยิ่งทำให้เรื่องราวร้าวฉานไปอีกมหาศาล”
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อิสราเอลได้รับการสนับสนุนให้กลับมาตั้งประเทศขึ้นใหม่บนแผ่นดินที่มีคนเผ่าพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะปาเลสไตน์ตั้งรกรากอาศัยอยู่ แต่เป็นดินแดนที่ชาวยิวเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญาจากพระเจ้า และเป็นแผ่นแดนที่พวกเขาจากออกไปนานนับพันปี และในเวลาหลายสิบปีต่อมา อิสราเอลได้ทำศึกสงครามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อเข้ายึดครองดินแดนปาเลสไตน์ที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นดินแดนเวสต์แบงก์ (ดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน) ดินแดนฉนวนกาซา และแผ่นดินส่วนตะวันออกของนครเยรูซาเลม
ยิ่งหลังจากกลุ่มฮามาส ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ ซึ่งคัดค้านต่อต้านการดำรงคงอยู่ของประเทศอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง สามารถขึ้นครองอำนาจทางการเมืองเหนือดินแดนกาซาในปี 2007 ทางการอิสราเอลก็ยิ่งเพิ่มมาตรการการปิดล้อมดินแดนแห่งนี้อย่างแน่นหนาและอย่างโหดร้าย
ตั้งแต่บัดนั้นมา ศัตรูคู่อาฆาตคู่นี้ได้สู้รบกันมาแล้ว 4 ระลอก และแทบไม่มีชาวปาเลสไตน์จากกาซาคนไหนเลยที่ได้รับอนุญาตให้ข้ามพรมแดนเข้าไปในฝั่งของอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการที่ระบบดูแลสุขภาพของดินแดนกาซาถูกทำลายล้างผลาญไปด้วยสงครามความขัดแย้งและการถูกปิดล้อมมาปีแล้วปีเล่า อิสราเอลจึงยอมเปิดทางรับคนไข้จำนวนไม่มากซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างยิ่งยวดให้เข้าไปได้ ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม
NGO ผู้ประสานการบริจาค มุ่งสร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มผู้บริจาค มีหนึ่งคนได้ไตใหม่ และมีอีกหนึ่งคนได้รับด้วย
องค์การมัตนัต ชาอิม (Matnat Chaim) องค์การนอกภาครัฐบาลซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในเยรูซาเลม เป็นผู้ประสานงานการแลกเปลี่ยนไตครั้งนี้ ชาโรนา เชอร์แมน (Sharona Sherman) ประธานบริหารขององค์การ บอก
กรณีของน้องบิลาล หนูน้อยจากกาซา มีความสลับซับซ้อนอยู่บ้าง กล่าวคือ เมื่อร่างกายของเด็กนั้นไม่สามารถรับไตของพ่อได้ เพื่อเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โรงพยาบาลในอิสราเอลจึงบอกคุณพ่อของน้องว่า ถ้าเขาแสดงความจำนงบริจาคไตข้างหนึ่งให้แก่ผู้รับที่เป็นชาวอิสราเอล ลูกชายของเขาก็จะ “ขึ้นไปอยู่อันดับแรกของรายชื่อผู้รอรับไตบริจาคในทันที” เชอร์แมน เปิดเผยข้อมูลเจาะลึก
ในวันเดียวกับที่ลูกชายได้รับไตใหม่ คุณพ่อก็ได้บริจาคไตข้างหนึ่ง ไปให้หญิงอิสราเอลวัย 25 ปีที่เป็นคุณแม่ลูกสอง
ในบางประเทศ การแลกเปลี่ยนอวัยวะกันในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้กระทำ เพราะป้องกันปัญหาว่าผู้บริจาคอาจถูกบีบบังคับ ทั้งนี้ หลักจริยธรรมโดยองค์รวมในเรื่องการบริจาคอวัยวะนั้น ยึดโยงอยู่กับหลักการที่ว่าผู้บริจาคพึงยินดีสละให้ด้วยเจตจำนงเสรีของตนเอง และไม่ได้รับอะไรเป็นการตอบแทน
สำหรับในอิสราเอล การบริจาคของคุณพ่อ ถือกันว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อทำให้จำนวนผู้บริจาคโดยรวมทวีตัวมากขึ้น
สตรีแห่งอุดมคติชนะใจทุกคนด้วยเจตจำนงแน่วแน่จากดวงใจอันงดงาม
เมื่อเริ่มจะใกล้ถึงวันที่ซีกัลจะเข้ารับการผ่าตัดบริจาคไตในวันที่ 16 มิถุนายน 2021 ซีกัลเห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะต้องให้ครอบครัวได้ทราบเรื่องราวของน้องบิลาล และเธอได้พบว่าความแตกร้าวที่ลึกซึ้งสามารถจะร้าวรานเพิ่มได้อีก ทุกคนออกอาการคัดค้านรุนแรงดั่งที่เธอเตรียมใจไว้แล้ว สามีคัดค้านแล้วคัดค้านอีก และแม้แต่ลูกชายคนโตที่เคยสนับสนุน ก็ไม่อาจจะยอมรับได้ ส่วนสำหรับคุณพ่อนั้น ไม่มีใครกล้าบอกให้ทราบเรื่องนี้
สำหรับพวกเขาซึ่งรักและต้องการจะปกป้องดูแลให้เธอมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด ต่างมองว่า เธอกำลังเอาชีวิตของเธอไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ซีกัลยอมรับว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในคุณปู่คุณย่า ย่อมจะทำให้การตัดสินใจของเธอในครั้งนี้ เป็นอะไรที่สมาชิกในครอบครัวไม่อาจทำใจยอมรับได้
แต่ในอีกมุมหนึ่งของชีวิต ซีกัลมีความสุขใจมากที่พบว่า ของขวัญที่เธอตั้งใจมอบให้ผู้อื่นเนื่องในโอกาสอายุครบครึ่งศตวรรษ ซึ่งได้จุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งอย่างแรงขึ้นในครอบครัวนั้น ได้ส่งอานิสงส์มหาศาลกว่าที่เธอคาดหวัง
นอกจากที่ไตของเธอได้ช่วยชีวิตเด็กชายตัวน้อยแล้ว ยังก่อให้เกิดการบริจาคครั้งที่สอง คือคุณแม่ลูกสองชาวยิวคนหนึ่งได้มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นด้วยไตที่บริจาคโดยคุณพ่อของน้องบิลาล
ยิ่งกว่านั้น สายสัมพันธ์เชื่อมโยงเส้นใหม่ได้ถูกถักทอขึ้นมาในระหว่างคนยิวกับคนปาเลสไตน์ ที่สู้รบกันเรื่อยมาอย่างไม่รู้จักจบ ซีกัลเล่าว่า เธอได้ไปเยี่ยมหนูน้อยคนนั้น ในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะได้รับการผ่าตัด และจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังคงมีการติดต่อกับคุณพ่อคุณแม่ของบิลาลอยู่
ซีกัลบอกว่า เธอได้สร้างเสริมเชิดชูเกียรติยศให้แก่คุณตา พร้อมกับช่วยเยียวยาให้ตนเองได้บรรเทาจากความทุกข์โศกที่สูญเสียคุณตาเมื่อ 5 ปีก่อน
การบริจาคนี้คือสิ่งที่เธอทำด้วยความตั้งใจของตนเองจริงๆ และด้วยความเด็ดเดี่ยว ไม่ยินยอมเลิกรา ในท้ายที่สุดนั้น ครอบครัวของเธอก็ได้ยอมรับความจริงว่า หนูน้อยสามขวบคนนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเสียชีวิตของคุณปู่คุณย่า ซีกัลชี้ว่านี่ควรจะถือเป็นของขวัญอีกอย่างหนึ่งในตัวของมันเอง
ความรักและผูกพันในดวงใจพ่อ อยู่เหนือทิฐิมานะทั้งปวง
สามีของซีกัลค่อยๆ มีความเข้าใจดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว เช่นเดียวกับลูกๆ ด้วย
แต่ที่สำคัญคือในช่วงก่อนหน้าที่ซีกัลจะเข้ารับการผ่าตัดบริจาคไต คุณพ่อผู้รักลูกสาวลึกซึ้งกว่าสิ่งอื่นใด ได้ลดทิฐิมานะ เป็นฝ่ายโทรศัพท์มาหา
“ดิฉันจำไม่ได้หรอกค่ะว่าคุณพ่อพูดอะไรบ้าง เพราะคุณพ่อร้องไห้ไปพูดไป” ซีกัล เล่าน้ำตาซึม จากนั้นเธอจึงบอกคุณพ่อว่า ไตที่เธอบริจาคนั้นจะนำไปให้แก่เด็กชายชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง
อึ้งกันไปอยู่ชั่วขณะหนึ่ง มีแต่เสียงของความเงียบดังระงม
จากนั้นคุณพ่อเปิดใจออกมาว่า
“ดีแล้วลูก เด็กคนนั้นก็อยากมีชีวิตเหมือนกัน”
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา : เอพี ไทมส์ออฟอิสราเอล รอยเตอร์ วิกิพีเดีย)