ไอเอ็มเอฟเผยรายงานฉบับอัปเดตล่าสุด คงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจประจำปีนี้ของทั่วโลกเอาไว้ที่ 6% แต่ปรับเพิ่มอัตราเติบโตของอเมริกาและประเทศมั่งคั่งอื่นๆ พร้อมหั่นแนวโน้มจีดีพีประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงไทย แจงปัจจัยสำคัญคือการเข้าถึงวัคซีนโควิด และมาตรการสนับสนุนทางการคลังที่ต่อเนื่อง
จิตา โกปินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงระหว่างการเปิดตัวรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับอัปเดตล่าสุดเมื่อวันอังคาร (27 ก.ค.) ว่า ประชาชนในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าเกือบ 40% ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เทียบกับแค่ 11% ในตลาดเกิดใหม่ และตัวเลขยิ่งน้อยเพียงเศษเสี้ยวในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ
โกปินาถ สำทับว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่เร็วเกินคาดและการกลับคืนสู่สภาวะปกติคือปัจจัยที่ทำให้ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มแนวโน้มการคาดการณ์สำหรับบางประเทศ ในทางกลับกันการขาดการเข้าถึงวัคซีนและการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในบางประเทศ เช่น อินเดีย เป็นเหตุผลสำหรับการปรับลดตัวเลขคาดการณ์
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเพิ่มการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอเมริกาเป็น 7% และ 4.9% ในปีนี้และปีหน้า หรือเพิ่มขึ้นจากรายงานเมื่อเดือนเมษายน 0.6% และ 1.4% ตามลำดับ ภายใต้สมมติฐานว่า รัฐสภาสหรัฐฯ จะอนุมัติงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และการสนับสนุนครอบครัวรวมมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ประเทศที่ได้รับการปรับเพิ่มแนวโน้มจีดีพีสูงสุดคืออังกฤษ โดยคาดว่าการเติบโตในปีนี้จะสูงถึง 7% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้า 1.7% สะท้อนถึงการปรับตัวรับข้อจำกัดเพื่อป้องกันโรคระบาดได้ดีกว่าที่คาดไว้
ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มแนวโน้มการเติบโตของยูโรโซน 0.2% สำหรับปีนี้ แต่หั่นแนวโน้มจีดีพีญี่ปุ่น 0.5% ตามสถิติผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและการยกระดับมาตรการป้องกันโควิดในช่วง 6 เดือนแรก
อินเดียที่ยังคงต่อสู้กับการระบาดใหญ่ถูกปรับลดมากที่สุดถึง 3% อยู่ที่ 9.5% และลดลง 0.3% สำหรับแนวโน้มการเติบโตของจีน เนื่องจากการลดการลงทุนภาครัฐและการสนับสนุนทางการคลังโดยรวม
นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟยังหั่นจีดีพีอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ที่กำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรง โดยคาดว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะเติบโต 7.5% ในปีนี้ หรือลดลง 1.1% จากที่คาดไว้ในเดือนเมษายน
ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำถูกดาวน์เกรด 0.4% สำหรับปีปัจจุบัน เนื่องจากความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนฉีดให้ประชาชน
ในอีกด้านหนึ่ง โกปินาถ บอกว่าไอเอ็มเอฟมองความกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากความไม่สมดุลของอุปสงค์-อุปทานจากการที่หลายประเทศปลดล็อกเศรษฐกิจ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อระดับสูงในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาจะกลับสู่ระดับปกติปีหน้า กระนั้นหากอุปทานยังคงติดขัดเป็นเวลานาน การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นปัญหา
รายงานอัปเดตล่าสุดของไอเอ็มเอฟยังแจงว่า ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศใหม่และปรับใช้แนวทางป้องกันไว้ก่อนจะส่งผลกระทบสองต่อกับตลาดเกิดใหม่คือ เงินทุนจะไหลออกมากขึ้นและต้นทุนกู้ยืมพุ่งสูงขึ้น
ปัจจัยด้านลบต่อทั่วโลกยังรวมถึงไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ระบาดง่ายขึ้นทำให้ต้องจำกัดการเดินทางและกิจกรรมเศรษฐกิจ โดยอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกทั้งปีนี้และปีหน้าลดลง 0.8% และสร้างความสูญเสียราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025
และอีกหนึ่งปัจจัยลบที่สำคัญคือ แนวโน้มการลดขนาดแผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและสังคมของอเมริกา ซึ่งไอเอ็มเอฟประเมินว่า หากเป็นไปตามข้อเสนอของรัฐบาลจะสร้างการเติบโต 0.3% และ 1.1% ในปี 2021 และ 2022
(ที่มา : รอยเตอร์)