(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Branson vs Bezos in a private race for space
By CHRIS JAMES
09/07/2021
ผู้นำภาคธุรกิจชื่อดังทั้งสองมีแผนการที่ทั้งมีจุดซึ่งแตกต่างกันและจุดซึ่งคล้ายคลึงกัน ในการชิงชัยเพื่อเป็นเจ้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศในอนาคต
ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์นับจากนี้ เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง บลู ออริจิน (Blue Origin) และ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้ง เวอร์จิน แกแลคติก (Virgin Galactic) จะเหินฟ้าทะยานขึ้นสู่อวกาศ ด้วยยานที่ออกแบบโดยบริษัทของแต่ละคนเอง ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาสามารถที่จะทำเช่นนี้ได้ (ถึงแม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มันเป็นการผลาญเงินก้อนมหึมา และไม่มีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.latimes.com/business/story/2021-07-06/jeff-bezos-richard-branson-elon-musk-space-race)
มันเป็นจังหวะเวลาที่ถือว่ายิ่งใหญ่ทีเดียวสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศภาคเอกชน แต่คำถามซึ่งผุดขึ้นติดตามมาก็คือ แผนการของอภิมหาเศรษฐีชื่อดัง 2 คนนี้ ของใครเจ๋งกว่ากัน?
การแข่งขันด้านอวกาศของอภิมหาเศรษฐี
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม บลู ออริจิน ซึ่งเป็นของ เจฟฟ์ เบซอส (ผู้เพิ่งอำลาตำแหน่งซีอีโอของ แอมะซอน ตอนต้นเดือนกรกฎาคมนี้) ประกาศ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.blueorigin.com/news/bid-for-the-very-first-seat-on-new-shepard) ว่า ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 52 ปีของการที่ยานอวกาศ อปอลโล 11 ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nasa.gov/mission_pages/apollo/apollo11.html) บริษัทจะนำลูกเรือที่เป็นมนุษย์อวกาศชุดแรกของตนขึ้นสู่อวกาศ
หลังจาก บริษัทบินเที่ยวบินทดสอบด้วยความความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 15 เที่ยวบิน ครั้งนี้จะเป็นเที่ยวบินแรกซึ่งมีมนุษย์ขึ้นไปกับนาวาอวกาศของ บลู ออริจิน ที่ตั้งชื่อว่า “นิว เชปเพิร์ด” (New Shepard spaceship ตั้งตามชื่อของ แอลัน เชปเพิร์ด Alan Shepard มนุษย์อวกาศคนแรกของสหรัฐฯ) โดยในจำนวนที่นั่ง 4 ที่นั่งของเที่ยวบินเที่ยวปฐมฤกษ์นี้ ที่นั่งหนึ่งจะเป็นของผู้ชนะการประมูลราคาเพื่อนำเงินไปบำรุงการกุศล มีรายงานข่าวว่าบุคคลผู้ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยนามนี้ ยินดีควักกระเป๋าจ่ายเงินถึง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.blueorigin.com/news/the-very-first-seat-on-new-shepard-sells-for-28-million) อีก 2 ที่นั่งจะเป็นของ เจฟฟ์ เบซอส และ มาร์ก เบซอส ผู้เป็นน้องชายของเขา
สำหรับที่นั่งที่ 4 จะเป็นของ วอลลี ฟุง (Wally Funk) นักบินหญิงวัย 82 ปี ซึ่งเป็นผู้สมัครที่ดูมีความหวังสูงมากคนหนึ่ง ในโครงการฝึกอบรมมนุษย์อวกาศสตรี 13 คนของโครงการเมอร์คิวรี (Mercury) สมัยทศวรรษ 1960 ทว่าไม่มีโอกาสได้ขึ้นสู่อวกาศเลยเนื่องจากเพศภาวะของเธอ
แต่ไม่นานหลังจาก เบซอส ประกาศแผนการของเขา เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ก็กระโจนเข้ามาร่วมวงแข่งขัน ด้วยการประกาศว่ายานอวกาศของบริษัทเขาจะส่งมนุษย์ขึ้นไปเที่ยวแรกในวันที่ 11 กรกฎาคม หรือ 9 วันก่อนหน้ากำหนดการของเบซอส
แบรนสันจะเดินทางไปในทีมลูกเรือที่มีกันทั้งหมด 6 คน บนเครื่องบินอวกาศ วีเอสเอส ยูนิตี้ (VSS Unity spaceplane) ของ เวอร์จิน แกแลคติก ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 4 ของ วีเอสเอส ยูนิตี้ ซึ่งเป็นยานแบบ สเปซชิป ทู (SpaceShipTwo spacecraft) ที่ได้เหินขึ้นสู่อวกาศ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.virgingalactic.com/articles/virgin-galactic-completes-first-human-spaceflight-from-spaceport-america-new-mexico/) แต่เป็นครั้งแรกที่นำเอาลูกเรือไปด้วยแบบจัดเต็ม
“อวกาศ” ที่แตกต่างกัน
เที่ยวบินทั้งสองจะเป็นการเดินทางแค่ช่วงสั้นๆ และยึดโยงอยู่กับคำจำกัดความที่ไม่เหมือนกัน ในเรื่องที่ว่า “อวกาศ” เริ่มต้นตรงไหน
บลู ออริจิน ของ เบโซส เลือกที่จะใช้คำจำกัดความซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในทางระหว่างประเทศ นั่นคือ ที่เรียกกันว่า เส้นคาร์แมน (Kármán line) ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 100 กิโลเมตร (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fai.org/news/statement-about-karman-line) ทางโคจรสูงสุดของ นิว เชปเพิร์ด จะอยู่ในระดับผ่านเส้นนี้ไปพอดี
แต่สำหรับ เวอร์จิน แกแลคติก เลือกที่จะใช้คำจำกัดความของกองทัพอากาศสหรัฐฯซึ่งบอกว่า อวกาศอยู่ที่ความสูงราวๆ 80 กิโลเมตร (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nesdis.noaa.gov/content/where-space) เที่ยวบินสเปซชิปทู ของบริษัทนี้โดยทั่วไปแล้วขึ้นไปได้สูงสุด ในระดับความสูงราวๆ 90 กิโลเมตร
นิวเชปเพิร์ด ของ บลู ออริจิน
นิวเชปเพิร์ด ของ บลู ออริจิน เป็นจรวดประเภทอัตโนมัติเต็มที่ (ไม่มีการใช้นักบินเลย) ทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าแบบแทบจะในแนวดิ่งอย่างสมบูรณ์ จากฐานปล่อยซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ไกลโพ้นทางภาคตะวันตกของรัฐเทกซัส, สหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.blueorigin.com/news/ns-15-mission-to-conduct-astronaut-rehearsal)
ตัวให้พลังแก่ นิว เชปเพิร์ด คือ มอเตอร์จรวดใช้เชื้อเพลิงเหลวแบบ บีอี-3 (BE-3 liquid-fuelled rocket motor) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.blueorigin.com/engines/be-3) ซึ่งจะเผาไหม้เป็นเวลา 2 นาทีครึ่ง จวบจนกระทั่งส่งให้ยานอวกาศขึ้นไปถึงระดับความสูง 55 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 900 เมตรต่อวินาที และด้วยทางโคจรที่เกือบเป็นแนวดิ่งของมัน นี่คือระดับความสูงและสร้างแรงโมเมนตัมที่พียงพอแก่การส่งให้แคปซูลไต่สูงต่อไปจนถึงอวกาศแล้ว
ในทันทีที่มอเตอร์จรวดหยุดการเผาเชื้อเพลิง ส่วนที่เป็นจรวดส่ง (booster) ซึ่งห่อหุ้มมอเตอร์จรวดและเชื้อเพลิงอยู่ จะแยกตัวออกจากแคปซูลที่นั่งลูกเรือ และกลับลงไปสู่พื้นโลก
เที่ยวบินทั้งหมดจะเกินเวลานานเพียงแค่ 10 นาที โดยที่มนุษย์อวกาศจะผ่านประสบการณ์ภาวะไร้น้ำหนักเมื่อไปใกล้ๆ ความสูงสูงสุด ก่อนที่แคปซูลของพวกเขาจะหล่นกลับลงสู่ชั้นบรรยากาศ และเหินฟ้ากลับลงมาสู่พื้นโลก ทั้งนี้จะมีการใช้ร่มเพื่อช่วยลดความเร็วของแคปซูล
สเปซชิปทู ของเวอร์จิน แกแลคติก
เครื่องบินอวกาศ สเปซชิป ทู ของ เวอร์จิน แกแลคติก ไม่ได้ทะยานขึ้นฟ้าด้วยตัวมันเองโดยตรง แต่จะถูกเครื่องบินบรรทุกที่มีชื่อว่า “ไวต์ไนต์ทู” (WhiteKnightTwo) นำขึ้นไปจน กระทั่งถึงระดับความสูง 15 กิโลเมตร ณ จุดนี้ สเปซชิป ทู จะพาตัวเองให้ขึ้นไปสู่อวกาศ โดยเริ่มต้น ณ ระดับสูงกว่าชั้นบรรยากาศส่วนล่าง
สเปซชิป ทู จะแยกตัวออกจาก ไวต์ไนต์ ทู และเริ่มต้นจุดเครื่องยนต์มอเตอร์จรวดแบบลูกผสมของมัน ซึ่งจะเผาไหม้เป็นเวลา 1 นาที ทำให้เครื่องบินอวกาศมีแรงโมเมนตัมเพียงพอที่จะไต่ขึ้นไปสู่ระดับความสูงสูงสุดที่ 90 กิโลเมตร
ทำนองเดียวกับมื่ออยู่บนนิว เชปเพิร์ด ผู้โดยสารใน สเปซชิป ทู จะมีประสบการณ์อยู่ในภาวะไร้น้ำหนักหลายๆ นาที ก่อนที่จะหล่นลงกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
เนื่องจากสเปซชิป ทู มีอัตราความเร็วต่ำในตอนที่กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ มันจึงต้องทำ "การกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแบบขนนก” (feathered re-entry) โดยที่นักบินจะบังคับให้ปีกทั้งสองข้างตั้งขึ้น และใช้ปีกทั้งสองนี้เป็นตัวรักษาภาวะเสถียร ทำนองเดียวกับลูกขนไก่ในกีฬาแบดมินตัน ขณะที่มันตกลงมาจนอยู่ในระดับความสูง 15 กิโลเมตร
ถึงตรงนี้มันจะกลับกลายมาเป็นเครื่องบินอวกาศอีกครั้งหนึ่ง และเหินฟ้าร่อนลงจอดที่พื้นดินได้ด้วยการควบคุมของนักบิน ในสภาพพร้อมที่จะนำกลับมาใช้งานใหม่
จรวด VS เครื่องบินอวกาศ
กระบวนวิธีของบริษัททั้งสอง มีทั้งที่แตกต่างกันและที่คล้ายๆ กันหลายอย่างหลายประการ
ทั้งสองบริษัทต่างใช้เที่ยวบินที่กินเวลาสั้นๆ เปิดทางให้พวกเขาสามารถใช้ทางโคจรแบบไม่เข้าวงโคจร (suborbital) ได้ นี่หมายความว่าพวกเขาสามารถบรรลุถึงระดับความสูงที่ถูกต้องเพื่อไปต่อให้ถึงอวกาศ แต่จะไม่เข้าสู่วงโคจรรอบโลก กระบวนวิธีเช่นนี้ทำให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลงมากเมื่อเทียบกับเที่ยวบินที่มุ่งเข้าสู่วงโคจร
ทางโคจรแบบไม่เข้าสู่วงโคจร ยังทำให้การกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมีอัตราเร็วเชื่องช้าลงอย่างมากมาย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งโล่กั้นความร้อนที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกยานที่กลับคืนสู่โลกโดยออกจากวงโคจร นอกจากนั้นบริษัททั้งสองต่างตั้งจุดมุ่งหมายที่จะนำเอายานอวกาศของพวกเขาให้สามารถกลับมาใช้งานได้ใหม่ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากนี้แล้ว กระบวนวิธีของบริษัททั้งสองก็มีความแตกต่างกันมากทีเดียว
นิว เชปเพิร์ต ของ บลู ออริจิน โดยสาระสำคัญแล้ว คือ “จรวดใช้ตรวจสอบ” (sounding rocket) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nasa.gov/missions/research/f_sounding.html) ลูกหนึ่ง ทั้งนี้ จรวดเช่นว่านี้เป็นจรวดเพื่อการวิจัยลูกเล็กๆ ซึ่งถูกปล่อยขึ้นไปแบบไม่เข้าสู่วงโคจร เพื่อจะได้สามารถดำเนินการทดลองต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ในระหว่างทริปขึ้นสู่อวกาศช่วงสั้นๆ
นอกจากนั้น นิว เชปเพิร์ด ยังใช้มอเตอร์จรวดแบบเชื้อเพลิงเหลว ซึ่งถึงแม้จะมีความยากลำบากกว่าในการออกแบบ แต่โดยทั่วไปแล้วมีความปลอดภัยสูงกว่า เนื่องจากสามารถที่จะเบาเครื่องลงได้ในระหว่างการปฏิบัติการ (และกระทั่งปิดเครื่องเลยถ้าหากจำเป็น)
นิว เชปเพิร์ด ซึ่งออกบินทดสอบแบบไม่มีลูกเรือด้วยความสำเร็จมาแล้ว 15 เที่ยวบิน โดยภาพรวมแล้วคือยานอวกาศธรรมดาๆ ลำหนึ่ง จุดนี้น่าจะทำให้ในระยะยาวแล้วมันจะมีราคาถูกกว่าและมีความปลอดภัยสูงกว่า
ตรงกันข้าม สเปซชิป ทู ของ เวอร์จิน แกแลคติก มีความก้าวหน้ากว่ากันมาก มันเป็นยานที่ถูกปล่อยออกมากลางอากาศ และใช้เครื่องยนต์แบบจรวดขับดัน (rocket-powered) ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ได้มีการสำรวจค้นคว้ากันอย่างจริงจังอีกเลย หลังจากที่องค์การนาซา และโครงการ เอ็กซ์-15 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nasa.gov/specials/60th/x-15/) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ยุติลงในช่วงทศวรรษ 1960
การที่เที่ยวบินหนึ่งๆ ของ เวอร์จิน แกแลคติก จะประสบความสำเร็จได้นั้น สเปซชิป ทู ต้องถูกปล่อยออกมาอย่างถูกต้องกลางอากาศ ขณะตัวมันกำลังถูกบรรทุกโดยเครื่องบินบรรทุก จากนั้น สเปซชิป ทู จะต้องจุดระเบิดมอเตอร์เครื่องยนต์จรวดของมันขณะอยู่กลางอากาศ แล้วต้องหมุนปีกของมันให้เข้าที่เข้าทางสำหรับการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ต่อจากนั้นก็ต้องกางปีกออกมาให้ถูกต้องเหมาะสมอีกครั้งเพื่อที่จะได้เหินฟ้ากลับลงสู่บ้าน เหล่านี้เป็นกระบวนวิธีที่สลับซับซ้อนซึ่งจะต้องไม่มีการขัดข้องติดขัดเลยครั้งแล้วครั้งเล่า
เที่ยวบินเมื่อไม่นานมานี้เที่ยวหนึ่งของ สเปซชิป ทู ต้องยกเลิกไป เนื่องจากคอมพิวเตอร์เกิดทำงานผิดพลาด ภายหลังมอเตอร์จรวดของมันจุดระเบิดขึ้นแล้ว ในเที่ยวบินดังกล่าวมันสามารถร่อนลงจอดได้อย่างปลอดภัยทว่าไปไม่ถึงอวกาศ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ (https://www.virgingalactic.com/articles/virgin-galactic-update-on-test-flight-program/)
ย้อนไปเมื่อปี 2014 การที่ระบบกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศแบบขนนกของมันเกิดทำงานขึ้นมาเองในลักษณะเป็นอุบัติเหตุ ขณะที่มันกำลังไต่ขึ้นสู่อวกาศ คือสาเหตุที่ทำให้ ยานโมเดล สเปซชิป ทู ลำแรก ที่มีชื่อว่า วีเอสเอส เอนเทอร์ไพรซ์ (VSS Enterprise) ประสบความเสียหายหนัก และนักบินที่สองต้องเสียชีวิตไปอย่างน่าเศร้าใจ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.space.com/30073-virgin-galactic-spaceshiptwo-crash-pilot-error.html)
ความหลากหลายซับซ้อน VS ความเรียบง่าย
ขณะที่ราคาค่าที่นั่งในยานอวกาศของทั้ง 2 บริษัท น่าจะอยู่ในระดับแพงระยับ แต่เวลานี้มีเพียง เวอร์จิน แกแลคติก เท่านั้นซึ่งประกาศราคาอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว นั่นคือ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับที่นั่ง 1 ที่ในเที่ยวบิน สเปซชิป ทู โดยเป็นที่คาดหมายกันว่า นิว เชปเพิร์ด ของ บลู ออริจิน น่าจะกำหนดราคาออกมาอย่างใกล้เคียงกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.geekwire.com/2019/blue-origins-ceo-says-first-space-trips-new-shepard-will-cost-hundreds-thousands-dollars/)
การที่ระบบของ บลู ออริจิน มีความเรียบง่าย หมายความว่าบางทีบริษัทนี้อาจจะอยู่ในฐานะพรักพร้อมกว่ามากมายนักที่จะลดราคาลงมาเมื่อเวลาผ่านไป กระนั้นก็ตามที ความเรียบง่ายเช่นนี้ บางทีอาจจะกลายความหายนะของมันก็ได้เหมือนกัน โดยที่เวลาเดียวกันนั้น สเปซชิป ทู ซึ่งเป็นยานอวกาศที่สลับซ้บซ้อนกว่าและควบคุมโดยต้องใช้นักบินหลายๆ คน นี่อาจจะกลายเป็นจุดที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้มากมายยิ่งกว่า
คริส เจมส์ เป็นนักวิจัย ผู้ได้รับรางวัล ARC DECRA (ARC DECRA Fellow) ซึ่งประจำอยู่ที่ ศูนย์กลางไฮเปอร์โซนิกส์ (Centre for Hypersonics), วิทยาลัยวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมเหมืองแร่, มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น สามารถอ่านต้นฉบับดั้งเดิมได้ที่ https://theconversation.com/branson-vs-bezos-as-the-billionaires-get-ready-to-blast-into-space-whos-got-the-better-plan-163898