xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : “เจฟฟ์ เบซอส” ก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอ ‘แอมะซอน’ วันจันทร์นี้ ทิ้งทั้ง ‘มรดกก้อนโต-ปัญหามหึมา’ ไว้เบื้องหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจฟฟ์ เบซอส (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 6 มิ.ย. 2019)
เจฟฟ์ เบซอส อภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในโลก กำลังจะจุดระเบิดส่งตัวเองเข้าสู่ความสนใจที่จะเป็นอาชีพการงานอย่างต่อไปของเขา โดยทิ้งมรดกซึ่งดูคงทนหนักแน่นเอาไว้ให้เบื้องหลัง ภายหลังเปลี่ยนแปลงพลิกโฉม “แอมะซอน” จากการเป็นผู้ขายหนังสือออนไลน์ที่ไม่ค่อยมีสีสันเท่าใดนัก ให้กลายเป็นหนึ่งในบริษัททรงอำนาจที่สุดบนพื้นพิภพ

เบซอส ในวัย 57 ปี เตรียมตัวที่จะส่งมอบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ให้แก่ แอนดี แจสซี ในวันจันทร์ (5 ก.ค.) นี้ และผันตัวเองไปสู่บริษัทส่วนตัวของเขาที่ทำธุรกิจด้านการสำรวจอวกาศ ตลอดจนงานการกุศล และความอุตสาหะอย่างอื่นๆ อย่างไรก็ดี เขาจะยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ในแอมะซอน โดยนั่งเก้าอี้ประธานบริหาร (Executive Chairman) ของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและอี-คอมเมิร์ซแห่งนี้ ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 27 ปีก่อน

การเปลี่ยนผ่านเช่นนี้เกิดขึ้นมาภายหลังการเติบโตอย่างโดดเด่นเหนือใครๆ ของแอมะซอน ซึ่งเป็นที่สนใจจับตามากเป็นพิเศษในเรื่องของนวัตกรรม

แต่บริษัทแห่งนี้ก็ถูกมองว่าเป็นตัววายร้ายด้วยเช่นกัน จากวิธีประพฤติปฏิบัติทางธุรกิจที่บดขยี้พวกคู่แข่งขันอย่างโหดๆ ขณะที่วิธีดูแลจัดการกับลูกจ้างพนักงานซึ่งมีอยู่มากกว่า 1 ล้านคนก็ก่อให้เกิดความวิตกกังวล

“เบซอสเป็นผู้นำแบบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉม ... ในกิจการขายหนังสือ, ตลาดขายปลีก, คลาวด์คอมพิวติ้ง, และโฮมดีลิเวอรี” นี่เป็นการประเมินของ แดร์เรลล์ เวสต์ นักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์เพื่อนวัตกรรมเทคโนโลยี ของสถาบันบรูกกิ้ง หน่วยงานคลังสมองชื่อดัง

“เขาเป็นผู้บุกเบิกที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายในด้านต่างๆ ขึ้นมาจำนวนมากซึ่งผู้คนมักมองข้าม อย่างเช่น การไปจับจ่ายซื้อของในร้านค้าออนไลน์, การสั่งซื้ออะไรสักอย่างทางออนไลน์ และมันก็ถูกส่งมาที่บ้านคุณได้ในวันรุ่งขึ้น ภาคส่วนอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซโดยรวมแล้วเป็นหนี้ของบุคคลผู้นี้ในเรื่องนวัตกรรมด้านต่างๆ จำนวนมาก”

เมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณชน เบซอสมักเล่าย้อนทวนถึงวัยเวลาช่วงแรกๆ ของแอมะซอน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่โรงรถในบ้านของเขา ตอนที่เขาต้องบรรจุหีบห่อสินค้าตามออเดอร์ด้วยตัวเขาเอง จากนั้นก็ขับรถนำหีบห่อเหล่านั้นไปส่งไปรษณีย์

ทุกวันนี้ แอมะซอนมีมูลค่าตามราคาในตลาดหุ้นสูงกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทรายงานยอดรายรับประจำปี 2020 เอาไว้ที่ 386,000 ล้านดอลลาร์ จากการดำเนินงานทั้งในด้านอี-คอมเมิร์ซ, คลาวด์ คอมพิวติ้ง, ข้าวของสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ, ปัญญาประดิษฐ์, สื่อสตรีมมิ่ง, และอื่นๆ อีกมากมาย

“สัญชาตญาณ”

เบซอสนั้น “มีสัญชาตญาณสำหรับสิ่งที่ถูกต้อง” ในการค้นหาตลาดแห่งต่อไป รอเจอร์ เคย์ นักวิเคราะห์แห่ง เอนด์พอยต์ เทคโนโลยีส์ แอสโซซิเอตส์ พูดไว้เช่นนี้

เคย์บอกว่า เบซอสคล่องตัวและฉลาดมากในการเปลี่ยนจากแค่การขายหนังสือทางออนไลน์ ไปสู่การขายสินค้าอย่างอื่นๆ ไปสู่การเป็นตลาดออนไลน์ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคลาวด์สำหรับบริษัทแห่งนี้ ซึ่งได้กลายเป็น แอมะซอน เว็บ เซอร์วิสเซส ที่ทำกำไรอย่างสูงลิ่ว

แอมะซอนอยู่รอดทนทานกว่าพวกคู่แข่งของตน ด้วยการยินยอมละทิ้งผลกำไรที่สามารถทำได้ในช่วงปีแรกๆ “และนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปลงทุนต่อเพื่อเป็นการขยายกิจการ” เคย์ชี้

“ถ้าหากคุณมองดูเส้นทางเดินของบริษัทในตอนนี้ มันสมเหตุสมผลไปหมดเลย” เคย์กล่าวต่อ “คุณสามารถพูดได้ว่า เบซอสเป็นสถาปนิกนักวางแปลนธุรกิจที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในยุคของเขา”

ขณะที่ บ็อบ โอดอนเนลล์ แห่งเทคนาไลซิส รีเสิร์ช พูดถึงเบซอสว่า “ไม่ได้เป็นคนแรก หรือไม่ได้เป็นเพียงคนเดียว แต่เขาถือคอนเซ็ปต์ (เรื่องอี-คอนเมิร์ซ) เอาไว้อย่างมั่นคง และทำงานเพื่อทำให้มันสมบูรณ์แบบขึ้นมา”

แอมะซอนสามารถที่จะเอาชนะพวกคู่แข่งได้ เพราะเบซอส “ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่งครอบคลุมพวกเครือข่ายใหญ่โตกว้างขวางของ คลังสินค้า, รถบรรทุก, เครื่องบินบรรทุก, และโลจิสติกส์อื่นๆ สำหรับธุรกิจนี้ โอดอนเนลล์กล่าว

“บริษัทอื่นๆ จำนวนมากเลยไม่ต้องการที่จะใช้เงินไปในเรื่องงานเบื้องหลังฉากที่ยุ่งยากวุ่นวายพวกนี้”

การก้าวผงาดขึ้นมาอย่างน่าตื่นตะลึงของแอมะซอน ได้ทำให้เบซอสกลายเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ แม้กระทั่งหลังจากทำข้อตกลงหย่าร้างซึ่งมีการแบ่งทรัพย์สมบัติส่วนหนึ่งให้แก่ แมคเคนซี สกอตต์ อดีตภรรยาของเขาแล้ว

เบซอสจะก้าวออกจากงานบริหารแอมะซอนชนิดวันต่อวัน เพื่อใช้เวลามากขึ้นให้แก่โปรเจกต์ต่างๆ รวมทั้ง บลู ออริจิน บริษัทกิจการอวกาศของเขา ซึ่งมีกำหนดจะนำตัวเขาขึ้นสู่อวกาศในช่วงต่อไปของเดือนนี้

เขายังเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ชื่อดังและทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ อย่าง วอชิงตันโพสต์ รวมทั้งได้อุทิศทั้งเวลาและเงินทองให้แก่ความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่เวลาเดียวกันนั้นก็กำลังเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหลังจากมีรายงานข่าวออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในบางปีที่ผ่านมาเขาอ้างเหตุขอลดหย่อนต่างๆ จนกระทั่งไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เลย

แอมะซอนจะไปทางไหนหลังจากนี้ ?

การจากไปของเขา ได้ทิ้งคำถามสำคัญๆ เกี่ยวกับอนาคตต่อไปของแอมะซอนเอาไว้ด้วย ในเมื่อบริษัทกำลังเผชิญกับการถูกตรวจสอบสอดส่องในเรื่องการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายหลายๆ ด้าน นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพวกนักเคลื่อนไหว

พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเรื่องออกกฎหมายที่จะทำให้สามารถตัดแบ่งแอมะซอนออกไปเป็นหลายๆ บริษัท ท่ามกลางความวิตกกังวลที่ว่ากิจการบิ๊กเทคไม่กี่แห่งของอเมริกากำลังมีอำนาจอิทธิพลผูกขาดครอบงำมากเกินไปแล้ว จนสร้างความเสียหายให้แก่การแข่งขันในวิถีทางซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด

แอมะซอนอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากระหว่างเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 จากการมีกิจการด้านบริการส่งสินค้าและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และได้เพิ่มกำลังแรงงานในสหรัฐฯ ของตนจนมีจำนวนกว่า 800,000 คน

ขณะที่บริษัทคุยอวดว่าลูกจ้างพนักงานเหล่านี้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำในระดับชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ซึ่งถือว่างดงามมาก แล้วยังบวกด้วยผลประโยชน์อื่นๆ แต่พวกที่วิพากษ์วิจารณ์แอมะซอนบอกว่า บริษัทมุ่งโฟกัสที่เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไม่หยุดไม่หย่อน และการตรวจตราการปฏิบัติงานของคนงานก็ทำกับลูกจ้างพนักงานเสมือนเป็นเพียงแค่เครื่องจักร

เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพแรงงาน “ทีมสเตอร์ส” ได้เปิดฉากการรณรงค์เพื่อดึงลูกจ้างพนักงานแอมะซอนให้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพ จะได้เพิ่มพลังในการต่อรองกับนายจ้าง โดยระบุว่า คนงานของแอมะซอน “ต้องเผชิญกับการถูกทำให้ไม่เป็นมนุษย์, งานที่ไม่ปลอดภัยและได้ค่าจ้างต่ำ, โดยที่มีอัตราการออกจากงานสูงมาก และไม่มีสิทธิเสียงในการทำงานกันเลย”

ก่อนหน้านี้ในปีนี้ เบซอสดูเหมือนจะตอบสนองความวิตกกังวลเรื่องคนงานเช่นนี้ เมื่อเขาเรียกร้องให้มี “วิสัยทัศน์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม” สำหรับลูกจ้างพนักงานทั้งหลาย ภายหลังมีความพยายามในการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในกิจการของแอมะซอนที่รัฐแอละแบมา และเกิดการสู้รบปรบมือกันอย่างชนิดทำให้เสียหายกันทุกฝ่าย ทว่าในที่สุดแล้วแอมะซอนเป็นฝ่ายชนะ เมื่อลูกจ้างพนักงานส่วนใหญ่ลงมติไม่เอาสหภาพ

ในสารฉบับสุดท้ายที่ยังอยู่ในตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เบซอสประกาศวางเป้าหมายใหม่ที่จะทำให้บริษัทกลายเป็น “นายจ้างที่ดีที่สุดบนพื้นพิภพ และเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการทำงานบนพื้นพิภพ”

อย่างไรก็ตาม แอมะซอนน่าที่จะเผชิญอุปสรรคใหญ่ๆ รออยู่ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทยากลำบากที่จะรักษาเส้นทางโคจรของตนเอาไว้ได้

“ผลสะท้อนถอยหลังต่อภาคส่วนอุตสาหกรรมนี้ บางทีอาจจะอยู่ในรูปของการที่ทำให้รัฐบาลเข้ากำกับตรวจสอบเหล่าบริษัทเทคโนโลยีอย่างเข้มงวดกวดขันขึ้นมาก” เวสต์มอง

เช่นเดียวกับเคย์ที่กล่าวว่า แอมะซอนอาจจะกลายเป็น “เหยื่อรายหนึ่งจากความสำเร็จของตนเอง” และถูกบังคับให้ต้องแยกกิจการออกไปเป็น 2-3 บริษัท

กระนั้น เขายังคงมองว่า “กิจการที่ถูกแยกออกมาเหล่านี้ แต่ละแห่งจะเติบโตประสบความสำเร็จในตลาดของตัวเอง ผมสามารถจินตนาการได้อย่างสบายๆ เลยว่า ยอดรวมของส่วนต่างๆ ที่ถูกแยกออกไปเหล่านี้จะใหญ่โตยิ่งกว่าส่วนทั้งหมดในปัจจุบันด้วยซ้ำ ดังนั้น มันไม่น่าที่จะสร้างความเสียหายอะไรให้แก่พวกผู้ถือหุ้นหรอก”

(เก็บความจากเรื่อง Bezos leaves enduring legacy as he steps away as Amazon CEO ของสำนักข่าวเอเอฟพี และเพิ่มเติมด้วยข้อมูลจากเว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น