ผลวิจัยในอังกฤษ ชี้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 อาจเริ่มแพร่ระบาดในจีนตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ปี 2019 หรือประมาณ 2 เดือน ก่อนที่จะพบผู้ป่วยยืนยันรายแรกในเมืองอู่ฮั่น
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคนท์ ซึ่งทำการศึกษาด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์เชิงอนุรักษ์ (conservation science) ประเมินว่า เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 น่าจะเริ่มอุบัติขึ้นในจีนระหว่างต้นเดือน ต.ค. จนถึงกลางเดือน พ.ย. ปี 2019 ตามรายงานซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร PLOS Pathogens
ผลการศึกษาชิ้นนี้ยังระบุเจาะจงลงไปอีกว่า วันเริ่มต้นการระบาดที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ 17 พ.ย. ปี 2019 และเมื่อถึงเดือน ม.ค. ปี 2020 คาดว่าเชื้ออาจจะแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนประกาศพบผู้ติดเชื้อยืนยันรายแรกในเดือน ธ.ค. ปี 2019 โดยพบว่ามีความเชื่อมโยงกับตลาดค้าอาหารทะเล “หัวหนาน” ในเมืองอู่ฮั่น
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยรายแรกๆ บางคนที่เมื่อสืบประวัติแล้วไม่พบว่าเคยเดินทางไป หรือสัมผัสเกี่ยวข้องกับผู้ที่เคยไปตลาดหัวหนาน ซึ่งหมายความว่าเชื้อ SARS-Cov-2 อาจจะมีการระบาดในสถานที่อื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว
ผลการศึกษาร่วมระหว่างรัฐบาลจีนและองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ยอมรับว่า อาจจะมีการติดเชื้อในคน “แบบประปราย” ตั้งแต่ก่อนพบการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น
เจสส์ บลูม จากศูนย์วิจัยมะเร็ง เฟร็ด ฮัตชินสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center) ในนครซีแอตเติล ระบุในผลการศึกษาที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ว่า เขาได้ไปสืบค้นฐานข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัสที่พบในผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกๆ ในจีน และพบว่า ตัวอย่างจากตลาดหัวหนานที่นำมาตรวจนั้น “ไม่ใช่ตัวแทน” ของเชื้อ SARS-Cov-2 ทั้งหมด แต่เป็นเพียง 1 ชนิดย่อยของลำดับพันธุกรรมของไวรัสตัวต้นแบบ (progenitor sequence) ที่แพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของจีนก่อนหน้านั้น
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. National Institutes of Health) ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาถูกส่งมายังฐานข้อมูล Sequence Read Archive (SRA) ในเดือน มี.ค. ปี 2020 ก่อนจะถูกลบทิ้งตามคำขอของคณะผู้สืบสวนจีน ซึ่งระบุว่าจะมีการอัปเดตและส่งมาใหม่
นักวิจารณ์บางคนชี้ว่า การลบข้อมูลดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ว่าจีนพยายามปกปิดต้นตอของโควิด-19
ผลการศึกษาอีกชิ้นโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อวานนี้ (25) พบว่า เชื้อ SARS-Cov-2 สามารถจับกับตัวรับในมนุษย์ (human receptors) ได้ดีกว่าในสปีชีส์อื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าไวรัสมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายของมนุษย์ตั้งแต่ที่มันเริ่มระบาด
งานวิจัยชิ้นนี้ระบุด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมี “สัตว์ตัวกลาง” เป็นพาหะนำเชื้อมาสู่คน แต่ข้อสันนิษฐานที่ว่าไวรัสหลุดออกมาจากห้องแล็บก็ยังไม่สามารถตัดทิ้งไปได้
โดมินิก ดไวเออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลเวสต์มีดในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้ตรวจสอบของ WHO ที่เดินทางไปเมืองอู่ฮั่นในปีนี้ ย้ำว่า “ถึงแม้ไวรัสรุ่นแรกๆ จะสามารถจับกับตัวรับในคนได้ดีเป็นพิเศษ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ ข้อสรุปแบบนั้นยังเป็นเพียงแค่การสันนิษฐาน”
ที่มา : รอยเตอร์