เดนมาร์กเมื่อวันพุธ (14 เม.ย.) กลายเป็นชาติแรกของโลกที่หยุดใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าโดยสิ้นเชิง จากความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่มันจะเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบน้อยมากแต่มีความรุนแรง
การตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้โครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเดนมาร์ก แล้วเสร็จล่าช้ากว่าเดิม จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 25 กรกฎาคม เป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคม จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาใหม่อยู่บนสมมุติฐานที่ว่าพวกเขาจะเริ่มดำเนินการใช้วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้ทันที แต่ในข้อเท็จจริงคือวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็มีปัญหาเลื่อนจ่ายในยุโรป จากความกังวลเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันแบบเดียวกับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่เดนมาร์กนำมาเป็นข้ออ้างในการหยุดใช้
โซเรน โบรสตรอม ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพของเดนมาร์ก แถลงว่า “ผลการสืบสวนลิ่มเลือดที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แสดงให้เห็นถึงผลข้างเคียงรุนแรงอย่างแท้จริง เฉพาะฉะนั้นเราจึงเลือกเดินหน้าโครงการวัคซีนต่อไปโดยไม่ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”
แอสตร้าเซนเนก้าระบุว่าเคารพการตัดสินใจของเดนมาร์ก และจะยังคงมอบข้อมูลแก่เดนมาร์กเพิ่มเติมสำหรับการตัดสินใจต่างๆ นานาในอนาคต “การใช้และแจกจ่ายวัคซีนในโครงการฉีดวัคซีน เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศจะเป็นผู้ตัดสินใจ บนพื้นฐานของเงื่อนไขต่างๆ นานาของแต่ละท้องถิ่น” บริษัทสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนระบุ
องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบความเป็นไปได้ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ากับภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (cerebral sinus vein thrombosis - CSVT)
หน่วยงานแห่งนี้บอกว่า ความเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19 นั้นมีมากกว่าหลายเท่า หากเทียบกับความเสี่ยงเสียชีวิตจากผลข้างเคียงของวัคซีนที่เกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม พวกเขายกให้แต่ละประเทศประเมินความเสี่ยงของตนเอง บนพื้นฐานของสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่
หลายประเทศในยุโรปและที่อื่นกลับมาใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่างกับบางกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่กับบุคคลที่มีอายุเกิน 50 ปี และ 60 ปีขึ้นไป
โบรสตรอม กล่าวในผลการศึกษาร่วมบนพื้นฐานข้อมูลสาธารณสุขเดนมาร์กและนอร์เวย์ ประมาณการว่าผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 ใน 40,000 คน มีโอกาสประสบกับผลข้างเคียงรุนแรงลักษณะดังกล่าว แต่ไม่มีฟันธงในความสัมพันธ์กับเพศและอายุ
เขาบอกว่าเดนมาร์กผ่านพ้นขั้นตอนการฉีดวัคซีนแก่ประชากรวัยชราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่คนสูงวัยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดสำหรับการติดเชื้อแบบมีอาการรุนแรง ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของการฉีดวัคซีนลำดับต่อไปจะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า
“เราต้องชั่งน้ำหนักด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ตอนนี้เรารู้ถึงความเสี่ยงผลข้างเคียงอันตรายร้ายแรงจากวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า แม้ความเสี่ยงจะเล็กน้อยมากก็ตาม” เขากล่าว “ดังนั้น การตัดสินใจของเดนมาร์กจึงควรถูกมองในฐานะบริบทของเดนมาร์กล้วนๆ และผมเข้าใจเป็นอย่างดีว่าทำไมประเทศอื่นๆ ถึงจะใช้มัน” โบรสตรอมระบุ
เดนมาร์ก เป็นประเทศแรกที่เบื้องต้นระงับใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมดในเดือนมีนาคม จากความกังวลด้านความปลอดภัย ภายหลังมีรายงานพบกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่รับวัคซีนหลายราย ต่อจากนั้นมีอีกมากกว่า 12 ชาติประกาศระงับการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และเกือบทั้งหมด ยกเว้นไม่กี่ประเทศกลับมาฉีดวัคซีนนี้อีกหลังจาก EMA ย้ำถึงประโยชน์จากวัคซีนนี้ซึ่งเชื่อว่า “ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”
เกือบ 1 ล้านคนของชาติที่มีประชากร 5.8 ล้านคนแห่งนี้ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว ในนั้น 77% เป็นวัคซีนของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค 7.8% เป็นวัคซีนของโมเดอร์นา และเป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 15.3%
อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กอยู่ในขั้นตอนผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน อยู่ที่ราวๆ 500-600 คน จากระดับสูงสุดหลายพันคนในเดือนธันวาคม
(ที่มา : รอยเตอร์)