xs
xsm
sm
md
lg

จีนกำลังพิจารณาให้ฉีดวัคซีน 2 โดสโดยใช้วัคซีนต่างชนิดกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกา ฝู ผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคของจีน พูดในการประชุมวัคซีนและสาธารณสุขแห่งาติ ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันเสาร์ (10 เม.ย.)
จีนกำลังพิจารณาที่จะนำเอาวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายๆ ชนิดมาใช้ผสมผสานกัน เพื่อปรับปรุงยกระดับประสิทธิผลที่ค่อนข้างต่ำของตัวเลือกซึ่งตนเองมีอยู่ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับท็อปของประเทศระบุ

เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหลายต้อง “พิจารณาหนทางต่างๆ ที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องอัตราประสิทธิผลของพวกวัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งยังอยู่ในระดับไม่สูง” เดอะ เพเพอร์ (The Paper) สื่อของจีนรายงานโดยอ้างคำพูดของ เกา ฝู ผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคของจีน

การแสดงความเห็นของเขาครั้งนี้ ถือเป็นคราวแรกที่ผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปของจีนออกมาพูดแย้มๆ ถึงประสิทธิผลที่ค่อนข้างต่ำของวัคซีนซึ่งผลิตขึ้นมาได้ในประเทศจีนเอง

จีนนั้นได้ฉีดวัคซีนภายในประเทศไปแล้วราว 161 ล้านโดสตั้งแต่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนเมื่อปีที่แล้ว โดยที่วัคซีนเกือบทั้งหมดเป็นแบบที่ต้องฉีดกัน 2 โดส ทั้งนี้ปักกิ่งตั้งจุดมุ่งหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ 40% ของประชากรจำนวน 1,400 ล้านคนของตนภายในเดือนมิถุนายนนี้

อย่างไรก็ดี ผู้คนจำนวนมากไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะไปลงนามเพื่อขอรับการฉีดวัคซีน เนื่องจากการดำเนินชีวิตในจีนเวลานี้กลับเข้าสู่ปกติแล้วเป็นส่วนใหญ่ และการแพร่ระบาดภายในประเทศก็ถูกควบคุมเอาไว้ได้

ก่อนหน้านี้ เกาเน้นย้ำว่าหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการฉีดวัคซีน และได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อภาครัฐเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จีนมีจุดมุ่งหมายที่จะฉีดวัคซีนประชากรของตนให้ได้ 70-80% ในช่วงระหว่างปีนี้จนถึงกลางปีหน้า

ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนเมื่อวันเสาร์ (10 เม.ย.) เกาได้เสนอเพิ่มทางเลือกอีกอย่างหนึ่งสำหรับการเอาชนะปัญหาประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งได้แก่การสลับไปฉีดโดสที่สองด้วยวัคซีนซึ่งใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างออกไป

อันที่จริงแล้ว ทางเลือกนี้เป็นสิ่งที่พวกผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขนอกประเทศจีนกำลังศึกษากันอยู่เช่นกัน

เกาบอกด้วยว่า การใช้ขั้นตอนที่จะสามารถก่อให้เกิดผลสูงสุดจากกระบวนการฉีดวัคซีน เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงจำนวนของโดสที่ฉีด และระยะเวลาระหว่างโดส น่าจะเป็นหนทางที่อาจจะสามารถแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องประสิทธิผลได้

เขาบอกอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายไม่ควรเพิกเฉยละเลยวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เพียงเพราะว่ามีวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่หลายตัวแล้วในจีน และรบเร้าให้พยายามพัฒนากันต่อไปอีก เดอะ เพเพอร์ รายงาน

ปัจจุบัน วัคซีนของจีนที่ได้รับอนุญาตแบบฉุกเฉินให้นำออกสู่ตลาดได้ ยังไม่มีตัวไหนเลยเป็นวัคซีน mRNA ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศซึ่งใช้เทคโนโลยีนี้ก็มี เช่น วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และวัคซีนของโมเดอร์นา

จีนมีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฉุกเฉินแล้วรวม 4 ตัว ซึ่งอัตราประสิทธิผลที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่กัน ยังคงอยู่ในระดับตามหลังห่างไกลพวกวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ซึ่งอยู่อัตราสูงลิ่ว 95% และ 94% ตามลำดับ

วัคซีน ซิโนแวค ของจีน ก่อนหน้านี้แถลงว่า ผลการทดลองในบราซิลแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิผลราว 50% ในการป้องกันการติดเชื้อ และมีประสิทธิผล 80% ในการป้องกันไม่ให้เกิดล้มป่วยถึงขั้นต้องมีการแทรกแซงทางการแพทย์ ขณะที่การศึกษาแยกต่างหากออกไปในตุรกีระบุว่ามีประสิทธิผล 83.5%

สำหรับวัคซีน 2 ตัวของซิโนฟาร์ม มีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 79.34% และ 72.51% ตามลำดับ โดยอิงอยู่กับผลการทดลองชั่วคราว ทว่ายังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลประสิทธิผลแบบเป็นรายละเอียดออกมา

แต่ทั้ง ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ต่างได้นำเสนอข้อมูลซึ่งบ่งบอกว่ามีประสิทธิผลอยู่ในระดับที่กำหนดเอาไว้โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คณะทำงานชุดหนึ่งของ WHO แถลงเมื่อเดือนมีนาคม

ส่วนประสิทธิผลโดยรวมของวัคซีน คานซิโน อยู่ที่ 65.28% ภายหลังฉีดแล้ว 28 วัน

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

ศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งของจีน เมื่อวันศุกร์ (9 เม.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น