โควิด-19 คร่าชีวิตผู้ชายคนสุดท้ายของชนเผ่าจูมา (Juma) ในป่าแอมะซอน นับเป็นจุดสิ้นสุดอันน่าเศร้าของประเพณีและพิธีกรรมเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองหายาก ซึ่งตอนนี้เหลือสมาชิกที่เป็นผู้หญิงเพียง 3 คน และก็ได้แต่งงานกับชายเผ่าอื่นไปแล้ว
อารูกา จูมา (Aruká Juma) เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 ก.พ. จากภาวะโรคแทรกซ้อนหลังป่วยเป็นโควิด-19 และถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในเมือง Pôrto Velho รัฐรอนโดเนีย ทางตะวันตกของบราซิล
วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความอยู่รอดของชนพื้นเมืองในป่าแอมะซอน โดยเชื่อกันว่าไวรัสน่าจะแพร่กระจายมาจากบุคคลภายนอกซึ่งเข้าป่าไปทำกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น ทำเหมือง และตัดไม้
คุณปู่จูมาซึ่งอายุประมาณ 86-90 ปี มีบุตรสาว 3 คน ทั้งหมดล้วนแต่งงานกับชายต่างเผ่า และไม่สามารถที่จะสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ที่จะถูกส่งผ่านจากพ่อสู่ลูกเท่านั้น
ชนเผ่าจูมาเคยมีประชากรมากถึง 15,000 คนในช่วงศตวรรษที่ 18 ก่อนที่คนเผ่านี้จะค่อยๆ สูญหายไปจากโรคระบาดและการสังหารหมู่
ในปี 1934 ชนเผ่าจูมาเหลือสมาชิกอยู่เพียงราวๆ 100 คน และอีก 30 ปีต่อมาก็มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นอีกครั้ง จนทำให้เหลือคนในเผ่าเพียง 6 คน หนึ่งในนั้นคือคุณปู่จูมา
หลังจากที่พี่เขยเสียชีวิตลงในปี 1999 คุณปู่จูมาจึงกลายเป็นผู้ชายคนเดียวของเผ่าที่ยังคงมีชีวิตอยู่
สำนักงานอัยการแห่งรัฐรอนโดเนียได้แถลงไว้อาลัยการจากไปของชายเผ่าจูมาคนสุดท้าย โดยระบุว่า “ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 ชนเผ่าจูมาเกือบจะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์จากการถูกสังหารหมู่โดยคนภายนอกที่เข้าไปกรีดยาง, ตัดไม้ และหาปลาในเขตแดนของพวกเขา ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอัสซัวในคานูตามา... อารูกา เป็นผู้ชายคนสุดท้ายของเผ่าที่มีชีวิตรอด เขามีบุตรสาว 3 คน ซึ่งถือเป็นผู้หญิงกลุ่มสุดท้ายของเผ่าจูมา ได้แก่ มันเด จูมา, ไมตา จูมา และ โบเรฮา จูมา”
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชนพื้นเมืองระบุว่า การที่ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู แห่งบราซิล ปฏิเสธความร้ายแรงของโควิด-19 และขาดแนวทางการควบคุมโรคระบาดที่ได้ผล บวกกับความท้าทายในด้านภูมิศาสตร์ ทำให้ความอยู่รอดของชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
(ที่มา : Independent)