ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากกว่า 2.5 ล้านคนแล้ว นับตั้งแต่โรคระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 จากการนับของสำนักข่าวเอเอฟพี บนพื้นฐานของข้อมูลอย่างเป็นทางการจนถึงเวลา 17.30 จีเอ็มที วันพฤหัสบดี (ตรงกับเมืองไทย 00.30 น.วันศุกร์) อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าอัตราการตายเริ่มชะลอตัวลงมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม
เอเอฟพีระบุว่า รวมแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ที่ 112,618,488 คน เสียชีวิต 2,500,172 ราย
ยุโรปเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด พบผู้เสียชีวิตแล้ว 842,894 ราย รองลงมาคือ ละตินอเมริกาและแคริบเบียน ยอดเสียชีวิต 667,972 คน ตามด้วยสหรัฐฯ กับแคนาดา ยอดเสียชีวิต 528,039 คน
อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เกิดขึ้นแค่เพียงใน 5 ประเทศ ประกอบด้วยสหรัฐฯ 506,232 ราย บราซิล 249,957 ราย เม็กซิโก 182,815 ราย อินเดีย 156,705 ราย และสหราชอาณาจักร 122,070 ราย
โลกมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ผ่านหลัก 1 ล้านคนเมื่อวันที่ 28 กันยายน ไม่ถึง 9 เดือนหลังมีรายงานการเสียชีวิตรายแรกในจีนในเดือนมกราคม 2020 และจากนั้นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน คร่าชีวิตผู้คนแตะระดับ 2 ล้านคน เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อัตราการตายชะลอตัวลงในช่วงปลายเดือนมกราคม โดยสัปดาห์ที่แล้วพบผู้เสียชีวิต 66,800 คน หรือเฉลี่ย 9,500 คนต่อวัน ลดลงอย่างมากจากสัปดาห์ที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ระหว่างวันที่ 20 มกราคม ถึง 26 มกราคม โดยในรอบสัปดาห์นั้นพบผู้เสียชีวิตถึง 101,400 ราย หรือเฉลี่ย 14,500 คนต่อวัน
ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันในปัจจุบันชะลอตัวลงสู่ระดับเดียวกับที่เคยพบเห็นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีก่อน
ในบรรดาผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 3 เกิดขึ้นในประเทศและดินแดนต่างๆ 52 แห่งของยุโรป ทว่าตัวเลขดังกล่าวลดลงถึง 14% หากเทียบกับหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เหลือราวๆ 3,400 รายต่อวัน
ส่วนทวีปอื่นๆ ก็พบเห็นอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงเช่นกัน โดยสหรัฐฯ และแคนาดา มีผู้เสียชีวิตลดลง 23% เหลือ 2,150 คนต่อวัน ลดลงเร็วกว่ายุโรปและแอฟริกา โดยแอฟริกาลดลง 13% เหลือ 378% ต่อวัน
อัตราการเสียชีวิตรายสัปดาห์ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลง 7% เหลือ 2,720 รายต่อวัน
ทั้งนี้ หากคิดตามสัดส่วนประชากร เบลเยียมเป็นชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิต 1,900 รายต่อประชากร 1 ล้านคน รองลงมาคือ สาธารณรัฐเช็ก 1,850 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ตามด้วยสโลวาเกีย (1,830) สหราชอาณาจักร (1,790) และอิตาลี (1,600)