xs
xsm
sm
md
lg

ผวา! สหรัฐฯ สั่งตรวจสอบ-ญี่ปุ่นระงับใช้โบอิ้ง 777 หลังเครื่องยนต์ลุกไหม้กลางอากาศหลุดเป็นชิ้นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบสหรัฐฯ แถลงตรวจสอบพิเศษฝูงบินโบอิ้ง 777 ที่ใช้เครื่องบยนต์รุ่นเดียวกับที่เกิดลุกไหม้และหลุดเป็นชิ้นๆ เศษซากกระจัดกระจายทั่วเมืองเดนเวอร์ เมื่อวันเสาร์ (20 ก.พ.) ในขณะที่ญี่ปุ่นงัดมาตรการที่เข้มข้นกว่า สั่งระงับใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวระหว่างพิจารณาทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ความเคลื่อนไหวของคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบในเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยนต์ แพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ PW4000 มีขึ้นหลังจากเครื่องบินโบอิ้ง 777 ลำหนึ่งของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ลงจากอย่างปลอดภัยที่ท่าอากาศยานเดนเวอร์ เมื่อวันเสาร์ (20 ก.พ.) หลังเครื่องยนต์ฝั่งขวาขัดข้อง ไฟลุกไหม้

สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ระบุในวันอาทิตย์ (21 ก.พ.) ว่าพวกเขาสมัครใจถอดเครื่องบินรุ่นดังกล่าวซึ่งมีประจำการพร้อมใช้งานทั้งหมด 24 ลำ จากตารางการบินเป็นการชั่วคราว

คลิปวิดีโอถ่ายจากภายในเครื่องบินลำนี้ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารจำนวน 231 คน และลูกเรืออีก 10 คน แสดงให้เห็นเครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ปีกข้างขวาของเครื่องโบอิ้ง 777-200 ลำนี้ได้เกิดไฟลุกไหม้และมีอาการโคลงเคลง ตัวฝาครอบเครื่องยนต์ได้หลุดหายไปหมด ขณะเครื่องบินกำลังบินอยู่เหนือภูมิประเทศรกร้างไม่มีต้นไม้หรือพืชพรรณ


ภาพถ่ายที่โพสต์โดยตำรวจในบรูมฟิลด์ รัฐโคโลราโด พบเห็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากของเครื่องบิน ตกลงกระจัดกระจายรอบๆ ชุมชนของพวกเขา รวมทั้งชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นเศษโลหะทรงกลมขนาดยักษ์ที่ตกลงมานอกบ้านหลังหนึ่ง ขณะที่ชิ้นส่วนอื่นๆ กระจัดกระจายอยู่บริเวณทุ่งหญ้า

กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นออกคำสั่งให้สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส โค ลิมิเต็ด (JAL) และเอเอ็นเอ โฮลดิ้ง ระงับใช้ฝูงบินโบอิ้ง 777 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ PW4000 ขณะที่พวกเขากำลังพิจารณาว่าจะใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งนี้ เอเอ็นเอมีเครื่องบินรุ่นนี้ 19 ลำ ส่วนเจแอลเอมี 13 ลำ

ทางกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นระบุเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2020 ว่า เที่ยวบินเจแปน แอร์ไลน์ส ลำหนึ่งจากท่าอากาศยานนาฮะ มุ่งหน้าสู่สนามบินนานาชาติโตเกียว ต้องกลับสูท่าอากาศยานต้นทางสืบเนื่องจากปัญหาขัดข้องในเครื่องยนต์ด้านซ้าย ขณะที่อยู่ห่างจากสนามบินนาฮะะ ไปทางเหนือราวๆ 100 กิโลเมตร

เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับเครื่องบินอายุ 25 ปีของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ที่ประสบปัญหาเครื่องยนต์ไฟลุกไหม้เมื่อวันเสาร์ (20 ก.พ.)


จากข้อมูลของสำนักงานบริหารการบินพลเรือนแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ระบุว่า ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส เป็นสายการบินเดียวของสหรัฐฯ ที่ใช้เครื่องบินรุ่นนี้ ส่วนสายการบินอื่นๆ ที่เครื่องบินรุ่นดังกล่าว ส่วนใหญ่อยู่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

“เราทำการทบทวนทุกข้อมูลความปลอดภัยที่หาได้ ตามหลังเหตุการณ์เมื่อวานนี้” FAA ระบุในถ้อยแถลง “บนพื้นฐานของข้อมูลเบื้องต้น เราสรุปว่าควรยกระดับตรวจสอบใบพัดของเครื่องยนต์รุ่นนี้ซึ่งพิเศษว่าใคร ใช้เฉพาะกับเครื่องบินโบอิ้ง 777 เท่านั้น”

แพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ ซึ่งมี เรย์เธียน เทคโนโลยีส์ คอร์ป เป็นเจ้าของ ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็น ส่วน โบอิ้ง บอกว่าคณะที่ปรึกษาด้านเทคนิคของพวกเขาจะให้ควมร่วมมือและสนับสนุนการสืบสวนของสำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติ (NTSB)

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น