ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงสั่นสะเทือนจังหวังสุลาเวสีตะวันตกของอินโดนีเซีย เมื่อวันศุกร์ (15 ม.ค.) เพิ่มเป็นอย่างน้อย 56 ศพ จากการเปิดเผยของสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติในวันอาทิตย์ (17 ม.ค.) ตัวเลขอันน่าสลดในภัยพิบัติทางธรรมชาติหนล่าสุดที่ประเทศแห่งนี้ต้องเผชิญ
นอกจากผูู้เสียชีวิตข้างต้น สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซียระบุด้วยว่า ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 820 คน และอีกราว 15,000 คนต้องหลบหนีออกจากที่พักอาศัย หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 6.2 โดยบางคนอพยพไปอยู่ตามแถบภูเขา ขณะที่บางส่วนเลือกไปพักพิงตามศูนย์อพยพต่างๆ ทว่าชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากเนื่องจากมีผู้พักอาศัยจำนวนมากและศูนย์อพยพค่อนข้างคับแคบ
ทวิโดริตา การนาวาตี จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยา, ภูมิอากาศวิทยาและธรณีวิทยาแห่งอินโดนีเซีย (BMKG) ระบุว่า หากเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งในภูมิภาคแถบนี้ มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจโหมกระพือสึนามิซัดถล่มชายฝั่ง
อินโดนีเซียต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหวและภูเขาไฟบ่อยครั้ง เนื่องจากตั้งยู่บนวงแหวนไฟแปซิฟิก บริเวณที่ขอบของแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ชนกัน
เมื่อปี 2018 เกิดแผ่นดินไหว 7.5 ตามด้วยสึนามิ ซัดถล่มเมืองปาลูบนเกาะสุลาเวสี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 4,300 คน
โศกนาฏกรรมเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 แผ่นดินไหวระดับ 9.1 สั่นสะเทือนนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา โหมกระพือสึนามิขนาดยักษ์ซัดถล่มทั่วภูมิภาค คร่าชีวิตผู้คน 220,000 ราย ในนั้น 170,000 ราย เสียชีวิตในอินโดนีเซีย
แค่เวลาราวๆ 2 สัปดาห์หลังเข้าสู่ปี 2021 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลกแห่งนี้ ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายต่อหลายเหตุการณ์
อุทกภัยในจังหวัดสุลาเวสีเหนือ และจังหวัดกาลิมันตัน ได้คร่าชีวิตผู้คนในแต่ละจังหวัดอย่างน้อย 5 รายเมื่อช่วงต้นเดือน ตามด้วยแผ่นดินไหวในจังหวัดชวาตะวันตก มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 28 คน
ในวันที่ 9 มกราคม เครื่องบินโบอิ้ง 737 ของศรีวิจายาแอร์ ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือ 62 คน เพิ่งประสบอุบัติเหตุตกลงสู่ทะเล และล่าสุดในช่วงเย็นวันเสาร์ (16 ม.ค.) ภูเขาไฟเซเมรู เกิดการปะทุรอบใหม่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตหรือต้องอพยพใดๆ
(ที่มา : รอยเตอร์)