สาวนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวแคว้นบาลูชิสถานในปากีสถาน นาม คาริมา มีฮ์ราบ บาลูช ซึ่งติดอันดับสุดยอด 100 สตรีผู้สร้างแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อชาวโลกที่สำนักข่าวดัง บีบีซี จัดทำเมื่อปี 2016 เธอได้หายไปจากบ้าน และถูกพบว่าเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในวันต่อมา
ในคำแถลงของตำรวจโทรอนโตบอกว่า ตำรวจได้รับแจ้งเรื่องเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. และทราบว่ามีการพบเห็นเธอครั้งล่าสุดในเวลา 15.00 น. แล้วในเย็นวันต่อมาจึงมีการพบศพของเธอในลักษณะจมน้ำตาย ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลสาบออนตาริโอ เขตฮาร์เบอร์ฟรอนต์ ซึ่งเป็นเขตดาวน์ทาวน์ของกรุงโทรอนโต ประเทศแคนาดา ถิ่นพำนักซึ่งเธอลี้ภัยการเมืองไปอาศัยอยู่นับแต่เมื่อห้าปีที่แล้ว
คาริมา มีฮ์ราบ บาลูช เป็นสตรีผู้มีรูปโฉมสง่างามและมีพลังจิตพลังใจเข้มแข็ง กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารปากีสถานที่อื้อฉาวในด้านการปราบปรามผู้คัดค้าน เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนผู้โดดเด่นของแคว้นบาลูชิสถานมาตั้งแต่อายุเพียง 22 ปี จรดจนสิริอายุได้ 37 ปี ณ วันที่เธอต้องจากไปด้วยการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ
นับตั้งแต่ปี 2005 ที่เธอปรากฏตัวต่อสาธารณชน ถือภาพของญาติคนหนึ่งที่หายสาบสูญ เธอก็ได้ยืนหยัดเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวบาลูชเป็นจำนวนมากที่เชื่อกันว่าถูกลักพาตัวบ้าง ถูกสังหารบ้าง ด้วยน้ำมือของหน่วยข่าวกรองปากีสถาน Inter-Services Intelligence (ISI) ซึ่งมีทีมงานที่คัดเลือกจากทหารทุกเหล่าทัพ ในเวลาดังกล่าว เธอได้จัดทำสารคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในแคว้นบาลูชิสถานด้วย
เมื่อหนึ่งในเหยื่อของหน่วยข่าวกรอง ผู้ที่เป็นประธานองค์การนักศึกษาบาลูชกลุ่มอาซาด หรือ BSO-A ถูกลักพาตัวและหายสาบสูญ คาริมา มีฮ์ราบ บาลูชก็เข้ารับหน้าที่ประธานองค์การในปี 2014 ทั้งนี้ BSO-A เป็นแนวหน้าของขบวนการทางการเมืองเรียกร้องอิสรภาพของแผ่นดินชนพื้นเมืองบาลูชออกจากประเทศปากีสถาน
บีบีซีรายงานว่า ในปี 2015 เธอถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย ส่งผลให้เธอต้องหลบหนีออกจากปากีสถานและขอพำนักในแคนาดาในฐานะผู้ลี้ภัยการเมืองในปี 2016 โดยได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยถาวรจากรัฐบาลแคนาดาในปี 2017 และตลอดที่ผ่านมา เธอรณรงค์เพื่อสิทธิของชาวบาลูชอย่างต่อเนื่อง โดยที่เธอจะวิพากษ์วิจารณ์ทหารปากีสถานไว้อย่างมากมาย
ลาตีฟ โจฮ์อาร์ บาลูช เพื่อนสนิทและเพื่อนนักเคลื่อนไหวของคาริมาซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ในแคนาดาเช่นกัน ได้ให้ข้อมูลแก่บีบีซีว่า ในช่วงที่ผ่านมา คาริมาได้รับคำขู่ต่างๆ นานาว่าจะมีคนส่ง “ของขวัญคริสต์มาส” มาให้เธอ อีกทั้งจะให้บทเรียนแก่เธออย่างสาสม
รอยเตอร์รายงานว่า ตำรวจโทรอนโตแทบจากไม่ให้รายละเอียดการเสียชีวิตของคาริมา มีฮ์ราบ และในการตอบข้อซักถามทางโทรศัพท์ก็ให้ข้อมูลเพียงว่า“ดูว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่อาชญากรรม”
ด้านเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของตำรวจโทรอนโต แคโรลีน เดอ โคลเอ้ กล่าวว่า“ขณะนี้กำลังไต่สวนกันอยู่ในฐานะของการเสียชีวิตที่ไม่ใช่อาชญากรรมและไม่เชื่อว่าจะมีสิ่งบ่งชี้ที่ต้องสงสัยใดๆ”
ในช่วงหลายปีมานี้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในบาลูชิสถานหลายพันรายถูกอุ้มหายสาบสูญ ขณะที่ทหารปากีสถานก็จะปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าได้ดำเนินปฏิบัติการดังกล่าวในการนี้ ญาติในเครือข่ายตระกูลของคาริมาได้มีส่วนร่วมในขบวนการต่อต้านปากีสถานและลุงสองรายของเธอกลายเป็นผู้หายสาบสูญ โดยมีการพบศพของทั้งสองในเวลาต่อมา
องค์การนิรโทษกรรมสากลเอเชียใต้ทวีตข้อความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคาริมา มีฮ์ราบ ว่าเป็นเรื่องน่าตกใจและควรได้รับการไต่สวนอย่างจริงจังขณะที่สภาสิทธิมนุษยชนแห่งบาลูชิสถานเรียกร้องให้รัฐบาลแคนาดาเข้าไปดูแลตรวจสอบเรื่องนี้
สำนักข่าวอัลญะซีเราะห์รายงานว่า การเสียชีวิตของคาริมานับเป็นกรณีที่สองของการตายอย่างมีเงื่อนงำที่เกิดขึ้นกับนักต่อสู้คัดค้านรัฐบาลปากีสถานภายในปีนี้ โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักข่าวและนักเคลื่อนไหวชาวบาลูช นาม ซาจิด ฮุสเซน ซึ่งรายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบาลูชิสถานและต้องลี้ภัยการเมืองมาอาศัยในสวีเดน ก็ถูกพบว่าจมน้ำเสียชีวิตในสวีเดนมาแล้ว
นอกจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน นาม อาห์เมด วาคาส กอรายา ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ทหารปากีสถานไว้อย่างมากมาย ได้ถูกทำร้ายร่างกายในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ แผ่นดินที่พำนักเพื่อลี้ภัยการเมือง
อัลญะซีเราะห์รายงานด้วยว่า แคว้นบาลูชิสถานเป็นแคว้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของปากีสถาน และมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ แต่บาลูชิสถานกลับเป็นแคว้นที่ยากจนที่สุด ในการนี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ของบาลูชิสถานได้ประณามมาเนิ่นนานว่าปากีสถานมาสกัดเอาทรัพยากรแร่ธาตุไปจากบาลูชิสถาน แต่กลับปล่อยปละให้ชาวบาลูชย่ำอยู่กับความยากจนแสนสาหัส
ด้านตาฮา ซิดดีกี นักข่าวปากีสถานผู้โด่งดังในฐานะนักวิจารณ์ทหาร และได้ลี้ภัยการเมืองในฝรั่งเศสเมื่อปี 2018 หลังจากถูกลักพาตัวแต่สามารถหลบหนีออกมาสำเร็จ ได้ให้สัมภาษณ์แก่อัลจาซีราว่าตนได้รับการกระซิบเตือนภัยจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาและของฝรั่งเศสหลายครั้งในเรื่องภัยคุกคามต่อชีวิต
ซิดดีกีบอกด้วยว่าในปากีสถาน ผู้คนได้เห็นการปราบปรามทวีจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในเมื่อพวกนั้นปฏิบัติการสำเร็จในบ้านนับครั้งไม่ถ้วน ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะมีการนำโมเดลนี้ออกไปดำเนินการตามประเทศต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
(ที่มา : รอยเตอร์, บีบีซี, อัลญะซีเราะห์, ทวิตเตอร์, บาลูชิสถานไทมส์)