รอยเตอร์ - ยูเอ็นเรียกร้องตรวจสอบกรณี “ผีน้อย” ไทยหลายร้อยคนตายในเกาหลีใต้ หลังการรายงานของมูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในโซล เผยแรงงานไทยในเกาหลีใต้ทั้งหมด 185,000 คน มีแค่ 10% ที่เข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย ยืนยันมีการติดตามตรวจสอบการเสียชีวิตของแรงงานไทย แม้ยากเข้าถึงเหล่าผีน้อยก็ตาม เฉพาะปีนี้ช่วยพาแรงงานกลับบ้านแล้วอย่างน้อย 10,000 คน
จากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโซล ซึ่งมูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ ร้องขอภายใต้กฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร (เอฟโอไอ) พบว่า แรงงานไทยอย่างน้อย 522 คน เสียชีวิตในเกาหลีใต้นับจากปี 2015 จนถึงเวลานี้ โดย 84% ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และ 40% ถูกบันทึกว่า ไม่ทราบสาเหตุการตาย ที่เหลือเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ และฆ่าตัวตาย
เฉพาะจากต้นปี 2020 จนถึงกลางเดือนนี้ มีแรงงานไทยในเกาหลีใต้เสียชีวิต 122 คน ซึ่งถือเป็นสถิติต่อปีสูงสุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิดที่มีต่อความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านี้
สำหรับข้อมูลที่ร้องขอแยกต่างหากภายใต้กฎหมายเอฟโอไอเช่นกัน จากกระทรวงการต่างประเทศของไทยนั้น พบว่า ระหว่างปี 2015-2018 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล แรงงานไทยในเกาหลีใต้เสียชีวิต 283 คน ซึ่งถือว่า มากกว่าแรงงานไทยในประเทศอื่นๆ ทุกประเทศ
นิลิม บารัวห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้น่ากังวลและจำเป็นต้องมีการสอบสวน พร้อมกับเสริมว่า แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานจะได้รับการคุ้มครองต่ำที่สุด จึงน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย
ทั้งแรงงานต่างด้าวในอดีตและปัจจุบัน นักรณรงค์เรียกร้องสิทธิ และเจ้าหน้าที่ไทย ระบุว่า แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานหลายหมื่นคนในเกาหลีถูกใช้ทำงานหนักเกินกำลัง แถมพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงระบบรักษาพยาบาล และมักไม่รายงานการถูกขูดรีดแรงงานเนื่องจากกลัวถูกส่งกลับประเทศ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลทั้งของไทยและเกาหลีใต้ต่างไม่เปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิตของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ดังนั้น จึงแทบไม่มีความสนใจในเรื่องเงื่อนไขหรือขอบเขตของการทำงานของแรงงานพวกนี้ เพื่อจะได้หาทางปรับปรุงสถานการณ์ ในขณะที่วิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างชาติตกอยู่ในความเสี่ยง บรรดานักเคลื่อนไหวบอก
ด้านองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานของยูเอ็น แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ทอมสันรอยเตอร์เผยแพร่ในคราวนี้ และระบุว่า กำลังตรวจสอบสถานการณ์นี้อยู่
สำหรับกระทรวงด้านแรงงาน ยุติธรรม และการต่างประเทศ ของเกาหลีใต้ รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยในเกาหลีใต้ ต่างไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานของรอยเตอร์
ในขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยเอง ระบุว่า มีแรงงานไทยออกไปทำงานนอกประเทศทั้งโดยถูกกฎหมายและลักลอบ อย่างน้อย 460,000 คน โดยเกาหลีใต้เป็นจุดหมายปลายทางซึ่งได้รับความนิยมที่สุด ทั้งนี้มีแรงงานไทยถึงราว 185,000 คนเดินทางไปทำงานที่นี่ เนื่องจากได้ค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในไทยถึง 3 เท่าตัว
แม้สองชาติมีข้อตกลงการเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่าตั้งแต่ปี 1981 แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานระบุว่า แรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีใต้กันเป็นจำนวนมากๆ คือ ในช่วงก่อนโอลิมปิกฤดูหนาวพยองชางปี 2018 และสุดท้ายอยู่ยาวเกินกำหนด 90 วันและกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต โดยทำงานอยู่ในโรงงานหรือไร่นาต่างๆ
กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า แม้สถานเอกอัครราชทูตมีหน้าที่ในการดูแลคนไทยในต่างแดน แต่การเข้าถึงแรงงานผิดกฎหมายทำได้ยาก
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล เผยว่า ในแรงงานไทยในเกาหลีใต้ซึ่งมีทั้งหมด 185,000 คนนั้น แค่ราว 1 ใน 10 เท่านั้นที่ทำงานโดยถูกกฎหมายภายใต้ระบบอนุญาตการจ้างงาน (อีพีเอส) ที่เหลือคือแรงงานเถื่อนหรือ “ผีน้อย” ที่จ่ายเงินให้นายหน้าในไทย ซึ่งอาจรวมถึงค่าเครื่องบินและที่พักในเกาหลีใต้ด้วย
เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยังบอกว่า สถานเอกอัครราชทูตรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของแรงงานโดยอิงกับรายงานจากโรงพยาบาลหรือตำรวจ และมีการติดตามผลรวมทั้งชันสูตรศพทุกราย เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเท่านั้น โดยแรงงานเถื่อนจำนวนมากเสียชีวิตขณะหลับ ซึ่งอาจเกิดจากการทำงานหนักเกินไปหรือปัญหาสุขภาพส่วนตัวและไม่ได้รักษาอย่างเหมาะสม และสำทับว่า เฉพาะปีนี้สถานเอกอัครราชทูตช่วยพาแรงงานไทยกลับประเทศอย่างน้อย 10,000 คน
ทางด้านรัฐบาลไทยระบุว่า ได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนลักลอบออกไปทำงานนอกประเทศ เช่น จัดทำวิดีโอให้ความรู้และปราบปรามเว็บไซต์ต้มตุ๋นรับสมัครงานออนไลน์
ทว่า นักรณรงค์ปกป้องสิทธิ์แรงงานแย้งว่า มาตรการเหล่านั้นไม่ช่วยแก้ปัญหา พร้อมเรียกร้องรัฐบาลให้ดำเนินการเพื่อให้การเดินทางไปทำงานนอกประเทศอย่างถูกกฎหมายง่ายดายขึ้น