xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘สิงคโปร์’ ได้ตัวช่วยเศรษฐกิจที่บอบช้ำจาก ‘โควิด’ อย่างไม่คาดคิด นั่นคือความต้องการ ‘ยา’ ที่เพิ่มสูงขึ้นในทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักชีวเคมีปฏิบัติงานอยู่ในห้องกันฉนวน ซึ่งใช้สำหรับการผลิตพวกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่โรงงานของบริษัททาเคดะ ฟาร์มาซูติคอลส์ (เอเชียแปซิฟิก) ในสิงคโปร์ (ภาพถ่ายเมื่อ 24 พ.ย. 2020)
เหล่านักวิทยาศาสตร์ในเสื้อผ้าชุดป้องกันเชื้อโรค ทำงานกันอยู่ในห้องปฏิบัติการไฮเทคที่โรงงานเภสัชกรรมแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ที่ซึ่งเศรษฐกิจอันย่ำแย่สาหัสจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 กำลังได้รับอานิสงส์อย่างไม่คาดคิดจากการที่ความต้องการยาของทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ในปี 2020 นี้ นครรัฐแห่งนี้กำลังโซซัดโซเซอยู่บนเส้นทางมุ่งไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่ตนเองเคยเผชิญมา แต่กิจกรรมการผลิตในโรงงานหลายแห่งกลับยังคงคึกคัก ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณประเทศต่างๆ ซึ่งกำลังเร่งรีบสต็อกยาเอาไว้ในระหว่างเกิดโรคระบาดใหญ่

ประเทศซึ่งมีขนาดเล็กนิดเดียวแห่งนี้ ได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของโลกในเรื่องการผลิตยา และเป็นที่ตั้งของโรงงานมากกว่า 50 แห่ง ซึ่งเจ้าของเป็นบิ๊กเบมในวงการเภสัชอุตสาหกรรม เป็นต้นว่า ไฟเซอร์, โรช, แกล็กโซสมิธไคลน์ และ ทาเคดะ

ภาคส่วนการผลิตยาของสิงคโปร์ “แสดงบทบาทสำคัญในสายโซ่การผลิตของเภสัชอุตสาหกรรมระดับโลก” ราจิฟ บิสวอส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ดูแลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อยู่ที่บริษัทที่ปรึกษา ไอเอชเอส มาร์กิต บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี

แล้วในปี 2020 นี้ “รัฐบาลต่างๆ รวมทั้งพวกกิจการภาคเอกชนต่างๆ ก็กำลังเก็บสะสมเพิ่มจำนวนตัวยาสำคัญยิ่งยวดทั้งหลายเอาไว้ในสต็อก โดยเป็นผลจากการที่สายโซ่อุปทานเกิดการสะดุดติดขัดอย่างร้ายแรงในประเทศจำนวนมากระหว่างเกิดโรคระบาดใหญ่คราวนี้” เขากล่าวต่อ

ตัวเลขข้อมูลตอกย้ำให้เห็นว่า สิงคโปร์กำลังได้ประโยชน์จากเรื่องนี้กันเต็มๆ กล่าวคือ การผลิตของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (biomedical manufacturing) ซึ่งครอบคลุมรวมถึงพวกยาด้วยนั้น มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาก โดยผลผลิตขยายตัวในระดับ 90% ต่อปีเฉพาะในเดือนกันยายนเดือนเดียว

ยอดส่งออกก็ไปได้ดีทั้งๆ ที่ถูกคาดหมายไว้ว่าจะติดลบย่ำแย่ และสามารถเติบโตได้เกือบตลอดทั้งปีด้วยซ้ำ จากแรงหนุนส่งของการส่งออกยา ถึงแม้มีการถอยหลังลงมาในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน

ขณะที่ความสนอกสนใจส่วนใหญ่มุ่งโฟกัสไปที่เรื่องการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด แต่อุปสงค์ความต้องการอันเข้มแข็งในยาสำหรับบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตั้งแต่โรคหืดหอบไปจนถึงโรคลมชัก คือ ตัวสร้างรายรับเป็นกอบเป็นกำอย่างต่อเนื่องให้แก่พวกบริษัทยายักษ์ใหญ่ในสิงคโปร์ เหล่าเพลเยอร์และพวกนักวิเคราะห์ทางอุตสาหกรรมระบุ

นี่เป็นแรงหนุนส่งซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการเหลือเกิน หลังจากเศรษฐกิจนครรัฐแห่งนี้หดตัวลงกว่า 13% ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ประเทศประกาศใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนาที่ระบาดหนักโดยเฉพาะในบรรดาแรงงานอพยพ

จากการที่พรมแดนแทบจะถูกปิดทุกด้าน ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นตัวสร้างรายได้ที่สำคัญอย่างมากของประเทศ จึงถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงเป็นพิเศษ โดยจำนวนผู้เดินทางเข้าได้หล่นลงมาเหลือแค่ 13,400 คนในเดือนตุลาคม จากระดับ 1.7 ล้านคนในเดือนมกราคม

อย่างไรก็ตาม การระบาดของสิงคโปร์อาจถือว่าค่อนข้างเบา โดยพบผู้ติดเชื้อราวๆ 58,000 ราย และเสียชีวิต 29 ราย เวลาเดียวกันเศรษฐกิจก็เริ่มต้นฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ในช่วงไตรมาส 3 เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการจำกัดเข้มงวดลงมา

นครรัฐแห่งนี้มีชื่อเสียงมายาวนานในฐานะเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ไมโครชิป ไปจนถึง ฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ แต่ก็ได้ลงแรงพยายามทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของตนมีการกระจายตัวมากขึ้น

การฟื้นตัวที่ไม่สม่ำเสมอ

อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ ซึ่งยังครอบคลุมถึงเรื่องการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ไฮเทค อย่างเช่น เครื่องเพซเมคเกอร์ (เครื่องช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ) ด้วยนั้น เวลานี้ว่าจ้างผู้คนมากกว่า 24,000 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวม ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ ฟิตช์ โซลูชั่นส์ บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง

ข้อมูลของฟิตช์บอกด้วยว่า สิงคโปร์ซึ่งมีประชากร 5.7 ล้านคน เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ส่งออกยามากกว่านำเข้า โดยในปี 2019 ได้ขนส่งพวกผลิตภัณฑ์ยาออกไปเป็นมูลค่า 8,100 ล้านดอลลาร์ ขณะนำเข้า 3,100 ล้านดอลลาร์

ทางการผู้รับผิดชอบของนครรัฐแห่งนี้ ได้ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยระดับไฮเทคอันก้าวหน้า เพื่อให้เป็นตัวผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยกำลังให้สัญญาที่จะทำการลงทุนในด้านการวิจัยและนวัตกรรมเป็นเงินเกือบๆ 20,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ไป

ณ โรงงานในสิงคโปร์ของทาเคดะ ที่เอเอฟพีได้ไปเยือน ท่ามกลางเครือข่ายของท่อสเตนเลสและถังเก็บต่างๆ บริษัทแห่งนี้กำลังปลูกเซลซึ่งได้จากรังไข่ของหนูแฮมสเตอร์ เพื่อนำมาทำเป็นส่วนผสมสำหรับยาใช้บำบัดรักษาโรคฮีโมฟีเลีย (โรคโลหิตไหลไม่หยุดเมื่อเกิดบาดแผล)

ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจากที่นี่จะถูกส่งทางเครื่องบินไปยังสวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย หรือไม่ก็แคลิฟอร์เนีย เพื่อนำไปผสมกับส่วนผสมอย่างอื่นๆ และบรรจุลงในขวดแก้วเล็กๆ ก่อนจัดส่งไปยังเบลเยียมเพื่อบรรจุกหีบห่อ แล้วจากนั้นจึงขนส่งไปทั่วโลก

“โดยภาพรวม อุตสาหกรรมยาในสิงคโปร์ไม่ได้รับผลกระทบในทางลบจากโรคระบาดใหญ่” จอร์จ ลัม ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของโรงงานทาเคดะในสิงคโปร์ บอกกับเอเอฟพี

“เนื่องจากเราไม่ได้รับผลกระทบกระเทือน เราก็จึงผลิตอย่างต่อเนื่อง เรายังคงส่งออกยาของเราไปสู่ตลาดทั่วโลก ... พวกบริษัทยาในสิงคโปร์หลายๆ แห่งทีเดียวกำลังผลิตพวกยาที่ต้องใช้ในการรักษาชีวิต”

แต่ใช่ว่าการดำเนินงานในสิงคโปร์ของบริษัทจะเดินหน้าไปอย่างราบรื่นไปเสียทั้งหมด เป็นต้นว่า มีคนงานบางส่วนติดค้างอยู่ในมาเลเซีย เมื่อตอนที่พรมแดนระหว่างประเทศทั้งสองถูกสั่งปิดอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ทางโรงงานพยายามแก้ไขให้การทำงานยังคงเดินหน้าได้ต่อไป

สุขภาวะของเซกเตอร์ยาของสิงคโปร์นี้ ถือเป็นจุดสดใสที่หาได้ยากสำหรับเศรษฐกิจของนครรัฐแห่งนี้ และก็สำหรับการค้าในตลอดทั่วโลกด้วย

มูลค่าของการค้าโลกในปี 2020 จะลดต่ำลงโดยอาจจะถึง 9% ทีเดียวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หน่วยงานของสหประชาชาติทำนายเอาไว้เช่นนี้ และพวกผู้นำในนครรัฐซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกแห่งนี้ ก็ยังคงว้าวุ่นไม่สบายใจเกี่ยวกับทิศทางอนาคต

“เราคาดหมายว่าการฟื้นตัวในปีหน้าจะอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากจะเกิดการติดเชื้อระบาดขึ้นมาใหม่เป็นระยะๆ ในประเทศอื่นๆ ขณะที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับฝีก้าวของการผลิตวัคซีน, การแจกจ่ายวัคซีน และการฉีดวัคซีน” รัฐมนตรีพาณิชย์ ชาน ชุน ซิง ของสิงคโปร์บอก

“เราจะยังไม่ได้กลับไปสู่โลกก่อนหน้าโควิดหรอก”

(เก็บความจากเรื่อง Singapore gets shot in the arm from global drug demand ของสำนักข่าวเอเอฟพี)

พนักงานผู้หนึ่งในห้องแช่แข็งที่โรงงานของบริษัททาเคดะ ฟาร์มาซูติคอลส์ (เอเชียแปซิฟิก) ในสิงคโปร์ (ภาพถ่ายเมื่อ 24 พ.ย. 2020)

นักชีวเคมีเฝ้าติดตามตรวจสอบจากห้องควบคุม ขณะดำเนินการผลิตพวกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่โรงงานของบริษัททาเคดะ ฟาร์มาซูติคอลส์ (เอเชียแปซิฟิก) ในสิงคโปร์ (ภาพถ่ายเมื่อ 24 พ.ย. 2020)
กำลังโหลดความคิดเห็น