เอเจนซีส์ - แคปซูลบรรทุกตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ ส่วนหนึ่งของยานฉางเอ๋อ 5 ของจีน เดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยเมื่อวันพฤหัสบดี (17 ธ.ค.) ปูทางสู่ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบสุริยะ รวมทั้งยังเป็นเหตุการณ์สำคัญตอกย้ำความคืบหน้าอย่างรวดเร็วของโครงการอวกาศแดนมังกร นอกจากนั้นยังทำให้จีนเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น
องค์การอวกาศแห่งชาติของจีน (ซีเอ็นเอสเอ) รายงานว่า แคปซูลจากยานฉางเอ๋อ 5 ลงจอดในเขตปกครองมองโกเลียในของจีนเมื่อเวลา 02.00 น.ของวันพฤหัสบดี
ทั้งนี้ ยานฉางเอ๋อ 5 ซึ่งประกอบด้วยโมดูล 4 โมดูล ออกเดินทางด้วยจรวดลอง มาร์ช 5 จากศูนย์อวกาศที่เมืองเหวินฉาง บนเกาะไหหลำ นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และเมื่อถึงดวงจันทร์ โมดูล 2 โมดูลแยกออกจากยานลงจอดบนพื้นผิวในวันที่ 1 ธันวาคม และใช้เวลา 2 วันในการเก็บตัวอย่างดินและหินหนัก 2 กิโลกรัมจากบริเวณที่เรียกว่า “แอ่งมหาสมุทรพายุ” ที่ยังไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน รวมทั้งปักธงชาติจีนในบริเวณดังกล่าว ก่อนส่งแคปซูลบรรจุตัวอย่างกลับสู่ยานหลักบนวงโคจร และจากนั้นก็เดินทางกลับโลก
แคปซูลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกที่ความสูงราว 120 กิโลเมตร และเมื่อถึงระดับ 10 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ร่มกางออกและนำแคปซูลลงสู่พื้นอย่างราบรื่น จากเจ้าหน้าที่ได้นำธงชาติจีนไปปักในบริเวณนั้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนความภาคภูมิใจและความรู้สึกชาตินิยมจากโครงการอวกาศมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของแดนมังกร
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนยกย่องภารกิจนี้ว่า เป็นหนึ่งในภารกิจท้าทายและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ด้านอวกาศของจีน
ภารกิจนี้เป็นการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 4 ทศวรรษ และทำให้จีนเป็นชาติที่ 3 ในโลกที่ทำได้ นอกเหนือจากอเมริกาและอดีตสหภาพโซเวียต
ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกคำแถลงระบุว่า ภารกิจนี้เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่สะท้อนก้าวย่างสำคัญของอุตสาหกรรมอวกาศของจีน พร้อมแสดงความหวังว่า ผู้มีส่วนร่วมในโครงการนี้จะสานต่อความพยายามเพื่อนำจีนสู่ความเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ
ขณะที่ โจนาธาน แม็กโดเวลล์ นักวิจัยจากศูนย์ดาราศาสตร์-ฟิสิกส์ ยกย่องว่า จีนเตรียมการมานาน และภารกิจนี้มีความสำคัญและความเสี่ยงสูงมาก จากการนำยานไปยังจุดนัดพบในอวกาศอัตโนมัติ การเชื่อมต่อระหว่างยาน และการขนส่งตัวอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน
ด้าน เฉิน หลาน นักวิเคราะห์อิสระของ GoTaikonauts.com ที่เชี่ยวชาญด้านโครงการอวกาศของจีน เห็นด้วยว่า ความสำเร็จนี้จะทำให้จีนมั่นใจในเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น
โทมัส เซอร์บูเคน เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายภารกิจวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของอเมริกา แสดงความยินดีที่แคปซูลของจีนกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย
แคปซูลดังกล่าวจะถูกนำขึ้นเครื่องบินไปยังปักกิ่งเพื่อเปิดและนำตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ส่งให้ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ รวมทั้งแบ่งปันบางส่วนให้นักวิจัยประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ ในยุคสมัยสี โครงการอวกาศของจีนมีความคืบหน้าอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การนำยานลงจอดที่ด้านไกลสุดของดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกในเดือนมกราคมปีที่แล้ว
สำหรับเป้าหมายในอวกาศของจีนในอนาคตรวมถึงการสร้างจรวดทรงพลังที่สามารถขนส่งสัมภาระหนักกว่าจรวดของนาซา และสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทของอเมริกา รวมทั้งสร้างสถานีอวกาศที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ภายในปี 2022 และส่งมนุษย์ขึ้นสู่ดวงจันทร์