โจ ไบเดน ได้รับการยืนยันในฐานะประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (14 ธ.ค.) หลังคณะผู้เลือกตั้งรับรองชัยชนะของเขาเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการ แทบจะปิดประตูสำหรับความพยายามของทรัมป์ที่ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน
คณะผู้เลือกตั้งของสหรัฐฯ เปิดประชุมลงมติกันในวันจันทร์ (14 ธ.ค.) เพื่อรับรองไบเดนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ทรัมป์ยังคงยืนกรานไม่ยอมรับความพ่ายแพ้
ด้วยแคลิฟอร์เนีย รัฐที่มีประชากรมากที่สุด มอบคะแนนโหวตคณะผู้เลือกตั้ง 55 เสียงแก่ไบเดนในช่วงบ่ายวันจันทร์ (14 ธ.ค.) ส่งผลให้อดีตรองประธานาธิบดีรายนี้มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นตัวตัดสินผลเลือกตั้ง เกินกว่า 270 เสียงที่จำเป็นสำหรับการเข้าสู่ทำเนียบขาว ทั้งนี้ อ้างอิงจากผลเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ไบเดน ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 306 เสียง ส่วน ทรัมป์ ได้ไปเพียง 232 เสียง
ก่อนหน้านั้้น คณะผู้เลือกตั้งในหลายรัฐสมรภูมิ บรรดารัฐที่ทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จในความพยายามเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นแอริโซนา, จอร์เจีย, มิชิแกน, เนวาดา, เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ต่างก็โหวตเลือก ไบเดน เช่นกัน เปิดทางสำหรับ ไบเดน เตรียมสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม เคียงข้าง กมาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดี
การประชุมของคณะผู้เลือกตั้งทั้ง 538 คน ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพื่อยืนยันผลการเลือกตั้งทั่วไป โดยกฎหมายรัฐบาลกลางกำหนดวันเวลาอย่างเจาะจงให้คณะผู้เลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 ธันวาคม
ปกติแล้วกระบวนการของคณะผู้เลือกตั้งที่มีมานานกว่า 200 ปี เป็นเพียงแค่พิธีการยืนยันเจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้งที่แสดงออกในศึกเลือกตั้ง ทว่าในปีนี้ กระบวนการนี้กลับมีความสำคัญมากขึ้น สืบเนื่องจากความปั่นป่วนวุ่นวายของศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว และจากการที่ทรัมป์ยังคงปฏิเสธยอมรับความพ่ายแพ้
“ประชาธิปไตยเป็นผู้ชนะ ประชาชนเป็นผู้โหวต ความซื่อตรงในศึกเลือกตั้งของเขายังคงไม่บุบสลาย” ไบเดนกล่าวปราศรัยจากวิลมิงตัน เมืองบ้านเกิดของเขา ในรัฐเดลาแวร์ในวันจันทร์ (14 ธ.ค.) “ตอนนี้ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาแห่งความสามัคคี และถึงเวลาแห่งการเยียวยา ผมจะเป็นประธานาธิบดีเพื่ออเมริกันชนทุกคน”
ในปีนี้ขั้นตอนการรับรองของคณะผู้เลือกตั้ง ตกอยู่ในแก่นกลางของความพยายามคัดค้านผลการเลือกตั้งของทรัมป์ ที่หลายฝ่ายเตือนว่าเป็นอันตรายต่อความน่าเชื่อถือของระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ด้วยที่ ทรัมป์ ยังคงเดินหน้ากล่าวหา โดยไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าเขาเป็นผู้ชนะที่แท้จริง
ศาลแล้วศาลเล่าปฏิสธคำกล่าวอ้างของคณะทำงานรีพับลิกัน ที่อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างมโหฬาร และเมื่อวันศุกร์ (11 ธ.ค.) ศาลสูงสุดสหรัฐฯ มอบความปราชัยทางกฎหมายครั้งล่าสุดแก่พวกเขา หลังปฏิเสธคำอุทธรณ์การฟ้องร้องคดีที่นำโดยพันธมิตรของทรัมป์จากรัฐเทกซัส และรัฐอื่นๆ ที่นำโดยรีพับลิกัน
คำฟ้องของเทกซัสระบุว่า การเปลี่ยนแปลงกระบวนการลงคะแนนใน 4 รัฐ ประกอบด้วย จอร์เจีย, มิชิแกน, เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ท่ามกลางโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยขยายขอบเขตการลงคะแนนทางไปรษณีย์นั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมขอให้ศาลสูงมีคำสั่งในทันที ระงับทั้ง 4 รัฐ จากการใช้ผลโหวตแต่งตั้งคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นตัวแทนของทางรัฐไปเลือกประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วคำร้องนี้ก็ถูกตีตกไป
พวกผู้สนับสนุนทรัมป์หลายพันคน ในนั้นรวมถึงสมาชิกกลุ่มขวาจัดต่างๆ รวมตัวประท้วงในวอชิงตันเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ และเกิดปะทะกับผูู้ประท้วงอีกฝ่าย ส่วนในจอร์เจีย ภาพในวิดีโอพบเห็นบรรดานักเคลื่อนไหวติดอาวุธเดินขบวนกันที่เมืองเอกของรัฐ เพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของทรัมป์
ทรัมป์ ยังคงเดินหน้าขู่และกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐานใดๆ บนทวิตเตอร์ในวันจันทร์ (14 ธ.ค.) กล่าวหาว่ามีการโกงอย่างมโหใารและประกาศว่าการรับรองผลเลือกตั้งใดๆ อาจถูก “ลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรง” อย่างไรก็ตาม คณะผู้เลือกตั้งไม่สนใจต่อคำขู่ของทรัมป์
สำหรับในขั้นตอนต่อไปนั้น ในวันที่ 23 ธันวาคม รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ซึ่งมีสถานะเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง จะทำการรับมอบใบรับรองผลการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการจากคณะผู้เลือกตั้ง
จากนั้นในวันที่ 6 มกราคม 2021 สภาคองเกรสจะจัดการประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้ง โดยรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ จะเป็นประธานการประชุม และจะเป็นผู้ประกาศผลการนับคะแนน โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง จะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)