เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยวานนี้ (16 พ.ย.) ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปรึกษาผู้ช่วยคนสนิทเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับทางเลือกในการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์หลักของอิหร่าน ก่อนที่จะล้มเลิกความคิดดังกล่าวไป
แหล่งข่าวอ้างว่า ทรัมป์ได้เอ่ยเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 พ.ย. ขณะประชุมร่วมกับบรรดาที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ซึ่งได้แก่ รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์, คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ และ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยืนยันข้อมูลของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สซึ่งรายงานว่า คณะที่ปรึกษาพยายามโน้มน้าว ทรัมป์ ไม่ให้โจมตีอิหร่านเนื่องจากเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งลุกลามเป็นวงกว้าง
“ท่านประธานาธิบดีขอทราบทางเลือกต่างๆ พวกเขาจึงชี้แจงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และสุดท้ายท่านก็ตัดสินใจไม่เดินหน้าต่อ” แหล่งข่าวระบุ
ล่าสุด ทำเนียบขาวยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานนี้
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คณะบริหารของทรัมป์ ได้ใช้นโยบายกดดันอิหร่านอย่างหนักหน่วง เริ่มจากการประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ซึ่งเป็นผลงานการทูตชิ้นโบแดงของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และรื้อฟื้นบทลงโทษทางเศรษฐกิจต่อบุคคลและองค์กรต่างๆ ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้
ทรัมป์ ซึ่งพยายามคัดค้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 พ.ย. จะต้องส่งมอบอำนาจบริหารต่อให้แก่ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า
การพิจารณาทางเลือกโจมตีอิหร่านมีขึ้นเพียง 1 วัน หลังทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เสนอรายงานว่าอิหร่านได้ทำการเคลื่อนย้ายเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuges) ล้ำสมัยชุดแรกลงไปยังอาคารใต้ดินที่โรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมแห่งใหญ่ของประเทศ ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงที่ทำร่วมกับ 6 ชาติมหาอำนาจ
เวลานี้อิหร่านมียูเรเนียมสมรรถนะสูงอยู่ในสต็อกประมาณ 2.4 ตัน เกินกว่าเพดานสูงสุด 202.8 กิโลกรัมที่ระบุเอาไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์ นอกจากนี้ IAEA ยังพบว่าอิหร่านผลิตยูเรเนียมสมรรถนะสูงได้ 337.5 กิโลกรัมในไตรมาสปัจจุบัน ลดต่ำลงเล็กน้อยจากเมื่อ 2 ไตรมาสที่แล้วซึ่งผลิตได้มากกว่า 500 กิโลกรัม
เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้สั่งให้กองทัพอเมริกันส่งโดรนติดอาวุธไปสังหาร พล.อ.กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยคุดส์ (Quds) ของอิหร่านที่สนามบินในกรุงแบกแดด แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่จะกระพือความขัดแย้งมากไปกว่านั้น และยังพยายามรักษาสัญญายุติ “สงครามไม่มีวันจบ” ด้วยการนำทหารอเมริกันกลับบ้าน
ทั้งนี้ การโจมตีโรงงานนิวเคลียร์หลักของอิหร่านที่เมืองนาตันซ์ (Natanz) อาจจุดชนวนความตึงเครียดครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง และยังเป็นการทิ้งปัญหาร้ายแรงในด้านนโยบายต่างประเทศให้กับรัฐบาลไบเดน
ที่มา : รอยเตอร์