มิงค์ในสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิด-19 ตายไปแล้วมากกว่า 15,000 ตัวตั้งแต่เดือน ส.ค. ขณะที่ทางการสั่งกักกันฟาร์มมิงค์กว่าสิบแห่งเพื่อดำเนินการสอบสวนโรค
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกกำลังเพ่งเล็งไปที่สัตว์ชนิดนี้ว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ โดยสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลเดนมาร์กได้สั่งฆ่ามิงค์ 17 ล้านตัวทั่วประเทศ หลังพบประชาชนติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์จากฟาร์มผลิตขนมิงค์ ซึ่งไวรัสกลายพันธุ์นี้อาจทำให้วัคซีนที่จะผลิตได้ในอนาคตมีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อน้อยลง
ทางการรัฐยูทาห์, วิสคอนซิน และมิชิแกน ซึ่งพบมิงค์ตายจากการติดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ยืนยันว่ายังไม่มีแผนสั่งทำลายมิงค์ในตอนนี้ และกำลังเฝ้ารอดูสถานการณ์ในเดนมาร์ก
“เราเชื่อว่าการสั่งกักกันฟาร์มมิงค์ที่ได้รับผลกระทบ บวกกับใช้มาตรการด้านความมั่งคงทางชีวภาพที่เข้มงวด จะสามารถควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส SARS-CoV-2 ในสถานที่เหล่านี้ได้” กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ยืนยันกับรอยเตอร์เมื่อวานนี้ (10 พ.ย.)
USDA ได้มีการประสานไปยังสำนักงานควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับรัฐและอุตสาหกรรมผลิตขนมิงค์ เพื่อทำการทดสอบและติดตามสถานการณ์ในฟาร์มที่พบสัตว์ติดเชื้อ
สหรัฐฯ มีการเพาะเลี้ยงมิงค์ 359,850 ตัวเพื่อผลิตลูกมิงค์ (kits) และขนมิงค์ โดยรัฐวิสคอนซินถือเป็นรัฐที่มีอุตสาหกรรมผลิตขนมิงค์ขนาดใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยรัฐยูทาห์
USDA พบว่า มิงค์ที่ป่วยในวิสคอนซินและยูทาห์เคยสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 มาก่อน ส่วนที่มิชิแกนยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามิงค์ติดเชื้อจากมนุษย์หรือไม่
ยูทาห์เป็นรัฐแรกในอเมริกาที่ยืนยันการพบมิงค์ติดโควิด-19 เมื่อเดือน ส.ค. โดยมีมิงค์ตายไปราวๆ 10,700 ตัวในฟาร์ม 9 แห่ง
ดีน เทย์เลอร์ สัตวแพทย์ของรัฐ ระบุว่า “จากการตรวจสอบฟาร์มทั้ง 9 แห่งพบข้อมูลบ่งชี้ถึงการแพร่เชื้อจากมนุษย์มาสู่มิงค์แบบทางเดียว” และมิงค์ก็เช่นเดียวกับคนที่บางตัวมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย
CDC ย้ำว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่าสัตว์มีบทบาทสำคัญในการแพร่เชื้อโควิด-19 มาสู่คน
ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กระโดดจากสัตว์มาสู่มนุษย์เป็นครั้งแรกในจีน โดยอาจมีค้างคาวหรือสัตว์ชนิดอื่นในตลาดอาหารทะเลที่เมืองอู่ฮั่นเป็นพาหะ ทว่าทฤษฎีนี้ก็ยังถูกตั้งคำถามสำคัญหลายข้อ
ทางการสหรัฐฯ เตือนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากและถุงมือ ขณะจัดการสัตว์ เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคไปแพร่สู่พวกมัน
เจ้าหน้าที่ประจำรัฐต่างๆ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับ USDA ว่าเกษตรกรสามารถจำหน่ายขนมิงค์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ โดยขนของมิงค์นั้นสามารถนำไปผลิตเสื้อขนสัตว์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลายอย่าง
ก่อนหน้านี้ เคยมีรายงานพบสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น แมว, สุนัข, สิงโต และเสือติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วในสหรัฐฯ ทว่ามิงค์ดูเหมือนจะเป็นสายพันธุ์ที่เปราะบางต่อไวรัสชนิดนี้มากเป็นพิเศษ
ที่มา: รอยเตอร์