กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งไปยังสภาคองเกรสเกี่ยวกับการอนุมัติข้อตกลงจำหน่ายเครื่องบินขับไล่ F-35 ของค่ายล็อกฮีดมาร์ติน จำนวน 50 ลำ ให้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รวมมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 312,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การงัดข้อกับนักการเมืองในสภาบางคนที่ยังไม่เห็นด้วยกับการขายยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยให้แก่ชาติซึ่งมีส่วนเข่นฆ่าพลเรือนในสงครามเยเมน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อเดือน ก.ย. ว่า สหรัฐฯ และยูเออีมีเป้าหมายที่จะลงนามข้อตกลงซื้อขาย F-35 ฝูงใหญ่ให้ทันก่อนงานฉลองวันชาติยูเออี ซึ่งตรงกับวันที่ 2 ธ.ค.
คณะกรรมการฝ่ายกิจการต่างประเทศของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีสิทธิ์ที่จะทบทวนหรือแม้กระทั่งคัดค้านการจำหน่ายอาวุธได้ ภายใต้กระบวนการพิจารณาแบบไม่เป็นทางการ
รัฐบาลอิสราเอลซึ่งออกมาคัดค้านเรื่องนี้ในช่วงแรกๆ ได้มีท่าทีอ่อนลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังสหรัฐฯ ให้การรับรองว่ามันจะไม่ทำให้กองทัพอิสราเอลเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ และอิสราเอลมีข้อตกลงกันมาอย่างยาวนานว่า อาวุธที่สหรัฐฯ จำหน่ายให้แก่ประเทศอื่นใดในภูมิภาคจะต้องไม่กระทบต่อแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือชั้นกว่า (qualitative military edge) ของอิสราเอล
“เราต่างก็เผชิญภัยคุกคามเดียวกัน” นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ให้สัมภาษณ์วานนี้ (29) หลังถูกถามถึงเรื่องที่สหรัฐฯ จะขาย F-35 ให้ยูเออี โดยคาดว่า เนทันยาฮู กำลังพูดถึงศัตรูหมายเลขหนึ่งอย่าง “อิหร่าน”
เอเลียต เองเกิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งหนังสือแจ้งอย่างไม่เป็นทางการไปยังสภาคองเกรสแล้วเมื่อวานนี้ (29)
“ระหว่างที่คองเกรสกำลังพิจารณาข้อตกลงนี้ ขอให้เข้าใจชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ (status quo) จะไม่ทำให้ความได้เปรียบทางทหารของอิสราเอลตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างแน่นอน” เขากล่าว
แหล่งข่าวระบุว่า รัฐบาล ทรัมป์ เตรียมที่จะยื่นหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังสภาคองเกรสในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งหลังจากที่แจ้งแล้วก็เป็นสิทธิ์ของสภาคองเกรสที่จะพิจารณาอนุมัติหรือคัดค้านการขายอาวุธดังกล่าว
โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการแจ้งแบบไม่เป็นทางการสำหรับการจำหน่ายอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนอย่าง F-35 ควรจะต้องใช้เวลาถึง 40 วัน ทว่ารัฐบาล ทรัมป์ กลับย่นระยะเวลาให้สั้นลงเหลือแค่ไม่กี่วัน โดยหวังให้ข้อตกลงได้ไฟเขียวจากสภาคองเกรสก่อนวันชาติยูเออี
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และแสดงความปรารถนาที่จะได้ครอบครองฝูงบินขับไล่หลบหลีกเรดาร์ F-35 มานานแล้ว ซึ่งในที่สุดก็สมหวังเมื่อวอชิงตันสัญญาว่าจะเปิดโอกาสให้สั่งซื้อได้หลังจากที่ยูเออียอมทำข้อตกลงฟื้นความสัมพันธ์กับอิสราเอล
เนื่องจากสหรัฐฯ มีพันธกรณีที่จะต้องปกป้องศักยภาพทางทหารที่เหนือชั้นกว่าของอิสราเอล ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีชาติอาหรับใดสามารถสั่งซื้อ F-35 ได้เลย ขณะที่อิสราเอลครอบครองฝูงบินชนิดนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 24 ลำ และกำลังจะสั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 50 ลำ
ที่มา: รอยเตอร์