รัสเซียเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 ตัวที่ 2 แม้ยังไม่การทดลองยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ด้วยเครมลินเร่งรีบพัฒนาโล่ป้องกันโรคระบาดใหญ่ ที่กำลังระบาดหนักในแดนหมีขาว มีผู้ป่วยใหม่รายวันมากกว่า 15,000 คน มานานนับสัปดาห์ ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมล่าสุดทะลุ 1.5 ล้านคน และเสียชีวิต 26,500 ราย
แอนนา ปาโปวา หัวหน้าหน่วยงานเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขของรัสเซีย กล่าวระหว่างแถลงข่าวในวันอังคาร (27 ต.ค.) ว่าได้เริ่มผลิตวัคซีนที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยด้านไวรัสและเทคโนโลยีชีวภาพของรัฐ (State Research Center of Virology and Biotechnology) หรือชื่อย่อว่าศูนย์ VECTOR ที่เมืองโนโวซีบีสก์ เขตไซบีเรีย แล้ว และจะยกระดับกำลังผลิตในช่วงสิ้นปี
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แถลงอนุมัติวัคซีนของทางศูนย์ VECTOR เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลังจากรับรองการใช้วัคซีนสปุตนิกส์ ไฟว์ (Sputnik V) ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นตัวซีนตัวแรกของโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
วัคซีนทั้ง 2 ตัวผ่านการทดสอบในอาสาสมัครจำนวนจำกัดก่อนได้รับการขึ้นทะเบียนชั่วคราว ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ใช้อย่างกว้างขวาง ในระหว่างที่วัคซีนเหล่านี้อยู่ในการทดลองขั้น 3 เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของพวกมัน
บรรดาเจ้าหน้าที่แสดงความหวังว่าวัคซีนทดลองจะช่วยหยุดระลอกคลื่นของโรคระบาดใหญ่ เช่นเดียวกับบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ รัสเซีย ชาติที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก หวังหลีกเลี่ยงบังคับใช้มาตรการอันเข้มข้นอีกครั้งในการต่อสู้กับระลอกสองของการแพร่ระบาด แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม พวกนักวิทยาศาสตร์และบรรดาบริษัทยาทั้งหลายบอกว่าการทดลองเพิ่มเติมนั้นมีความจำเป็น เพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ก่อนการรับรองวัคซีนนั้นๆ โดยในสหรัฐฯ แม้แต่โครงการเร่งรัดพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 (fast-track development) หลังได้รับข้อมูลจากการทดลองขั้น 3 แล้ว ก็จำเป็นต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยๆ 2 เดือน ก่อนที่ผู้พัฒนาหนึ่งๆจะสามารถยื่นขออนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉิน
นอกจากความเคลื่อนไหวผลิตวัคซีนตัวที่ 2 แล้ว อีกด้านหนึ่งในวันอังคาร (27 ต.ค.) ทางกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund หรือ RDIF) หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนสปุตนิกส์ ไฟว์ เปิดเผยว่า พวกเขาได้ยื่นคำร้องไปยังองค์การอนามัยโลก เพื่อขอขึ้นทะเบียนสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินและขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติวัคซีนในเบื้องต้น ทั้งนี้ การตอบรับใดๆ จากองค์การอนามัยโลกอาจช่วยปัดเป่าวคามกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของมัน
ต่างจากสปุตนิกส์ ไฟว์ ที่ใช้อะดีโนไวรัสกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิด-19 วัคซีนของทางศูนย์ VECTOR เป็นวัคซีนที่ใช้เปปไทด์ หรือโปรตีนเป็นพื้นฐาน ชักนำให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน
แม้รัสเซียได้ลดความยุ่งยากของการอนุญาตให้ใช้สำหรับคนทั่วไป แต่การยกระดับกำลังผลิตวัคซีนดูเหมือนจะเป็นงานท้าทาย ซึ่งในเรื่องนี้ทาง ทัตยานา โกลิโควา รองยานกรัฐมนตรีของรัสเซีย เคยเปิดเผยเมื่อครั้งที่วัคซีนของศูนย์ VECTOR ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมว่าจะผลิตวัคซีน 60,000 โดสแรกออกมาเร็วๆนี้
คิริล ดมิทริเยฟ ประธานกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย กล่าวในเดือนกรกฎาคมว่า รัสเซียมีเป้าหมายผลิตวัคซีน 30 ล้านโดสในปี 2020 อย่างไรก็ตาม เดนิส มันโตรอฟ บอกว่าเป้าหมายดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และตามความเห็นของเขาเชื่อว่าจะผลิตได้สูงสุดแค่ราวๆ 2.3 ล้านโดส
(ที่มา : เอ็มเอสเอ็น)