ฮอนด้า มอเตอร์ โค เมื่อวันเสาร์ (3 ต.ค.) ยืนยันการเสียชีวิตของเหยื่อรายที่ 17 ในสหรัฐฯ อันเกี่ยวข้องกับระบบสูบลม (inflator) ของถุงลมนิรภัยทาคาตะบกพร่อง
ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นระบุว่า หลังตรวจสอบร่วมกับคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยในการสัญจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ (NHTSA) ทางบริษัทยืนยันว่าระบบสูบลมของถุงลมนิรภัยเป็นต้นตออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ฮอนด้า ซิวิค ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตของคนขับ ในเมืองเมซา รัฐแอริโซนา
ข้อบกพร่องนี้ซึ่งเกิดจากถุงลมนิรภัยอาจมีแรงดันมากเกินไป จนทำให้ถุงลมแตก และพ่นชิ้นส่วนโลหะออกมาทำอันตรายต่อผู้ขับขี่ กระตุ้นการเรียกคืนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตในรถยนต์ของฮอนด้า 15 รายในอเมริกา ส่วนอีก 2 คนเสียชีวิตในรถยนต์ของฟอร์ด
นอกจากนี้แล้วนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 209 คนอันเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของถุงลมทาคาตะและเสียชีวิตอย่างน้อย 26 คนทั่วโลก
ฮอนด้าบอกว่าซีวิค 2002 อยู่ภายใต้การเรียกคืนมาตั้งแต่ปี 2011 เพื่อเปลี่ยนระบบสูบลมของถุงลมนิรภัยบริเวณด้านหน้าคนขับ ขณะที่การเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนถุงลมนิรภัยบริเวณด้านหน้าผู้โดยสาร เริ่มเรียกคืนในปี 2014
ในส่วนของทาคาตะ ได้เรียกคืนถุงลมนิรภัยราวๆ 100 ล้านชุดทั่วโลก ครอบคลุมผู้ผลิตรถยนต์รายหลักๆ 19 บริษัท ในนั้น 63 ล้านชุดเป็นการเรียกคืนในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม ฮอนด้ายินยอมจ่ายเงิน 85 ล้านดอลลาร์ (2,680 ล้านบาท) แลกกับการที่รัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ ยุติการสืบสวนกรณีที่พวกเขาใช้ถุงลมนิรภัยที่มีความบกพร่องของทาคาตะ
(ที่มา : รอยเตอร์)