โรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ คาดหมายว่าจะทำให้เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เช่นเดียวกับจีน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวมากที่สุดในรอบกว่า 50 ปี ในขณะที่ประชากรสูงสุด 38 ล้านคนถูกผลักเข้าสู่ความขัดสน ธนาคารโลกระบุในรายงานอัพเดทสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (28 ก.ย.)
ธนาคารโลกประมาณการว่าภูมิภาคแถบนี้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เพียงแค่ 0.9% ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1967
การเติบโตในจีน ได้รับคาดหมายว่าจะอยู่ที่ 2% ในปีนี้ ได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของทางรัฐบาล ตัวเลขส่งออกที่แข็งแกร่งและอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ระดับต่ำนับตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ก็ถูกฉุดรั้งจากการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ธนาคารโลกประมาณการว่าเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆที่เหลือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก น่าจะหดตัวประมาณ 3.5% "โรคระบาดใหญ่และความพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของมัน นำไปสู่การลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก" รายงานระบุ
"ความยุ่งยากภายในประเทศที่มีอยู่ก่อนแล้วถูกซ้ำเติมโดยโรคระบาดใหญ่ ได้ชักนำภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และส่งกระทบต่อเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งพึ่งพิงการค้าและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก" รายงานระบุ
รายงานของธนาคารโลกระบุด้วยว่า ภูมิภาคแถบนี้อาจจำเป็นต้องหาทงปฏิรูปทางการคลังเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและทางการเงินจากโรคระบาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีโครงการปกป้องทางสังคม เพื่อช่วยส่งเสริมผลักดันแรงงานคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้แล้ว ธนาคารโลกยังคาดหมายด้วยว่าคลื่นความช็อกของโรคระบาดใหญ่ที่มีต่อเศรษฐกิจอาจทำให้ตัวเลขคนยากจน (มีรายได้ไม่ถึง 5.50 ดอลลาร์ หรือราว 175 บาทต่อวัน) พุ่งทะยาน พร้อมระบุว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และการประมาณการจีดีพีล่าสุด จำนวนคนยากจนน่าจะเพิ่มขึ้นจาก 33 ล้านคนเป็น 38 ล้านคน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี
"ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับกลุ่มก้อนความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน" วิคตอเรีย ควาคกา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว "แต่ยังพอมีทางเลือกนโยบายฉลาดๆที่สามารถบรรเทามันได้ อาทิการลงทุนด้านการตรวจเชื้อและศักยภาพการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด และขยายโครงการปกป้องทางสังคมเป็นเวลานาน ครอบคลุมคนยากจนและแรงงานนอกระบบ"
(ที่มา : รอยเตอร์)