xs
xsm
sm
md
lg

‘เฟซบุ๊ก’ ขู่ระงับสื่อ-ยูสเซอร์ออสซี่ ‘แชร์ข่าว’ ต้าน กม.ใหม่บังคับบริษัทจ่ายค่า ‘คอนเทนต์’ ให้ นสพ.-ทีวีท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ – เฟซบุ๊กงัดข้อรัฐบาลแดนจิงโจ้ ฮึ่มฮั่มจะระงับไม่ให้ยูสเซอร์และองค์กรสื่อในออสเตรเลียแชร์คอนเทนต์ข่าว หากข้อเสนอที่บังคับให้บริษัทต้องจ่ายค่าเนื้อหาเหล่านี้ให้สื่อท้องถิ่นมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ขณะที่ออสซี่ตอบโต้จวกว่า การข่มขู่ดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการตีความผิดพลาดและไม่ถูกจังหวะเวลา

ร่างกฎหมายปฏิรูปอินเทอร์เน็ตที่กำลังจัดทำกันในออสเตรเลีย ถูกจับตาอย่างกว้างขวาง เนื่องจากจะทำให้แดนจิงโจ้เป็นประเทศแรกที่กำหนดให้ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก และบริษัทอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่างกูเกิลของบริษัทอัลฟาเบต ต้องจ่ายค่าเนื้อหาข่าวให้กับผู้ผลิตข่าวท้องถิ่นภายใต้ระบบที่คล้ายกับการจ่ายค่ารอยัลตี้หรือหากขัดขืนก็ต้องจ่ายค่าปรับที่จะมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ยังบังคับให้บริษัทไฮเทคเปิดเผยอัลกอริธึมที่ใช้ในการจัดอันดับเนื้อหา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในเรื่องนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กประกาศไม่ยอมจำนน โดยมีแผนจะระงับการแชร์ข่าวสารบนบัญชีผู้ใช้ในออสเตรเลีย ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับกูเกิล และเท่ากับปิดโอกาสในการบรรลุข้อตกลงกับทางการแคนเบอร์รา

ในวันอังคาร (1 ก.ย.) วิลล์ อีสตัน กรรมการผู้จัดการเฟซบุ๊ก ออสเตรเลีย โพสต์ข้อความบนบล็อกว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบและนำออกบังคับใช้ เฟซบุ๊กจะไม่อนุญาตให้ผู้ตีพิมพ์และบุคคลต่างๆ ในออสเตรเลียแชร์ข่าวท้องถิ่นหรือข่าวระหว่างประเทศบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมอีกต่อไป และสำทับว่า นี่คือทางเลือกสุดท้ายและเป็นทางเดียวเพื่อปกป้องผลลัพธ์ที่ท้าทายตรรกะ และจะส่งผลลบต่อความอยู่รอดในระยะยาวของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของออสเตรเลียเอง

ทางด้านจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย กล่าวยืนยันในวันเดียวกันว่า ร่างกฎหมายนี้เสนอขึ้นมาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และร่างขึ้นภายหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนนาน 18 เดือน รวมทั้งจะช่วยสร้างอุตสาหกรรมสื่อท้องถิ่นที่ยั่งยืนมั่นคงมากขึ้น ถ้าหากสื่อได้รับค่าตอบแทนจากเนื้อหาต้นฉบับที่ผลิต

เมื่อถูกสื่อซักถามเพิ่มเติม ฟรายเดนก็บอกว่า รัฐบาลจะไม่สนใจที่จะแถลงตอบโต้การข่มขู่ไม่ว่ามาจากที่ใด

ขณะเดียวกัน ร็อด ซิมส์ ประธานคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (เอซีซีซี) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายที่เสนอ กล่าวว่า การตอบโต้ของเฟซบุ๊กเป็นการกระทำที่ผิดเวลาและมาจากการตีความที่ผิดพลาด พร้อมแจงว่า ข้อเสนอดังกล่าวเพียงต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสในความสัมพันธ์ระหว่างเฟซบุ๊กและกูเกิล กับธุรกิจข่าวของออสเตรเลียเท่านั้น

ซิมส์แถลงว่า ขณะที่เอซีซีซีและรัฐบาลร่วมกันดำเนินการร่างกฎหมายนี้ในขั้นสุดท้าย ออสเตรเลียหวังว่าทุกฝ่ายจะหารือกันอย่างสร้างสรรค์

ทางด้าน บริดเจ็ต แฟร์ ประธานบริหารฟรี ทีวี ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้สำหรับธุรกิจฟรีทีวี แสดงความเห็นว่า แผนการของกูเกิลถือเป็นการข่มเหงรังแก และเสริมว่า บริษัทอเมริกันแห่งนี้พร้อมพูดและทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าเนื้อหาข่าวที่เป็นธรรม

คำแถลงของแฟร์ยังระบุว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กในออสเตรเลียถูกจับเป็นตัวประกัน จากการที่เฟซบุ๊กใช้กลยุทธ์การข่มขู่ให้รัฐบาลออสเตรเลียยอมอ่อนข้อ และสำทับว่า กฎหมายที่เสนอเป็นวิธีเดียวที่เหมาะสมในการเพิ่มอำนาจต่อรองระหว่างเฟซบุ๊ก-กูเกิล กับธุรกิจสื่อของออสเตรเลีย

ทว่า อีสตันกลับมองต่างมุมว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการขยายขอบเขตอำนาจแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และบังคับให้เฟซบุ๊กต้องเลือกลบข่าวออกทั้งหมดหรือตกลงจ่ายเงินสำหรับเนื้อหาในปริมาณที่ผู้เผยแพร่ต้องการและราคาที่ไม่มีขีดจำกัดที่แน่นอน ซึ่งไม่ใช่รูปแบบปกติที่ธุรกิจทำกัน

อีสตันยังกล่าวหาว่า เอซีซีซีละเลยข้อเท็จจริงสำคัญระหว่างการหารืออันยาวนานที่สิ้นสุดลงเมื่อวันจันทร์ (31 ส.ค.) ซึ่งหมายถึงการที่เอซีซีซีทึกทักว่า เฟซบุ๊กได้ประโยชน์มากที่สุดจากความสัมพันธ์กับผู้เผยแพร่ข่าว ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับตรงข้าม เนื่องจากข่าวสารเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวที่ผู้ใช้เห็นในฟีดข่าว และไม่ใช่แหล่งรายได้สำคัญของเฟซบุ๊ก แต่เฟซบุ๊กต่างหากที่สร้างรายได้ให้เว็บไซต์ในออสเตรเลีย 148 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้

ทั้งนี้ เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ ช่วงหลายปีมานี้บริษัทสื่อดั้งเดิมของออสเตรเลียต้องเผชิญภาวะที่รายได้จากโฆษณากระแสหลักถูกบ่อนเซาะจากคู่แข่งทางออนไลน์ และการที่ผู้บริโภคหันหลังให้สิ่งพิมพ์ที่ต้องเสียเงิน

เดือนที่แล้ว กูเกิลเริ่มแคมเปญโฆษณาโดยใช้โฆษณาแบบป็อป-อัพบนหน้าค้นหาหลักโดยระบุว่า บริการฟรีของบริษัทอาจ “มีความเสี่ยง” และอาจมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ไปแบ่งปัน หากบริษัทต้องจ่ายค่าเนื้อหาให้องค์กรข่าว ซึ่งเอซีซีซีออกมาตอบโต้ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลผิดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น