เอเอฟพี - แอปพลิเคชันวิดีโอ TikTok ในวันจันทร์(24ส.ค.) ยื่นฟ้องอย่างเป็นทางการ คัดค้านรัฐบาลสหรัฐฯแห่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งลงมือปราบปรามแพลตฟอร์มยอดนิยมที่มีจีนเป็นเจ้าของแห่งนี้ ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติ
ท่ามกลางความตึงเครียดอันร้อนระอุระหว่างสองชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งพิเศษเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ให้เวลาชาวอเมริกา 45 วันในการหยุดทำธุรกิจร่วมกับไบท์แดนซ์ บริษัทแม่สัญชาติจีนของ TikTok ผลก็คือเสมือนเป็นการกดดันให้ไบท์แดนซ์ขายธุรกิจ TikTok แก่บริษัทสหรัฐฯ และขีดเส้นตาย 90 วันให้ขายธุรกิจ TikTok ก่อนแอปพลิเคชันนี้จะถูกแบนในสหรัฐฯ
TikTok โต้แย้งในคำฟ้องว่าคำสั่งของทรัมป์ เป็นการใช้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ(International Emergency Economic Powers Act) ในทางที่ผิด เพราะว่าแพลตฟอร์มของพวกเขา ไม่ได้เป็นภัยคุกคามอย่างผิดปกติใดๆ
"คำสั่งพิเศษก่อความเป็นไปได้ที่จะถอดสิทธิต่างๆของแพลตฟอร์มโดยปราศจากหลักฐานใดๆมาอ้างความชอบธรรม อย่างเช่นมีพฤติกรรมรุนแรง" เนื้อหาในคำฟ้องระบุ "เราเชื่อว่ารัฐบาลเพิกเฉยต่อความพยายามอย่างครอบคลุมของเราในการจัดการกับความกังวลต่างๆนานาของพวกเขา ซึ่งเราดำเนินการอย่างเต็มที่และด้วยความจริงใจ แม้เราไม่เห็นด้วยกับความกังวลของพวกเขา" TikTok กล่าว
แอปพลิเคชันถูกดาวน์โหลดมากกว่า 175 ล้านครั้งในสหรัฐฯและมากกว่า 1,000 ล้านครั้งทั่วโลก
ทรัมป์ อ้างว่าจีนอาจใช้ TikTok แกะรอยที่ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐ รวบรวมข้อมูลส่วนตัวเพื่อแบล็คเมล์ และจารกรรมข้อมูลขององค์กรต่างๆ แต่ทางบริษัทตอบโต้ว่าพวกเขาไม่เคยมอบข้อมูลใดๆของผู้ใช้ในสหรัฐฯแก่รัฐบาลจีน และปักกิ่งกล่าวหาความพยายามปราบปรามของทรัมป์ว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง
มาตรการต่างๆของสหรัฐฯมีขึ้นก่อนหน้าศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งทางทรัมป์ ที่มีคะแนนนิยมตามหลังคู่แข่งอย่าง โจ ไบเดน ในผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนัก กำลังมุ่งเน้นอย่างเข้มข้นในยุทธศาสตร์หาเสียงต่อต้านจีน ทั้งในด้านการค้า, การทหารและเศรษฐกิจ
ไม่นานหลังจาก ทรัมป์ แถลงความเคลื่อนไหวเล่นงาน TikTok ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ทางสหรัฐฯได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำสูงสุดของฮ่องกง ต่อกรณี จีน ออกกฎหมายความมั่นคงบังคับใช้กับเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ ตามหลังการประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้ว
"รัฐบาลไม่ได้ทำตามขั้นตอนและไม่ได้ดำเนินการด้วยความจริงใจ หรือมอบหลักฐานใดๆว่า TikTok เป็นภัยคุกคามจริงๆ หรือเหตุผลสนับสนุนบทลงโทษของพวกเขา" บริษัทระบุ "เราเชื่อว่าการตัดสินใจของรัฐบาลมีแจงจูงใจทางการเมืองอย่างมาก และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมก็พูดแบบเดียวกัน"
ไมโครซอฟท์ และ โอราเคิล คือผู้สนใจที่จะเข้าซื้อปฏิบัติการของ TikTok ในสหรัฐฯ
รายงานข่าวระบุว่า โอราเคิล ซึ่ง แลร์รี เอลลิซัน ประธานบริษัทได้ร่วมบริจาคเงินทุนหาเสียงของทรัมป์ กำลังชั่งใจเสนอชื้อปฏิบัติการของ TikTok ในสหรัฐฯ, แคนาดา, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
พวกนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า มาตรการต่างๆที่สหรัฐฯงัดเอามาเล่นงาน TikTok คือการถอยห่างจากแนวคิดอินเตอร์เน็ตเสรีทั่วโลกที่อเมริกาสนับสนุนมาช้านาน และอาจกลายเป็นการเชื้อเชิญประเทศอื่นๆทำตาม