xs
xsm
sm
md
lg

ออสซี่ปรับหนักผู้ที่ยังฝ่าฝืนกฎกักตัว พร้อมเพิ่มทหาร 500 ช่วยสกัดโรคระบาด ขณะฟิลิปปินส์เริ่มล็อกดาวน์กว่า 27 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ยวดยานนานาติดกันยาวขณะรอผ่านด่านตรวจแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่นอกกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันอังคาร (4 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันแรกที่ทางการฟิลิปปินส์ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกระลอก ในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ โดยรวมถึงเมืองหลวงมะนิลาด้วย
เอเจนซีส์ - รัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียที่มีเมลเบิร์นเป็นเมืองเอก สั่งปรับหนักผู้ละเมิดกฎกักตัว พร้อมเพิ่มทหารอีก 500 นายช่วยต่อสู้การระบาดของโควิด-19 ขณะที่ฟิลิปปินส์เริ่มล็อกดาวน์ประชาชนกว่า 27 ล้านคนในวันอังคาร (4 ส.ค.) และเวียดนามยังพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่ม โดยที่ชุดตรวจโควิดในฮานอยเริ่มขาดแคลน

จากที่เคยได้รับคำชมในฐานะผู้นำโลกในการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา มาขณะนี้ออสเตรเลียกำลังพยายามชะลอการระบาดในรัฐวิกตอเรียเพื่อป้องกันไวรัสจู่โจมระลอกสอง

ต้นสัปดาห์นี้ วิกตอเรียซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 2 ของออสเตรเลีย ประกาศเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์บางพื้นที่ แต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ยังพบผู้ติดเชื้อ 1 ใน 3 ฝ่าฝืนกฎการกักตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันอังคาร แดเนียล แอนดรูส์ นายกรัฐมนตรีรัฐวิกตอเรียจึงกำหนดค่าปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนคำสั่งกักตัวอยู่บ้านสูงสุด 20,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 440,000 บาท ยกเว้นผู้ที่จำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาลเร่งด่วน นอกจากนั้นยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่ต้องกักตัวออกกำลังกายนอกบ้านอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี รัฐบาลออสเตรเลียประกาศเมื่อวันจันทร์ (3) ว่า ประชาชนในรัฐวิกตอเรียที่ปฏิบัติตามคำสั่งกักตัวอยู่บ้านอย่างเคร่งครัดจะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 33,000 บาท

แอนดรูส์เสริมว่า ทหารไม่ติดอาวุธอีก 500 นายจะเข้าประจำการในวิกตอเรียในสัปดาห์นี้เพื่อช่วยให้มั่นใจว่า ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งกักตัวเองอยู่บ้าน จากเดิมที่มีทหาร 1,500 นายร่วมติดตามผู้สัมผัสโรค ตรวจหาผู้ติดเชื้อ และร่วมปฏิบัติการกับตำรวจในบริเวณจุดตรวจ

ทั้งนี้ ออสเตรเลียจัดทหารเกือบ 3,000 นายร่วมสนับสนุนการต่อสู้โรคระบาดทั่วประเทศ

วันอังคาร วิกตอเรียรายงานพบผู้ติดเชื้อ 439 คนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 12,000 คน เทียบกับเกือบ 19,000 คนทั่วประเทศ และเสียชีวิต 11 คน รวมเป็น 136 คน เทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 232 คน

ที่เวียดนาม มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 10 คนในวันอังคาร รวมยอดสะสม 652 คน และเสียชีวิต 2 คน รวมเป็น 8 คน ขณะที่ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ในกรุงฮานอยเริ่มขาดแคลน

การตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบกำหนดเป้าหมายและการกักตัวอย่างเข้มงวดช่วยให้เวียดนามควบคุมการระบาดในช่วงแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขณะนี้กลับพบการระบาดแบบกลุ่มก้อนใหม่หลายจุดหลังจากไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมากว่า 3 เดือน

การระบาดครั้งใหม่ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 200 คนนับจากวันที่ 25 กรกฎาคม ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองดานัง ตอนกลางของประเทศ และลามไปยังเมืองและจังหวัดอีกอย่างน้อย 8 แห่ง รวมถึงฮานอยและนครโฮจิมินห์ มีการปิดสถานบันเทิงและห้ามการจับกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ดานังและบวนมาถ็วต ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟในแถบที่ราบสูงภาคกลางอยู่ภายใต้คำสั่งล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี โฆษกรัฐบาลเผยว่า ไม่มีแผนล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขแถลงว่า ประชาชนกว่า 80,000 คนที่เดินทางกลับจากดานังถึงฮานอยตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม ได้รับการตรวจหาเชื้อ 70,689 คน ซึ่งมีเพียง 2 คนที่ผลตรวจเป็นบวก ส่วนสาเหตุที่ยังตรวจไม่ครบเนื่องจากขาดแคลนชุดตรวจแบบรู้ผลรวดเร็ว

กระนั้น กระทรวงสาธารณสุขสำทับว่า ได้มอบหมายให้สถาบันการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ ในฮานอยเร่งหาชุดตรวจเพิ่มแล้ว ขณะที่ผู้ผลิตชุดตรวจของเวียดนามรายหนึ่งยืนยันว่า มีชุดตรวจในสต็อก 2 ล้านชุด และยินดีผลิตเพิ่มเพื่อขยายขอบเขตการตรวจหาผู้ติดเชื้อ

ที่ฟิลิปปินส์ ประชาชนกว่า 27 ล้านคนในกรุงมะนิลาและ 4 จังหวัดโดยรอบเริ่มต้นกักตัวอยู่บ้านตั้งแต่วันอังคาร หลังยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศพุ่งเกิน 100,000 คน

ส่วนอเมริกาที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 155,000 คน และติดเชื้อกว่า 4.6 ล้านคนนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตโจมตีเดเบอราห์ เบิร์กซ์ ผู้ประสานงานทีมรับมือไวรัสของทำเนียบขาวอย่างกราดเกรี้ยวว่า น่าสงสารที่เบิร์กซ์ยอมพ่ายแพ้ต่อความกดดันเพื่อให้แสดงความเห็นแง่ลบเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดในอเมริกา

ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ เบิร์กซ์เตือนว่า การระบาดในอเมริกาเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ที่ทั้งตัวเมืองและชนบทมีความเสี่ยงพอกัน

ทั่วโลกขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 18 ล้านคน และเสียชีวิตเกือบ 700,000 คน และขณะที่โลกตั้งความหวังว่าจะมีวัคซีนที่ยุติวงจรการระบาดและการล็อกดาวน์ เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ฮู) เตือนว่า ตอนนี้ยังไม่มียาวิเศษที่ว่าหรืออาจไม่มีเลยในอนาคต พร้อมแนะนำให้ภาครัฐและประชาชนทำในสิ่งที่ทำได้และเห็นผล นั่นคือ การติดตามผู้สัมผัสโรค รักษาระยะห่างทางสังคม และสวมหน้ากากป้องกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น