บลูมเบิร์ก - รัสเซียมีแผนขึ้นทะเบียนวัคซีนตัวหนึ่งสำหรับรักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ราวๆ วันที่ 10-12 สิงหาคมนี้ เปิดทางสำหรับสิ่งที่พวกผู้สนับสนุนบอกว่ามันจะเป็นวัคซีนตัวแรกของโลกที่จะได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกระบวนการซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม เปิดเผยว่า วัคซีนซึ่งร่วมพัฒนาโดยสถาบันกามาเลยาของรัสเซีย และกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund หรือ RDIF) อาจได้รับความเห็นชอบสำหรับใช้กับพลเรือน โดยคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบภายใน 3 หรือ 7 วันหลังจากจดทะเบียน
คาดหมายว่าวัคซีนกามาเลยาจะได้รับการจดทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในเดือนสิงหาคม นั่นหมายความว่ายังมีความจำเป็นต้องทำการทดลองกับอาสาสมัครอีก 1,600 คน จากการเปิดเผยของ ทัตยานา โลิโควา รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ที่กล่าวระหว่างการประชุมทางไกลร่วมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวันพุธ (29 ก.ค.) พร้อมระบุว่าการผลิตวัคซีนอาจจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน
กามาเลยา มีกำหนดเริ่มทดลองขั้น 3 ในสัปดาห์หน้า ในรัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
มิฮาอิล มูรัชโก รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนแห่งรัฐเมื่อวันเสาร์ (25 ก.ค.) ว่าวัคซีนของรัสเซียจะส่งมอบแด่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขก่อนการทดลองทางคลินิกจะเสร็จสมบูรณ์ และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ บอกว่า กว่าที่วัคซีนจะสามารถนำไปใช้ในวงกว้างก็คงต้องรอจนถึงช่วงปลายปี
“ข้อกำหนดที่สำคัญของวัคซีนดังกล่าว คือ การพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ดังนั้น การดำเนินการทุกอย่างต้องทำอย่างระมัดระวังและแม่นยำ เราต้องมั่นใจอย่างเต็มที่กับวัคซีน” ปูตินกล่าวในช่วงท้ายของการประชุม
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอาร์ไอเอ สื่อมวลชนแห่งรัฐรายงานว่า วัคซีนอาจได้รับการอนุมัติในวันที่ 15-16 สิงหาคม แต่ทางสถาบันกามาเลยาและกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซียปฏิเสธแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
แม้ผู้พัฒนาอวดอ้างว่าวัคซีนนี้มีความปลอดภัยและมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นวัคซีนตัวแรกของโลกที่เข้าจะถึงสาธารณชน แต่ด้วยที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและความรวดเร็วในการพัฒนา มันได้ก่อคำถามแก่ประเทศอื่นๆ
รัสเซียยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมากกว่า 800,000 คน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก และแม้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงกว่าครึ่งจากระดับสูงสุด แต่ปูตินบอกระหว่างการประชุมว่าบางภูมิภาคเคลื่อนไหวเร็วเกินไปในการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ หลังจากยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม
“สถานการณ์ยังคงยากลำบากและสามารถแกว่งไปได้ในทุกทิศทาง” ปูตินกล่าว “ไม่มีเหตุผลสำหรับความพึงพอใจ ผ่อนคลายและลืมคำแนะนำของคณะแพทย์”
นักวิจัยและบริษัทเวชภัณฑ์ในประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และจีนนั้น ก็กำลังเร่งมือพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 เช่นกัน
แอสตราเซนเนกา, โมเดอร์นา และไฟเซอร์ ต่างก็เริ่มทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 ในขั้นสุดท้าย ด้วยผลเบื้องต้นบางอย่างในการทดลองกับมนุษย์น่าจะออกมาอย่างเร็วที่สุดคือในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ปกติแล้วการทดลองในขั้นที่ 3 จะต้องใช้เวลานานหลายเดือน เพื่อให้เข้าใจถึงประสิทธิภาพของยาได้ดียิ่งขึ้น