เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียดัดนิสัยผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการให้ท่องโองการจากพระคัมภีร์อัลกุรอาน, ขึ้นชื่อประจานบนสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงบทลงโทษแปลกๆ อย่างการจับไปขังไว้ใน “บ้านผีสิง”
รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งทหารราว 340,000 นาย ลงพื้นที่ในกว่า 20 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อดูแลการบังคับใช้มาตรการสกัดกั้นการแพร่เชื้อโควิด-19 เช่น การสวมหน้าอนามัยในที่สาธารณะ เป็นต้น แต่ก็มีผู้นำจังหวัดบางคนที่พยายามคิดค้นวิธีการใหม่ๆ มาต่อสู้โรคระบาด
ตำรวจในจังหวัดเบิงกูลู (Bengkulu) ได้ตั้งทีมเฉพาะกิจ 40 นาย คอยตรวจตราพวกที่ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรค และบังคับให้แขวนป้ายห้อยคอ ซึ่งเขียนคำสัญญาว่าจากนี้ไปจะสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างจากผู้อื่น จากนั้นก็จะนำภาพของผู้ฝ่าฝืนเหล่านี้ไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเพื่อให้เกิดความละอายใจ
“ประชาชนในเบิงกูลูไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและการงดรวมตัวกัน” มาร์ตินาห์ หัวหน้าสำนักงานควบคุมความสงบเรียบร้อยในจังหวัดเบิงกูลู ให้สัมภาษณ์ “ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของพวกเขาและครอบครัว”
ชาวบ้านบางคนวิจารณ์บทลงโทษของตำรวจว่าไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่
ฟีร์มานชาห์ ซึ่งมีอาชีพทำประมง เล่าว่า เขาเคยถูกตำรวจสั่งลงโทษเนื่องจากไม่สวมหน้ากากอนามัยขณะออกเรือหาปลา
“ให้สวมหน้ากากตอนออกทะเล...ตลกสิ้นดี ไม่ได้มีกฎให้ใส่หน้ากากในน้ำเสียหน่อย ถ้ามีผมก็คงทำแล้วล่ะ” เขากล่าว
ห่างออกไปทางตอนเหนือที่จังหวัดอาเจะห์ ผู้ละเมิดกฎด้านสาธารณสุขถูกบังคับให้ท่องโองการจากพระคัมภีร์อัลกุรอาน ยกเว้นเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนที่กรุงจาการ์ตามีการออกกฎใหม่ในเดือนนี้ให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมไปทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำ และต้องสวมเสื้อกั๊กประจานตนเองว่าเป็นผู้ไม่เคารพกฎ
ที่เขตสราเกน (Sragen) ในจังหวัดชวากลาง ตำรวจส่งตัวผู้ที่แหกกฎช่วงโควิด-19 ไปขังไว้ตามบ้านร้างที่คนในชุมชนเชื่อว่ามีผีสิง ซึ่งเป็นบทลงโทษที่อาศัยความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติอันเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมพื้นบ้านแดนอิเหนา
จากข้อมูลล่าสุดวันนี้ (29) อินโดนีเซียซึ่งมีประชากร 260 ล้านคนพบผู้ป่วยโควิด-19 สะสมประมาณ 24,500 ราย เสียชีวิตแล้ว 1,496 ราย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ายอดผู้เสียชีวิตจริงอาจสูงกว่าที่รัฐบาลประกาศหลายเท่า เนื่องจากอัตราการตรวจหาเชื้อต่อหัวประชากรยังคงต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก