เอเจนซีส์ - ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกวันนี้ (13 พ.ค.) อยู่ที่ 291,981 คน ติดเชื้อรวม 4,262,799 คน ขณะที่อังกฤษมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3 เดือนแรกของปีที่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 หดไป 2% พบสาหัสสุดในมีนาคมกระทบหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้านผู้นำอินเดียประกาศแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 270 พันล้านดอลลาร์ ให้แรงงานและธุรกิจขนาดเล็ก
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้ (13 พ.ค.) โดยอ้างอิงจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกเกือบ 300,000 คน ในวันพุธ (13) โดยอยู่ที่ 291,981 คน ติดเชื้อรวม 4,262,799 คน ขณะที่สหรัฐฯมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดที่ 82,387 คน โดยรัฐนิวยอร์กมีผู้เสียชีวิต 27,284 คน และสหรัฐฯติดเชื้อรวม 1,369,964 คน ส่วนอังกฤษมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกอยู่ที่ 32,769 คน อังกฤษมีผู้ติดเชื้อรวมกัน 227,741 คน ขณะที่รัสเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกอยู่ที่ 232,243 คน และมีจำนวนผู้เสียชีวิต 2,116 คน
เดอะการ์เดียนรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (Office for National Statistics) ไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงระว่างการเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 พบว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ของอังกฤษระหว่าง ม.ค.-มี.ค.ตกลงไป 2%
ถือเป็นการหดตัวสูงสุดในระดับไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 หลังการล้มลงธนาคารวาณิชธนกิจสหรัฐฯ เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ไครซิสไปทั่วโลก
และพบว่า แค่เฉพาะเดือนมีนาคมพบว่า ตัวเลขจีดีพีของอังกฤษหดไปถึง 5.8% จากการที่มาตรการปิดตายได้เริ่มต้นถูกใช้ที่เห็นการปิดของร้านค้า และโรงงานต่างๆ ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยภาคอุตสาหกรรมบริการในเดือนมีนาคมตกลงไป 6.2% ผลผลิตอุตสาหกรรมตกลงไป 4.6% อุตสาหกรรมก่อสร้างตกลงไป 5.9% ส่วนภาคการท่องเที่ยวพบว่า ตกลงไปถึง 23.6% อุตสาหกรรมที่พักและการโรงแรมตกลงไป 14.6% และภาคอุตสาหกรรมอาหารและบริการอังกฤษตกลงไป 7.3% เป็นต้น
สกายนิวส์ของอังกฤษรายงานว่า รัฐมนตรีการคลังอังกฤษ ริชี ซุนาค (Rishi Sunak) ให้สัมภาษณ์ถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจว่า ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเศรษฐกิจอังกฤษหดตัวไปถึง 2% ในรอบระยะเวลา 3 เดือน ผลมาจากอังกฤษได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 พร้อมกล่าวว่า อังกฤษจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤตไปได้ เนื่องมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างของทางกระทรวงการคลังอังกฤษที่เรียกว่า “Coronavirus Job Retention Scheme” ที่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม
โครงการนี้อนุญาตให้ลูกจ้างไม่ต้องเข้าทำงานเนื่องมาจากถูกนายจ้างสั่งให้ออกจากงานชั่วคราว แต่ยังได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐที่ให้ผ่านนายจ้าง 80% ของเงินเดือน หรือแต่ละคนจะได้สูงสุด 2,500 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งที่นายจ้างออก 20% และภาครัฐออกให้ 60% โดยในเวลานี้
อังกฤษได้จ่ายให้กับลูกจ้างจำนวน 7.5 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของแรงงานในภาคเอกชน และมีบริษัทจำนวน 935,000 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนี้
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี เมื่อวานนี้ (12) ได้แสดงแผนแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาแรงงานและธุรกิจขนาดเล็กมูลค่า 270 พันล้านดอลลาร์ มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโคโรนาและมีการออกมาตรการปิดเมืองออกมาใช้
แผนเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ถูกเสนอคิดเป็น 10% ของตัวเลขจีดีพีอินเดีย “แพกเกจเป็นความเคลื่อนไหวพึ่งพาตัวเองของอินเดียที่เริ่มต้นจากกระท่อม อุตสาหกรรมระดับเล็กและระดับกลาง” โมดีกล่าวแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์
แพกเกจนี้รวมไปถึงงบเยียวยา 2 พันล้านดอลลาร์ ที่ได้ถูกประกาศในช่วงเริ่มต้นของการล็อกดาวน์เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม และความพยายามการกระตุ้นมาจากธนาคารกลางอินเดีย
อินเดียมียอดเสียชีวิตล่าสุดวันนี้ (13) ที่ 2,415 คน และติดเชื้อรวม 74,480 คน