เอเจนซีส์ - ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ทั่วโลกพุ่งเกิน 3.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 247,000 คนในวันนี้ (4 พ.ค.) ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกมาคาดการณ์ว่าอเมริกาจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้สำเร็จราวๆ สิ้นปี 2020
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (4) ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3,505,761 ราย เสียชีวิต 247,431 ราย โดยสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 1,157,945 ราย ตามมาด้วยสเปน (217,466), อิตาลี (210,717) และสหราชอาณาจักร (187,842)
ระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการ town hall ของฟ็อกซ์นิวส์ ผู้นำสหรัฐฯ ยอมรับว่า “เราอาจจะสูญเสียประชากรระหว่าง 70,000 คน, 80,000 คน เรื่อยไปจนถึง 100,000 คน มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก”
ทรัมป์ เคยแสดงความคาดหวังเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (1) ว่าอเมริกาคงจะมียอดตายไม่ถึงหลักแสน และได้ประเมินเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 60,000-70,000 คนเท่านั้น
ทรัมป์ เรียกร้องให้มีการเปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. และยังบอกด้วยว่า “เรามั่นใจมากว่าจะมีวัคซีนในราวๆ สิ้นปีนี้”
กรอบเวลาที่ ทรัมป์ ให้นั้นถือว่าเร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญเคยคาดการณ์กันไว้ ในขณะที่สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศกำลังเร่งทำการทดลองเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้เป็นเจ้าแรกของโลก
ทั้งนี้ ทรัมป์ ยืนยันว่าเขาไม่ถือสา หากประเทศอื่นสามารถคิดค้นวิธีรักษาโควิด-19 ได้ก่อนนักวิจัยอเมริกัน
“ถ้ามีประเทศอื่นทำสำเร็จก่อน ผมก็พร้อมจะถอดหมวกให้ ผมไม่แคร์ ผมแค่ต้องการวัคซีนที่มันเวิร์คจริงๆ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเสี่ยงในกระบวนการทดลองวัคซีนกับมนุษย์ที่ดูเหมือนจะเร่งรีบเกินไป ทรัมป์ ตอบว่า “พวกเขาเป็นอาสาสมัคร พวกเขารู้ดีกว่ากำลังทำอะไรอยู่”
อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ ยอมรับว่ากรอบเวลาที่เขาคิดนั้นออกจะเร็วกว่าที่บรรดาที่ปรึกษาได้คาดการณ์กันไว้
“พวกหมอคงจะเตือนผมว่า คุณไม่ควรพูดแบบนี้ แต่ผมก็จะพูดในสิ่งที่ผมคิด” ทรัมป์ กล่าว
ขณะเดียวกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรคาทอลิก ได้มีพระดำรัสในวันอาทิตย์ (3) ขอบคุณทุกฝ่ายทั่วโลกที่มอบความช่วยเหลือและบริการต่างๆ ที่จำเป็นในการต่อสู้เชื้อไวรัส และทรงเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์นานาชาติร่วมมือกันคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็ขอให้มีการแบ่งปันวัคซีนดังกล่าวไปยังทุกประเทศ
“อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องหลอมรวมศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์อย่างโปร่งใสและไม่แบ่งแยก เพื่อคิดค้นวัคซีนและแนวทางรักษา” โป๊ปตรัส
ผู้นำทั่วโลกได้ให้คำมั่นสัญญาในเดือน เม.ย. ว่าจะเร่งกระบวนการทดลองยารักษาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 และจะแชร์ตัวยาเหล่านี้ไปยังทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบ ทว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 กลับไม่ได้มีส่วนร่วมกับความริเริ่มนี้ขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ทรัมป์ ได้ประกาศตัดเงินอุดหนุน WHO โดยกล่าวหาหน่วยงานสาธารณสุขของยูเอ็นว่าตอบสนองการแพร่ระบาดของไวรัสช้าเกินไป และยังให้ความใส่ใจกับจีนมากเกินควร (china-centric) ขณะที่ WHO ยืนกรานว่าได้ออกคำเตือนและมีมาตรการรับมือต่างๆ อย่างทันท่วงทีแล้ว