เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประชาชนเกือบ 100,000 คนตรงบริเวณชายแดนติดต่อระหว่างอุซเบกิสถาน กับ คาซัคสถาน ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัย หลังจากเขื่อนแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางฟากอุซเบกเกิดแตก ทำให้กระแสน้ำไหลทะลักท่วมท้นบ้านเรือนเป็นพันๆ หลัง รวมทั้งทำลายไร่นาเป็นพื้นที่กว้าง
ผนังของอ่างเก็บน้ำจากเขื่อนซาร์โดบา ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของอุซเบกิสถานเกิดพังเมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ (1 พ.ค.) ทำให้มีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างขวาง รัฐบาลอุซเบกิสถานแจ้งว่า ได้อพยพประชาชนราว 70,000 คนจาก 22 หมู่บ้านออกจากพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นยังมีกว่า 50 คนซึ่งได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ทางด้านประธานาธิบดี คัสซิม-โจมาร์ต โตคาเยฟ ของคาซัคสถาน ทวิตเมื่อวันอาทิตย์ (3) ว่า หมู่บ้านของคาซัค 10 แห่งซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนอุซเบก ได้รับความเสียหายจาก “น้ำท่วมรุนแรง” บังคับให้ทางการต้องอพยพประชาชนราว 22,000 คน
โตคาเยฟยังกล่าวว่า รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศกำลังหารือกัน ภายหลังฝ่ายคาซัคร้องทุกข์ว่าประสบความเสียหายมากพอดู รวมทั้งไม่ได้รับการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมอย่างทันการณ์จากฝ่ายอุซเบกิสถาน
ก่อนหน้านั้นในวันอาทิตย์ (3) อุซเบกิสถานรายงานว่า ได้เปิดการสอบสวนคดีอาญาในประเด็นว่า มี“การเพิกเฉยละเลยของเจ้าหน้าที่” และมีการล่วงละเมิดกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการก่อสร้างหรือไม่
การก่อสร้างเขื่อนซาร์โดบา เริ่มขึ้นเมื่อปี 2010 ในการกำกับดูแลของ ชัฟคัต มีร์ซิโยเยฟ ประธานาธิบดีอุซเบกิสถานคนปัจจุบัน ผู้ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ
เขื่อนแห่งนี้สร้างเสร็จในปี 2017
ตั้งแต่วันศุกร์ (1) มีร์ซิโยเยฟ ได้บินไปยังพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งเกิดกระแสลมแรงและฝนตกหนักก่อนที่เขื่อนจะแตก ทั้งนี้เพื่อกำกับดูแลงานอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัยและการปฏิบัติการต่างๆ ที่จะต้องกระทำหลังน้ำท่วม
พวกเจ้าหน้าที่ในเขตเตอร์กิสถานตอนใต้ ของคาซัคสถาน ได้วิพากษ์วิจารณ์อุซเบกิสถานที่ไม่ได้ให้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันการณ์เกี่ยวกับเรื่องการควบคุมน้ำท่วมเมื่อวันเสาร์ (2)
“เรามีสำเนาการติดต่อของเรากับฝ่ายอุซเบก ซึ่ง ณ เวลา 20.00 น.ของวันศุกร์ พวกเขาบอกว่าสถานการณ์มีเสถียรภาพ และไม่มีปัญหาใดๆ” ซาเคน คัลคามานอฟ รองผู้ว่าการเขตเตอร์กิสถาน กล่าว
“พวกเขาบอกว่าจะไม่มีน้ำสักหยดไหลไปถึงอำเภอมัคตาราล” คัลคามานอฟ บอก ซึ่งหมายถึงพื้นที่ซึ่งกำลังเจอน้ำท่วมอยู่ตอนนี้ “แต่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี” เขาร้องอุทธรณ์
ฝ่ายบริหารของขตเตอร์กิสถานประมาณการว่า น้ำท่วมคราวนี้ทำให้พืชพรรณการเกษตรเสียหายเป็นเงินมากกว่า 400,000 ดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่ได้แก่ ฝ้าย ซึ่งปลูกกันตลอดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียกลาง