xs
xsm
sm
md
lg

GDP จีนจ่อตีกลับ แม้ไตรมาส 1 ดิ่ง 6.8% ลุ้นหลายปัจจัย: PPP แรง และรัฐทยอยอัดฉีด

เผยแพร่:   โดย: สีว์ เย่ว์ไน


สะพานซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในมณฑลกุ้ยโจว  ภาพโดย Wikimedia Commons/Glabb
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

China sees strong pipeline of PPP projects
by Xu Yuenai
15/04/2020

ตลาดการเงินส่วนใหญ่แสดงปฏิกิริยาในทางบวกเมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2020 แม้ทางการจีนประกาศผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาส 1 ปีนี้ เป็นตัวเลขดิ่งลงติดลบลึกถึง 6.8% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า นอกจากนั้น ขณะที่สถาบันการเงินระดับโลกจะใช้กลยุทธ์ ‘ฟังหูไว้หู’ ต่อคำประกาศของทางการจีนว่า ปัจจัยพื้นฐานแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของจีนยังมีเสถียรภาพดี ไม่มีเปลี่ยนแปลง เพราะปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเพียงเรื่องระยะสั้น กระนั้นก็ตาม โลกการเงินก็ต้องยอมรับในระดับหนึ่งว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีนนั้นแข็งแรงจริง อาทิ การลงทุนภายในประเทศในตลาดโครงการความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (PPP) ซึ่งร้อนแรงด้วยมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 9 ล้านล้านหยวน จากจำนวนโครงการราว 7,000 โครงการ ยิ่งกว่านั้น โครงการอัดฉีดจากภาครัฐทั้งในมิติของการส่งเสริมภาคค้าปลีก และในมิติของการสร้างงานในชนบท ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าจะผลักดันให้ GDP รวมของจีนในปี 2020 นี้ สูงกว่าที่บรรดาขาใหญ่ระดับโลกให้ไว้แค่ 1.2% ได้หรือไม่

ตลาดการเงินส่วนใหญ่แสดงปฏิกิริยาในทางบวกเมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2020 แม้ทางการจีนประกาศผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาส 1 ปีนี้ เป็นตัวเลขดิ่งลงติดลบลึกถึง 6.8% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า ดัชนีหุ้นนิกเกอิ 225 ของญี่ปุ่นปรับสูงขึ้น 2.6% ดัชนี S&P ASX 200 ของออสเตรเลียดีขึ้นไป 2.1% ดัชนี CSI300 ของจีนเขยิบขึ้น 1% ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงปรับขึ้น 2.4% ลงเอยแล้วดัชนีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค MSCI ก้าวหน้าขึ้นได้ 2%

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นเครื่องจักรรายใหญ่อันดับสองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ตกอยู่ในภาวะขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรกนับจากที่จีนจัดทำและเผยแพร่ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจเมื่อปี 1992 อย่างไรก็ตาม ขนาดของการหดตัวมากมายในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมดังกล่าว ไม่ได้ดุเดือดไปกว่าความคาดหมายของตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งทำนายกันในช่วง -6.0% ถึง -8.2% โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กทำโพลความคิดเห็นของสถาบันการเงินชั้นนำต่างๆ ได้ตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ -6.0% ขณะเดียวกันในส่วนของสำนักข่าวรอยเตอร์ได้ผลโพลอยู่ที่ระดับ -6.5% ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีได้ผลโพลอยู่ที่ -8.2%

นอกจากตัวเลขการขยายตัวของ GDP แล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน คือ National Bureau of Statistics (NBS) ยังประกาศตัวเลขการขยายตัวในหมวดอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่หดลงในแดนติดลบ อาทิ หมวดการลงทุนสินทรัพย์ถาวรร่วงลงไป 16.1% หมวดยอดค้าปลีกเดือนมีนาคมดิ่งหนัก 15.8% และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมติดลบ 1.1% ซึ่งถือว่าไม่สาหัสดั่งที่ภาคเอกชนคาดการณ์ไว้ที่ระดับติดลบ 6.2%

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสใหม่ โคโรน่าไวรัส หรือ โควิด-19 ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทธุรกิจ เพื่อควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อแพร่ลาม ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีพจรเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมการผลิตทางอุตสาหกรรม และสถานการณ์ค้าปลีกของประเทศ

สถานการณ์ในไตรมาสต่างๆ ข้างหน้าจะปรากฏโฉมอย่างไร หลังจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครั้งนี้ สถาบันการเงินต่างๆ ประเมินว่า GDP ของจีนจะปรับตัวขึ้นมาได้เป็นลำดับ แต่จะไปได้สูงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการฟันฝ่าปัญหาสาหัสคือ การรับมือกับผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่งออก เพราะประเทศคู่ค้าทั้งปวงของจีนได้รับความเสียหายมากมายจากโรคระบาดโควิด-19

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ให้ประมาณการว่าโควิด-19 จะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แต่ฟันธงเศรษฐกิจของจีนจะสามารถรอดพ้นภาวะถดถอย กระนั้นก็ตาม IMF ทำนายว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2020 จะทำได้แค่ระดับ 1.2%

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ระบุไว้ในศุกร์ที่ 17 เมษายนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนโดยเฉลี่ยต่อปีในรอบ 2 ปีหน้า จะอยู่ที่ระดับประมาณ 5% พร้อมนี้ Mao Shengyong โฆษก NBS กล่าวว่า เราไม่อาจพูดได้ว่าปัจจัยพื้นฐานแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของจีนมีความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากแรงกระทบจากปัจจัยระยะสั้น

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวย้ำไว้ว่าปัจจัยพื้นฐานแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของจีนยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าต่อเศรษฐกิจของจีนจะเป็นอะไรที่สั้นๆ พร้อมกับกระตุ้นให้ฝ่ายต่างๆ เพิ่มความพยายามที่จะช่วยลดผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญในเรื่องของการจ้างงาน และคอยป้องกันการเลิกจ้างล็อตใหญ่ๆ ทั้งปวง

กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศยังมีศักยภาพสูง โครงการ PPP จำนวนมากรอเปิดดำเนินการ

แม้จีนจะถูกกระหน่ำด้วยภัยคุกคามแห่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ปัจจัยเอื้อแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากภายในประเทศยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แวดวงการดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public-Private Partnership หรือ PPP) ยังเป็นไปด้วยความคึกคัก

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2020 ภาคเอกชนซึ่งกระตือรือร้นมากที่จะไขว่คว้างานจากโครงการ PPP ได้ยื่นขอทำโครงการ PPP เป็นจำนวนมากถึง 150 โครงการ ในจำนวนนี้ มีการลงนามข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว 31 โครงการ โดยมีขนาดการลงทุนทั้งหมดสูงถึง 9,000 ล้านหยวน หรือราว 1,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา The National Development and Reform Commission (NDRC) ให้ข้อมูลไว้อย่างนั้น

NDRC มิได้ให้ตัวเลขเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาส 1/2019 แต่ในบรรดา 150 โครงการ PPP ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่ยื่นเสนอเข้าไปในช่วงไตรมาส 1/2020 มีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองรวม 55 โครงการ และมีโครงการด้านการเกษตร การขนส่ง การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม, และโครงการด้านพลังงานใหม่ รวม 10 โครงการ

นับถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2019 มีการยื่นขอทำโครงการ PPP รวมได้ประมาณ 7,000 โครงการภายในมณฑลต่างๆ และภายในนครต่างๆ ของจีน ซึ่งนับรวมมูลค่าการลงทุนได้ประมาณ 9 ล้านล้านหยวน โดย 31% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการทั้งหมดนี้ กระจุกตัวอยู่ใน 5 มณฑล คือ กุ้ยโจว 510 โครงการ, อานฮุย 479 โครงการ, กวางตุ้ง 475 โครงการ, ซานตง 460 โครงการ และใน เจ้อเจียง 443 โครงการ

ทั้งนี้ NDRC ระบุว่าโครงการ PPP จำนวน 1,300 โครงการจากทั้งหมด 7,000 โครงการ สามารถบรรลุข้อตกลง และมีการลงนามกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โปรแกรมความช่วยเหลือด้วยเงินกู้ระยะกลาง

ทางการจีนส่งโปรแกรมความช่วยเหลือทางเงินเข้าไปสนับสนุนภาคเอกชนอย่างจริงจัง ในวันพุธที่ 15 เมษายน 2020 ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China หรือ PBoC) หั่นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่เป็นความช่วยเหลือด้วยเงินกู้ระยะกลาง หรือ MLF ลงไป 0.2% เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจจีน

ทั้งนี้ แบงก์ชาติจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ MLF ขนาด 100 ล้านหยวน ระยะกู้ยืม 1 ปี ซึ่งแบงก์ชาติจีนปล่อยให้แก่สถาบับการเงินต่างๆ ลงเหลือ 2.95% จาก 3.15%

MLF เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ PBoC นำมาใช้ในปี 2014 เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐสามารถรักษาสภาพคล่อง โดยสถาบันการเงินนำตราสารหนี้ไปวางค้ำประกันเพื่อขอรับสินเชื่อจากแบงก์ชาติจีน

การสนับสนุนด้านการค้าและการลงทุน

คณะบริหารการค้าเงินตราต่างประเทศแห่งชาติ หรือ (State Administration of Foreign Exchange - SAFE) ประกาศจะผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยการให้มีความสำดวกมากขึ้นแก่การค้าและการลงทุนต่างประเทศ ในการนี้ บริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจะสามารถนำเงินทุนที่ระดมมาจากต่างประเทศมาใช้จ่ายภายในประเทศได้เลยในระหว่างที่รอใบรับรองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ

ผู้ส่งออกจะได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อเงินตราต่างประเทศไปชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศซึ่งเป็นเงินกู้นอกประเทศจีนได้ ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ส่งออกจะต้องซื้อเงินตราต่างประเทศสำรองไว้ แล้วใช้เงินสำรองนี้ไปจ่ายหนี้ดังกล่าว นอกจากนั้น SAFE ยังสนับสนุนให้ธนาคารต่างๆ ช่วยเหลือเกื้อกูลธุรกิจขนาดเล็กที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการส่งออก โดยปล่อยกู้เงินตราต่างประเทศ พร้อมทั้งให้ลดขั้นตอนการยื่นขอกู้ด้วย

การสนับสนุนด้วยอี-คูปองเพื่อการชอปปิ้ง

เทศบาลอู่ฮั่นแจกอี-คูปองเพื่อการจับจ่ายใช้สอยให้แก่ชาวเมืองอู่ฮั่นรวมมูลค่า 20 ล้านหยวน โดยสามารถใช้ซื้ออาหาร ข้าวของเครื่องใช้ทั้งปวง เริ่มใช้สอยซื้อหากันได้ตั้งแต่วันพุธที่ 15 เมษายน 2020

ที่ผ่านมา เมืองต่างๆ มากกว่า 30 เมืองทั่วประเทศจีน ทำการจ่ายแจกคูปองเพื่อการชอปปิ้งให้แก่ประชาชน รวมมูลค่าคูปองได้มากกว่า 5,600 ล้านหยวน วัตถุประสงค์ของการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในรูปแบบนี้คือการช่วยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโรคระบาดโควิด-19 สามารถซื้อหาข้าวของเครื่องใช้ภายในท้องถิ่นเพื่อนำมาดำรงชีวิตในช่วงแห่งการปรับตัวสู่ชีวิตปกตินั่นเอง

การแจกคูปองเป็นวิธีที่ส่งเสริมการอยู่การกินของชาวบ้านอย่างมีประสิทธิภาพกว่าการแจกเงินสด เพราะคูปองที่แจกไปจะกำหนดช่วงเวลาเพื่อการใช้สอย นี้เป็นข้อสังเกตของหู อี้ฟาน ประธานคณะนักเศรษฐศาสตร์ทีมประเทศจีน ณ UBS Wealth Management Asia-Pacific

การสนับสนุนช่วยเหลือ SMEs

สำนักงานบริการการเงินแห่งเทศบาลเซินเจิ้น ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับด้านการเงิน ออกโครงการเงินกู้ ชื่อเรือโนอาห์ทางการเงิน (“Financial Ark”) เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในเซินเจิ้น กลุ่มแรกที่จะได้รับเงินกู้เพื่อความช่วยเหลือสนับสนุนจากธนาคารจะมีจำนวน 1,020 ราย โดยจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายดายมากขึ้นด้วยวิธี “ช่องทางสีเขียว”

SMEs กลุ่มเป้าหมายของโครงการประกอบด้วยผู้ประกอบการ 3 ประเภท ได้แก่ รายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โรคระบาด รายที่เป็นบริษัทหลักภายในห่วงโซ่อุตสาหกรรม และรายที่เป็นผู้ผลิตระดับก้าวหน้าซึ่งประสบปัญหาทางการเงินระยะสั้น

การสนับสนุนผ่านการสร้างงานแก่คนจน

ธนาคาร China Development Bank ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารเฉพาะกิจรายใหญ่ของจีน ออกพันธบัตรพิเศษล็อตใหญ่ ตั้งเป็นกองทุนมูลค่ารวม 11,000 ล้านหยวน เมื่อวันอังคารที่ 14 เมษายน 2020 โดยจะนำเงินไปบรรเทาความยากจน

โดยธนาคารจะใช้กองทุนนี้ปล่อยสินเชื่อเพื่อบรรเทาความยากจน โดยเงินกู้เหล่านี้จะอนุมัติแก่โครงการที่จะสร้างงานให้แก่คนจน เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชนบทและในเมืองใหญ่ ตลอดจนโครงการบรรเทาความยากจนด้วยอุตสาหกรรมภายในท้องถิ่นที่มีปัญหาความยากจนรุนแรง

ผู้แปลได้เพิ่มข้อมูลจากข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งของเอเชียไทมส์ คือ เรื่อง Markets rally as China decline less than feared ของ Umesh Desai https://asiatimes.com/2020/04/markets-rally-as-china-decline-less-than-feared/)
กำลังโหลดความคิดเห็น