เอเจนซีส์ – คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศประจำรัฐสภาอังกฤษเรียกผู้บริหารบริษัทอิมเมจิเนชัน เทคโนโลจีส์( Imagination Technologies) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไมโครชิพอังกฤษที่ถูกจีนซื้อไปเมื่อปี 2017 เข้าพบ วิตกว่าจีนซึ่งเป็นเจ้าของจะพยายามเคลื่อนย้ายทรัพย์สินทางปัญญาที่อ่อนไหวของบริษัทกลับไป โดยที่ทางอังกฤษเชื่อว่าอาจมีการใช้สถานการณ์โควิด-19ระบาดบังหน้า
เดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้(14 เม.ย)ว่า มีการเปิดเผยในวันอังคาร(14)ว่า สมาชิกรัฐสภาอังกฤษได้ออกคำสั่งเรียกตัวผู้บริหารบริษัทอิมเมจิเนชัน เทคโนโลจีส์( Imagination Technologies)เข้าให้การ
โดยประธานกรรมาธิการด้านการต่างประเทศที่นำโดย ทอม ทูเกนด์แฮต (Tom Tugendhat)จากพรรคคอนเซอร์เวตีฟ ต้องการคำตอบจากทางบริษัทถึงการออกมาอ้างว่า ได้ยกเลิกข้อตกลงกับรัฐบาล
ทั้งนี้บริษัทอิมเมจิเนชัน เทคโนโลจีส์ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1985 และได้ผลิตไมโครชิพที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือรวมไปถึงโทรศัพท์ไอโฟน แต่อย่างไรก็ตามในปี 2017 และทางบริษัทอ้างว่า หน่วยประมวลผลด้านกราฟฟิก 3 มิติ (GPUs)นั้นมีสัดส่วน 30% ของโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ราว 11 พันล้านเครื่อง
พบว่าบริษัทถูกซื้อไปในราคา 550 ล้านปอนด์โดยบริษัทจัดการหลักทรัพย์จีน แคนยอน บริดจ์( Canyon Bridge) ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐฯแต่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลปักกิ่ง
ทูเกนด์แฮตชี้ว่า การซื้อนั้นได้รับไฟเขียวในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ด้วยเหตุว่าบริษัทแคนยอน บริดจ์นั้นจดทะเบียนและถูกควบคุมภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ
แต่ทว่านับตั้งแต่นั้นพบว่าบริษัทได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่หมู่เกาะเคย์แมนซึ่งหมายความว่าบริษัทแคนยอน บริดจ์ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลสหรัฐฯอีกต่อไป
และส่งผลทำให้สมาชิกรัฐสภาอังกฤษเกิดความวิตกว่า เจ้าของบริษัทอิมเมจิเนชัน เทคโนโลจีส์จะแอบทำการย้ายสิทธิบัตรที่อ่อนไหวของบริษัทกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งในเวลานี้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน อยู่ภายใต้ความกดดันต้องการให้ลดอิทธิพลปักกิ่ง
ซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาอังกฤษบางส่วนได้เรียกร้องให้มีการปรับความสัมพันธ์ใหม่กับรัฐบาลปักกิ่งเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ด้วยความสงสัยต่อตัวเลขเสียชีวิตที่ทางการปักกิ่งประกาศ
โดยแหล่งข่าวถนนดาวนิง ทำเนียบรัฐบาลอังกฤษ เปิดเผยก่อนหน้าว่า รัฐบาลเผชิญหน้ากับการประเมินหลังจากการระบาดได้สิ้นสุด
ทั้งนี้พบว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์แคนยอน บริดจ์คือบริษัทไชน่า รีฟอร์ม โฮลดิงส์ (China Reform Holdings)บริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ
ซึ่งเคยมีความพยายามจากไชน่า รีฟอร์ม ในการทำยึดอำนาจบอร์ดอิมเมจิเนชัน เทคโนโลจีย์ แต่ล้มเหลว สื่ออังกฤษชี้ว่า มีสมาชิกรัฐสภาอังกฤษบางส่วนวิตกว่า สถานการณ์โรคระบาดเวลานี้อาจถูกใช้เป็นสิ่งบังหน้าจากปักกิ่งเพื่อต้องการเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีชั้นสูงออกไป
โดยทูเกนด์แฮตได้แสดงความเห็นกับบีบีซีว่า เขาวิตกว่าซอฟแวร์ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทจะสมารถถูกใช้เป็น “ประตูหลัง” เจาะเข้าสู่ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของอังกฤษ
ด้านสกายนิวส์ สื่ออังกฤษรายงานว่า Sir Hossein Yossaie อดีตผู้บริหารบริษัทอิมเมจิเนชัน เทคโนโลจีส์มาจนถึงปี 2016 แสดงความวิตกที่คล้ายกับรัฐสภาอังกฤษที่ว่า อาจมีการใช้สถานการณ์โรคระบาดเพื่อที่ปักกิ่งจะแอบเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีชั้นสูงที่คิดค้นโดยบริษัทออกไปที่แผ่นดินใหญ่
ทั้งนี้เขาได้ยื่นจดหมายต่อรัฐมนตรีหลายคนประจำกระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และกีฬาอังกฤษ (Department for Digital, Culture, Media and Sport) เพื่อให้คนเหล่านี้เข้ามาแทรกแซง
และเขายังเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทได้ติดต่อเขาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาพร้อมกับแสดงความกังวลถึงความเคลื่อนไหวของไชน่า รีฟอร์มที่ต้องการเสนอสมาชิก 4 คนสู่บอร์ดบริษัทเพื่อเปิดโอกาสให้ทางไชน่า รีฟอร์มเข้าควบคุมบริษัท
Yossaie ย้ำว่า เขาต้องการให้รัฐบาลอังกฤษเข้ามาแทรกแซงในทันทีอย่างหนักหน่วง ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้บริหารระดับสูงของอิมเมจิเนชัน เทคโนโลจีส์ 2 คนลาออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงต่อความเคลื่อนไหวของบริษัทไชน่า รีฟอร์ม
และในสัปดาห์ล่าสุดพบว่า การประชุมบอร์ดฉุกเฉินของบริษัทอิมเมจิเนชัน เทคโนโลจีส์เพื่อที่จะอนุมัติตัวแทนจากบริษัทไชน่า รีฟอร์มได้ถูกยกเลิกเนื่องมาจากคำขอของแกนนำสมาชิกรัฐสภาอังกฤษเนื่องมาจากความวิตกด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอังกฤษ