xs
xsm
sm
md
lg

‘เบลารุส’ ไม่ยกเลิกแข่งฟุตบอลลีก-ไม่ล็อกดาวน์ ขณะผู้นำประเทศแนะว่าอย่ากลัว ‘โควิด’ จนวิกลจริต ให้หมั่นอบเซาน่าและดวดวอดก้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วอชิงตันโพสต์/สำนักข่าวเอเอฟพี *-*


แฟนๆ ของทีมฟุตบอล เอฟซี มินสค์ ลงทุนถอดเสื้อเพื่อเชียร์ทีมท่ามกลางอากาศหนาว  ระหว่างแมตช์การแข่งขันในเบลารุส พรีเมียร์ ลีก กับทีม เอฟซี ดินาโม-มินสค์  ณ สนามฟุตบอลในกรุงมินสค์ ประเทศเบลารุส เมื่อวันเสาร์ (28 มี.ค.)  ทั้งนี้เบลารุสเป็นชาติยุโรปเพียงชาติเดียวที่ยังคงจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพต่อไปตามปกติ ถึงแม้ประเทศอื่นๆ ต่างใช้มาตรการล็อกดาวน์กันเป็นแถว
No lockdown here: Belarus's strongman rejects coronavirus risks. He suggests saunas and vodka
28/03/2020

เบลารุสไม่เพียงเป็นชาติยุโรปแห่งเดียวที่ยังคงจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ตลอดจนฮอกกี้น้ำแข็ง ทุกสุดสัปดาห์ตามปกติต่อไป ขณะที่ผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก กล่าวเยาะเย้ยความหวาดกลัวโควิด-19 ของชาติอื่นๆ ว่าเป็น “ความเสียสติและวิกลจริต”

เบลารุส ไม่เพียงเป็นชาติยุโรปรายเดียวที่ยังคงจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพทุกสุดสัปดาห์ตามปกติต่อไปเท่านั้น หากแต่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ซึ่งถูกโลกตะวันตกตราหน้าเป็นผู้นำจอมเผด็จการรวบอำนาจ ยังกล่าวคำพูดเยาะเย้ยความหวาดผวากลัวไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ว่าเป็น “ความเสียสติและวิกลจริต” แถมยังแนะนำบรรดาพลเมืองผู้ซึ่งไม่กล้าหยามหยัน “โควิด-19” เหมือนกับเขาว่า จงป้องกันตัวเองด้วยการไปอบซาวนาให้บ่อยๆ, ดวดเหล้าวอดก้ากันบ้าง, แล้วก็กลับไปทำงานทำการ

ขณะที่พวกประเทศรอบๆ ต่างพากันปิดชายแดน, ยกเลิกการคมนาคมขนส่งผู้โดยสาร, ห้ามจัดงานที่มีผู้คนเยอะๆ มารวมตัวกัน, และในทางเป็นจริงก็มุ่งผลักใสให้พลเมืองอยู่กันแต่ภายในบ้านนั้น เบลารุสกลับยังคงเปิดประตูบ้านอาซ่า ส่วนตัวลูคาเชนโกก็ยังคงเดินนโยบายแบบท้าทายเหมือนไม่แคร์ไวรัส

ประเทศอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตซึ่งมีประชากร 9.5 ล้านคน และตั้งอยู่ระหว่างยูเครน, โปแลนด์, รัสเซีย, ลิทัวเนีย และลัตเวีย แห่งนี้ รายงานยืนยันว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว 152 ราย ถึงแม้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ทั้งนี้ตามการรวบรวมจนถึง 21.00 น.วันจันทร์ที่ 30 มี.ค. (เวลาประเทศไทย) ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://coronavirus.jhu.edu/map.html)

กระนั้น ไม่เพียงฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเบลารุสยังคงแข่งขันกันไปตามปกติ กีฬายอดนิยมอื่นๆ อย่างฮ็อกกี้น้ำแข็งก็เหมือนกัน เช่นเดียวกับพวกโรงภาพยนตร์ยังคงกำลังโปรโมตรอบปฐมทัศน์, ขณะที่ ตลาด, ร้านรวง, บาร์, ภัตตาคารร้านอาหาร, และโบสถ์ก็เปิดทำการกันอยู่ตามปกติ โดยที่รัฐบาลไม่ได้ออกคำสั่งห้ามปรามใดๆ ทั้งสิ้น

กองทัพอากาศเบลารุสกำลังจัดการซ้อมรบภาคสนาม ขณะที่ “อีสเตอร์ จอย” (Easter Joy) งานออกร้านและแสดงนิทรรศการของคริสตจักรออโธดอกซ์ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 เมษายน ในกรุงมินสค์ ที่เป็นนครหลวง โดยเป็นงานซึ่งเน้นครอบครัวและเด็กๆ

“ความวิกลจริตนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจของชาติต่างๆ แทบทุกหนแห่งในโลกต้องกลายเป็นอัมพาต” ประธานาธิบดีลูคาเชนโก ซึ่งครองอำนาจเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1994 กล่าวในวันศุกร์ (27 มี.ค.) ขณะไปเยี่ยมโรงงาน เบลกิปส์ แพลนต์ (Belgips Plant) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแผ่นพลาสเตอร์บอร์ด

นี่เป็นธีมที่เขาพูดมาตลอดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในระยะไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้ ด้วยจุดประสงค์ที่จะโน้มน้าวให้สาธารณชนเห็นคล้อยตามเขาว่า พวกมาตรการเข้มงวดกวดขันชนิดไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนซึ่งประเทศจำนวนมากกำลังนำมาใช้ต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ระดับโลกคราวนี้นั้น ถูกกำหนดจัดวางกันขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางกลุ่มและเป็นโทษเป็นผลเสียแก่ฝ่ายอื่นๆ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม เขาวิพากษ์วิจารณ์การปิดชายแดนของชาติเพื่อนบ้านทั้ง 5 ของเบลาลุส ว่าเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ และ “ชัดเจนเหลือเกินว่าสุดจะงี่เง่า”

อีกมุมหนึ่งในช่วงการแข่งขันเบลารุส พรีเมียร์ ลีก ระหว่าง ทีมเอฟซี มินสค์  กับ ทีม เอฟซี ดินาโม-มินสค์  เมื่อวันเสาร์ (28 มี.ค.)

ไม่เพียงแค่ฟุตบอลลีกอาชีพของเบลารุส ยังคงมีผู้ชมจำนวนมากในเกมการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งสมัครเล่น ที่สนามในกรุงมินสค์ เมื่อวันเสาร์ (28 มี.ค.)
อันที่จริงมีพวกผู้นำแนวทางประชานิยมคนอื่นๆ จำนวนมากที่แสดงการดูถูกดูแคลนโควิด-19 รวมทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งประกาศตั้งแต่ต้นๆ ว่าการระบาดในสหรัฐฯ นั้น “ถูกควบคุมเอาไว้ได้มากมายเแล้ว” ขณะที่ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล เรียกไวรัสนี้ว่าเป็นเพียงแฟนตาซีของพวกสื่อมวลชน และเป็น “ไข้หวัดเล็กๆ” เท่านั้น พร้อมกับคุยว่าชาวบราซิลสามารถที่จะกระโดดลงไปในท่อระบายน้ำโสโครกโดยไม่เกิดเจ็บป่วยอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม บุรุษเหล็กลูคาเชนโกดูเหมือนจะยืนโดดเด่นเป็นสง่ายิ่งกว่าเพื่อนผู้นำประชานิยมคนอื่นๆ ในเรื่องที่เขาไม่ยอมรับนับถือประดายุทธศาสตร์ที่ประเทศทั้งหลายในโลกใช้กันเพื่อควบคุมโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้

เมื่อวันศุกร์ (27) เขาหยิบยกคำเตือนของทรัมป์ที่บอกว่า การบำบัดรักษาไม่ควรที่จะมีความเลวร้ายยิ่งกว่าตัวโรคภัยเอง มาเป็นเหตุผลความชอบธรรมรองรับวิธีการของตัวเขาเองในการยังคงให้โรงงานและธุรกิจต่างๆ เปิดทำการต่อไป และปฏิเสธไม่ยอมปิดพรมแดน

“ชีวิตยังต้องเดินหน้ากันต่อไป คุณไม่สามารถที่จะหยุดพักมันเอาไว้ก่อนได้หรอก” เขากล่าว พร้อมกับประกาศว่าเบลารุสจะไม่ยกเลิกงานเฉลิมฉลอง “วันแห่งชัยชนะ” 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่พวกทหารผ่านศึกรุ่นใหญ่วัยชราทั้งหลายจาก “สงครามรักชาติอันยิ่งใหญ่” (สงครามโลกครั้งที่ 2) จะออกมาชุมนุมรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลอง

“แนวความคิดหลักของเขาก็คือ แพนิกความตื่นตระหนักนั้นมีอันตรายยิ่งกว่าตัวไวรัสเองเสียอีก” อาร์ตยม ชราอิบมาน (Artyom Shraibman) นักวิเคราะห์การเมืองของศูนย์กลางคาร์เนกีมอสโก (Carnegie Moscow Center) ซึ่งไปตั้งฐานอยู่ในกรุงมินสค์ บอก “ดังนั้น เขาจึงอยู่ข้างเดียวกันกับทรัมป์อย่างเด็ดเดี่ยวสำหรับเหตุผลข้อโต้แย้งอันนี้ และกระทั่งยังเป็นชาวทรัมป์ยิ่งกว่าตัวทรัมป์เองด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่ได้มีการประกาศใช้พวกมาตรการจำกัดเข้มงวดใดๆ เอาเลย (ขณะที่ทรัมป์ยอมโอนอ่อนหลายอย่างหลายประการแล้วในช่วงหลังๆ มานี้)”

ลูคาเชนโกยังเพิ่งสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติดำเนินการสอบสวนตรวจตราว่า มีใครก็ตามรายงานอย่างผิดๆ เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาหรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้น ประธานาธิบดีผู้นี้ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการของนารวมแห่งหนึ่งในยุคโซเวียต ยังกำลังล้อเลียนปล่อยมุกเอาฮาเกี่ยวกับไอเดียที่ให้ระมัดระวังไว้ก่อนและใช้วิธีล็อกดาวน์ในเบลารุส อันเป็นประเทศที่เคยมีชื่อเสียงในยุคที่ยังมีค่ายโซเวียตกันอยู่ ในเรื่องโรงงานผลิตรถแทร็กเตอร์ “มินสค์ แทร็กเตอร์ เวิร์กส์” (Minsk Tractor Works) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1946

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม เขาบอกว่า แทนที่จะมัววิตกกังวลเกี่ยวกับไวรัสกันอย่างบ้าบอเช่นนี้ ตอนนี้แหละมันถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกไปทำงานในไร่นา ไปหว่านเมล็ดไปปลูกพืชพรรณธัญญาหาร

“คนเขากำลังทำงานกันในรถแทร็กเตอร์ ไม่มีใครหรอกที่กำลังพูดคุยกันเกี่ยวกับไวรัส” ลูโคเชนโก กล่าว “ที่นั่น รถแทร็กเตอร์จะเยียวยารักษาทุกๆ คน ไร่นาจะเยียวยารักษาทุกๆ คน” เขากล่าวต่อ ซึ่งกลายเป็นการจุดชนวนให้เกิด “มีม” (meme) สร้างกระแสมุกขำขันที่เผยแพร่อย่างรวดเร็วทางอินเตอร์เน็ต (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/BelarusFeed/status/1240701213277995009) โดยมีแกนกลางอยู่ที่รถแทร็กเตอร์สีแดงคันเล็กๆ รูปทรงคล้ายๆ กับยาเม็ด (https://people.onliner.by/2020/03/19/traktorin)

ลูคาเชนโกยังปล่อยมุกเกี่ยวกับว็อดก้าด้วยเช่นกัน โดยที่สุราดีกรีแรงชนิดนี้เองเมื่อครั้งยุคโซเวียต มักถูกโน้มน้าวชักจูงให้เชื่อกันว่ามันเป็น “ยา” ที่สามารถรักษาอะไรก็ได้แทบจะครอบจักรวาล ทั้งนี้เขาไม่เพียงแค่แนะนำประชาชนให้ดื่มว็อดก้าเท่านั้น แต่ให้ใช้ล้างมือด้วย (ถึงแม้ในความเป็นจริง มันไม่แรงพอที่จะฆ่าโควิด-19 ได้ โดยที่ศูนย์กลางเพื่อการควบคุมแลการป้องกันโรคของสหรํฐฯ หรือ US CDC ระบุว่าน้ำยาที่ฆ่าเชื้อได้นั้นต้องมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% ขณะที่ว็อดก้าส่วนใหญ่มีแอลกอฮอล์แค่ 40% เท่านั้น)

“ผมเองไม่ใช่คนกินเหล้าหรอก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ผมจะคอยแนะนำประชาชนว่า ไม่ควรแค่ล้างมือกันด้วยว็อดก้าเท่านั้น แต่ยังควรใช้มันปล่อยยาพิษใส่ไวรัสด้วย คุณควรดื่มสุราที่ทำให้สะอาดบริสุทธิ์นี้กันเป็นประจำทุกวันๆ ละประมาณเท่ากับ 40 ถึง 50 มิลลิลิตร” เขากล่าวเช่นนี้ในวันที่ 16 มีนาคม โดยไม่วายเล่นมุกว่า “แต่ต้องไม่ใช่ในเวลาทำงานนะ”

เขายังแนะนำประชาชนให้ “ล้างมือของคุณบ่อยขึ้น, กินอาหารเช้าให้ตรงเวลา, กินกลางวันและกินมื้อเย็นด้วย”

ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส (ขวา) ก็ไปชมเกมการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งสมัครเล่น ที่สนามในกรุงมินสค์ เมื่อวันเสาร์ (28 มี.ค.)
เขายังมีข้อเสนอแนะที่เหมือนกับวิธีการบำบัดรักษาอันลึกลับสุดอัศจรรย์ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในสื่อสังคมเวลานี้ นั้นคือ เขาแนะให้อบเซาน่ากันบ่อยๆ โดยระบุว่ามันช่วยต่อสู้กับไวรัสนี้ได้ โดยเขากล่าวว่าไวรัสนี้ต้องตายเมื่อเจออุณหภูมิสูงๆ

“ไปอบซาวน่า สักอาทิตย์ละสองครั้งสามครั้ง มันจะทำให้คุณดีขึ้น เมื่อคุณออกมาจากห้องซาวน่า ไม่ใช่เพียงแค่ล้างมือของคุณเท่านั้นนะ แต่ยังต้องล้างข้างในตัวคุณ (ด้วยว็อดก้า) สัก 100 กรัม” เขาทำนายอีกว่า ไวรัสนี้จะจากไปเมื่อถึงวันอีสเตอร์ ซึ่งสำหรับคริสตจักรออโธด็อกซ์แล้วกำหนดเฉลิมฉลองกันในปีนี้ในวันที่ 19 เมษายน

จวบจนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดี (26 มี.ค.) ที่ผ่านมานี่แหละ เบลารุสจึงเพิ่งออกข้อบังคับให้ชาวต่างประเทศซึ่งเดินทางเข้ามาต้องกักกันตัวเองเป็นเวลา 14 วัน แต่กระนั้น เบลารุสมีการดำเนินการตรวจทดสอบไวรัสโคโรนาสำหรับบุคคลที่ต้องสงสัยอยู่เหมือนกัน โดยจนถึงเวลานี้ทำไปแล้ว 24,000 ครั้ง (เปรียบเทียบกับ 250,000 ครั้งในรัสเซียที่มีพลเมือง 145 ล้านคน) นอกจากนั้นยังมีการติดตามสืบสาวหาคนที่สัมผัสกับผู้ป่วยอีกด้วย ลูคาเชนโกยังสั่งการให้โรงงานต่างๆ เพิ่มการผลิตเครื่องช่วยหายใจกันให้มากขึ้น

ทว่า เขายังคงยืนกรานว่ามาตรการล็อกดาวน์และการปิดสถานที่ทำการต่างๆ นั้นใช้ไม่ได้ผล

วิธีการรับมือเช่นนี้ของเขาไม่เพียงกระตุ้นให้ถูกโจมตีจากพวกปรปักษ์ทางการเมืองของเขาเท่านั้น มันยังสร้างความกังวลให้แก่พันธมิตรทรงอำนาจของลูคาเชนโกอีกด้วย อันได้แก่ รัสเซีย ซึ่งมีชายแดนติดกับเบลารุส รวมทั้งทั้งสองประเทศยังได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการรวมเป็นรัฐอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่เมื่อปี 1999 ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี ลูคาเชนโกกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับไวรัสของรัสเซียในเวลานี้ “เหมือนกับจะกำลังเริ่มต้นทำสงคราม”

ชราอิบมาน นักวิเคราะห์แห่งสถาบันคาร์เนกี กล่าวว่า ลูคาเชนโกมีความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังทำท่าย่างก้าวเข้ามาโดยเป็นผลจากโควิด-19 มากกว่าตัวไวรัสนี้เอง

“ภาคประชาชนและพวกกลุ่มฝ่ายค้านต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในเรื่องการรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้” เขากล่าว “ผู้คนมองไปรอบๆ พวกเขา และมองเห็นว่าประเทศอื่นๆ ทุกประเทศต่างหันไปใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปมากจากที่ลูคาเชนโกใช้อยู่”

ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมพิธีทางศาสนา ในโบสถ์คริสต์ศาสนานิกายออโธดอกซ์แห่งหนึ่ง ในเมืองดยาตโลโว ประเทศเบลารุส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม  ท่ามกลางความกังวลใจเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ผู้โดยสารรอยื่นเอกสารที่จุดตรวจพาสปอร์ต ขณะเดินทางจากเมืองตากอากาศ ชาร์ม เอล-ชัยค์ ของอียิปต์ มาถึงท่าอากาศแห่งชาติมินสค์ ของเบลารุส เมื่อวันที่ 19 มี.ค.  ทั้งนี้เบลารุสยังไม่มีนโยบายปิดชายแดน ถึงแม้พวกประเทศเพื่อนบ้านต่างพากันใช้มาตรการนี้
องค์การอนามัยโลก (ฮู) นั้น ได้ออกมารับรองวิธีการซึ่งพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของเบลารุสใช้กันในเรื่องการตรวจทดสอบ, การสอบสวนหาผู้สัมผัสคนป่วย, และการแยกผู้ป่วยโควิด-19 ตลอดจนผู้ที่สัมผัสกับพวกเขา ให้ออกไปอยู่ต่างหาก

บาตือร์ เบียร์ดืย์คลืย์เชฟ (Batyr Berdyklychev) ผู้แทนของ ฮู ในเบลารุส ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์โดยตรงต่อนโยบายต่างๆ ของลูคาเชนโก แต่กล่าวย้ำว่าการปิดประตูบ้านซึ่งใช้กันอยู่ทั่วโลกนั้น คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในความพยายามเพื่อต่อสู้กับโควิด-19

ทว่า เบียร์ดืย์คลืย์เชฟ ยอมรับด้วยว่า ไม่มีวิธีการแบบ “รองเท้าขนาดเดียว ทุกคนสามารถใส่ได้หมด”

“พวกประเทศที่มีกลุ่มผู้ติดเชื้อขนาดเล็กๆ ควรต้องติดตามหาผู้สัมผัสผู้ป่วย, ตรวจทดสอบเคสที่น่าสงสัย, แยกผู้ป่วยออกมาต่างหาก, และแนะนำประชาชนเกี่ยวกับวิธีการในการปกป้องรักษาตนเอง หากทำได้เช่นนี้ก็จะจำกัดไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดออกไปอีก” เขากล่าว

สำหรับลูคาเชนโก เขายังคงย้ำเตือนบริษัททั้งหลายว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็จะต้องรักษาคนงานของพวกเขาเอาไว้

เขาออกมาข่มขู่ในวันศุกร์ (27 มี.ค.) ว่า พวกบริษัทเอกชนที่เลย์ออฟปลดคนงาน ด้วยเหตุผลว่าเพราะความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จะถูกห้ามไม่ให้ประกอบกิจการในเบลารุสอีกในอนาคต ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเบลทีเอ (BelTA)

อเล็กซานเดอร์ เฟดูตา (Alexander Feduta) ชาวเบลารุสที่เป็นนักวิเคราะห์การเมืองอิสระ กล่าวให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อประคับประคองการดำเนินการทางเศรษฐกิจเอาไว้ต่อไปเช่นนี้ อาจจะช่วยสกัดกั้นทำให้เบลาลุสไม่ต้องเจอแรงกระหน่ำทางเศรษฐกิจในเวลานี้

แต่กระนั้น “วิกฤตการณ์ก็เพียงแค่ชะลอออกไปเท่านั้น” เขาบอก

รวบรวมเก็บความจากเรื่อง No lockdown here: Belarus's strongman rejects coronavirus risks. He suggests saunas and vodka. By Robyn Dixon ในวอชิงตันโพสต์ (https://www.washingtonpost.com/world/europe/no-lockdown-here-belaruss-strongman-rejects-coronavirus-risks-he-suggests-saunas-and-vodka/2020/03/27/7aab812c-7025-11ea-a156-0048b62cdb51_story.html) และเรื่อง Belarus ploughs lone furrow over coronavirus as football league plays on ของสำนักข่าวเอเอฟพี (https://www.france24.com/en/20200328-belarus-ploughs-lone-furrow-over-coronavirus-as-football-league-plays-on-1) รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ)
กำลังโหลดความคิดเห็น