xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัสถล่มธุรกิจอ่วมทั้งอุปสงค์-อุปทาน ต้องขวนขวายงัดสารพัดวิธีสู้เพื่ออยู่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - บริษัททั่วโลกงัดแผนลดต้นทุน ปลดพนักงาน ระงับการจ่ายปันผล รวมถึงขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ เพื่อรับมือวิกฤตไวรัสโคโรนาและมาตรการเหล็กควบคุมการระบาดของทางการที่กระทบอย่างจังต่อทั้งอุปสงค์-อุปทาน

รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคธุรกิจรวมมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ บางชาติประกาศความพร้อมแปรรูปธุรกิจบางอย่างเป็นของรัฐหากจำเป็น และต่อไปนี้คือมาตรการบางส่วนที่ภาคธุรกิจกำลังปรับใช้

กิจการขนาดใหญ่หลายแห่ง โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ พากันลดหรือระงับการผลิต ตัวอย่างเช่น “บิ๊กทรี” ของอเมริกา ได้แก่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส, เฟียตไครสเลอร์ และ ฟอร์ด ที่จะพักการผลิตชั่วคราวทั่วอเมริกาเหนือจนถึงสิ้นเดือน

นิสสันของญี่ปุ่นระงับการผลิตในโรงงานในซันเดอร์แลนด์ทางเหนือของอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่สุดในยุโรปของบริษัท รวมทั้งปิดโรงงานในสเปนและอินโดนีเซีย

เปอโยต์-ซีตรอง ของฝรั่งเศสหยุดการผลิตทั้งหมดในยุโรป ขณะที่เฟียตไครสเลอร์เตรียมปิดโรงงานส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกับฟอร์ด

เรโนลต์จากแดนน้ำหอมเช่นเดียวกัน ระงับการผลิตในฝรั่งเศส สเปน สโลวีเนีย โรมาเนีย โปรตุเกส และ โมร็อกโก โฟล์กสวาเกน ของเยอรมนี ปิดโรงงานส่วนใหญ่ในยุโรป 2-3 สัปดาห์ ขณะที่เพื่อนร่วมชาติอย่างบีเอ็มดับเบิลยูปิดโรงงานในยุโรปและแอฟริกาใต้นาน 1 เดือน

มิชลิน ผู้ผลิตยางชั้นแนวหน้า ระงับการผลิตในฝรั่งเศสและสเปน 4 วัน เพื่อยกระดับความปลอดภัยในที่ทำงาน กุชชี่ ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมในเครือเคอริง ปิดโรงงานทั้งหมดถึงวันศุกร์ (20 มี.ค.) ส่วนแอร์เมสปิดจนถึงสิ้นเดือน ฟลิกซ์บัสและบลาบลาบัส ผู้ให้บริการรถโดยสารระยะไกลในเมืองเบียร์ ระงับการให้บริการตามมาตรการจำกัดการเดินทาง

ผู้ค้าปลีกมากมายในอเมริกาปิดเอาต์เล็ตบางแห่งหรือทั้งหมด ในจำนวนนี้รวมถึงไนกี้, เมซี่ส์ และ แก็ป ขณะที่ห้างดังของนิวยอร์ก แซคส์ ฟิฟธ์ อะเวนิว ปิดให้บริการ และแอปเปิลปิดร้านทั่วโลก ยกเว้นในจีน

อุตสาหกรรมการเดินทางรับเคราะห์หนักมาก เชนโรงแรมแมริออทของอเมริกาปิดโรงแรมบางแห่ง และให้พนักงานนับหมื่นคนลาพัก สายการบินโดนทั้งขึ้นทั้งล่องจากดีมานด์ที่ดิ่งลงและมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลก

แอโรฟลอตของรัสเซียขอให้พนักงานที่มีวันหยุดสะสมใช้สิทธิ์ลาพัก ด้าน แอร์ ฟรานซ์ เตรียมลดชั่วโมงการทำงาน ขณะที่หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้พนักงานเข้าถึงสวัสดิการความช่วยเหลือจากรัฐง่ายขึ้น หากถูกบังคับให้เปลี่ยนไปทำงานชั่วคราว เช่นเดียวกับไรอันแอร์ สายการบินโลว์คอสต์ที่ก่อนหน้านี้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินส่วนใหญ่นับจากวันที่ 24 เดือนนี้ ที่เตรียมลดชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งอนุญาตให้พนักงานเดินทางออกนอกประเทศโดยสมัครใจและระงับสัญญาจ้างงานชั่วคราว

การบังคับให้พนักงานลาออกชั่วคราวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในหลายประเทศ เช่น สเปน อย่างไรก็ตาม บริษัทบางแห่งเลือกปลดพนักงาน เช่น ดิกสัน คาร์โฟน ผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือในสหราชอาณาจักร ที่ประกาศปลดพนักงาน 2,900 คน

หลายบริษัทกำลังเร่งลดต้นทุน เช่น แอร์ ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม ที่ถูกบังคับให้ลดเที่ยวบินถึง 90% และเตรียมลดการลงทุนในปีนี้ 380 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งหาวิธีอื่นๆ ในการลดต้นทุนอีก 215 ล้านดอลลาร์เพื่อให้มีเงินสดเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน

แควนตัสของออสเตรเลียประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (19 มี.ค.) ในการลดเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดปลายเดือนนี้ หลังจากสายการบินหลักในประเทศอีกแห่ง คือ เวอร์จิน ปิดให้บริการนอกประเทศเช่นเดียวกัน ลุฟท์ฮันซ่าเลือกลดเที่ยวบิน 90% และงดจ่ายปันผลจากกำไรในปี 2019

บริษัทมากมายไม่ลังเลที่จะตอบรับข้อเสนอความช่วยเหลือจากรัฐ ทียูไอ บริษัทการท่องเที่ยวใหญ่ของเยอรมนีที่ว่าจ้างพนักงาน 70,000 คนทั่วโลก และระงับการดำเนินงานส่วนใหญ่ ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐแล้ว

ทั้งนี้ รัฐบาลเยอรมนีให้สัญญาจัดหาสินเชื่อไม่จำกัดให้แก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิดผ่านเคเอฟดับเบิลยู ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ

สายการบินในสหรัฐฯ ขอรับความช่วยเหลือ 50,000 ล้านดอลลาร์ และ โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ ขอรับอย่างน้อย 60,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น ทางการอเมริกายังอัดฉีดตลาดสำคัญที่บริษัทต่างๆ ใช้ระดมทุนระยะสั้น

รัฐบาลอิตาลีมีแผนแปรรูปอลิตาเลียเป็นสายการบินแห่งชาติอีกครั้ง ภายใต้แผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจฉุกเฉิน เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่พร้อมแปรรูปบริษัทขนาดใหญ่เป็นกิจการของรัฐหากจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น