เอพี - ทางการอิหร่านออกมาเตือนวานนี้ (17 มี.ค.) ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจคร่าชีวิตพลเมืองถึง 3.5 ล้านคน หากประชาชนส่วนใหญ่ยังเพิกเฉยต่อคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และไม่งดการเดินทางในช่วงนี้
คำเตือนจากผู้สื่อข่าวของรัฐบาลซึ่งเป็นแพทย์ด้วยมีขึ้น หลังจากเมื่อค่ำวันจันทร์ (16) มีกลุ่มมุสลิมชีอะห์ฮาร์ดไลน์พยายามบุกเข้าไปในศาสนสถานสำคัญ 2 แห่งที่รัฐบาลสั่งปิดเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส
ผู้ติดเชื้อราว 9 ใน 10 จากทั้งหมด 18,000 คนในภูมิภาคตะวันออกกลางล้วนมีที่มาจากอิหร่าน ซึ่งในช่วงแรกๆ รัฐบาลเตหะรานก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีความเสี่ยงที่เชื้อจะระบาดในวงกว้าง
เจ้าหน้าที่อิหร่านได้ตั้งด่านตรวจประชาชนซึ่งเริ่มเดินทางออกจากเมืองใหญ่ๆ เพื่อกลับภูมิลำเนาในเทศกาลเนารุซ (Nowruz) หรือวันปีใหม่เปอร์เซียซึ่งตรงกับวันศุกร์นี้ (20) ทว่ายังไม่มีการสั่งกักกันโรค
ตัวเลขผู้เสียชีวิตในอิหร่านพุ่งขึ้น 13% เมื่อวันอังคาร (17) โดยโฆษกกระทรวงสาธารณสุข คิอานูช จาฮันปูร์ ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 135 ราย รวมเป็น 988 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 16,000 รายทั่วประเทศ
ผู้ติดเชื้อในอิหร่านส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และสามารถหายจากโรคได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือไวรัสสามารถแพร่สู่บุคคลอื่นได้ง่ายแม้ผู้ติดเชื้อจะยังไม่แสดงอาการ และในรายที่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ และถึงขั้นเสียชีวิต
ดร.อาฟรุซ เอสลามี (Afrux Eslami) ผู้สื่อข่าวหญิงของรัฐบาลอิหร่าน อ้างผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชารีฟในกรุงเตหะราน ซึ่งได้ประเมินสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเอาไว้ 3 ทาง คือ 1) หากประชาชนให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ยอดผู้ติดเชื้อในอิหร่านจะหยุดอยู่ที่ 120,000 คน และมีผู้เสียชีวิตราว 12,000 คน และ 2) หากประชาชนร่วมมือในระดับปานกลาง ยอดผู้ติดเชื้อจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ราวๆ 300,000 คน และเสียชีวิต 110,000 คน
แต่หากสถานการณ์เข้าขั้นเลวร้าย ประชาชนไม่ฟังคำเตือนของภาครัฐ ระบบสาธารณสุขของอิหร่านที่ทำงานเกินกำลังอยู่แล้วอาจล้มเหลวสิ้นเชิง “ถ้าโรงพยาบาลไม่เพียงพอ เราจะมีผู้ป่วยถึง 4 ล้านคน และอาจมีคนตายมากถึง 3.5 ล้านคน” เอสลามี กล่าว
เอสลามี ไม่ได้ชี้แจงระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษา แต่การแถลงข้อมูลลักษณะนี้ผ่านสื่อของรัฐซึ่งมีการควบคุมเข้มงวดก็นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของรัฐบาลเตหะราน จากเดิมซึ่งเคยประกาศเสียงแข็งว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่หลายคนกลัว
อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ได้ออกคำฟัตวา (คำตัดสินทางศาสนา) ห้ามประชาชนเดินทางโดยไม่มีเหตุจำเป็น หลังจากชาวอิหร่านส่วนใหญ่ยังไม่สนคำเตือนและคำขอร้องจากหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งถือว่าไม่บ่อยนักที่ คอเมเนอี จะออกคำสั่งขั้นเด็ดขาดเช่นนี้