รอยเตอร์ - บริษัท แอมะซอน (Amazon) ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซของอเมริกา ประกาศจะรับพนักงานคุมโกดังสินค้าและจัดส่งสินค้าในสหรัฐฯ เพิ่มอีก 100,000 คนวานนี้ (16 มี.ค.) หลังลูกค้าส่วนใหญ่หันมาสั่งสินค้าออนไลน์กันมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
กระแสตื่นกลัว ‘โควิด-19’ ทำให้ชาวอเมริกันแห่เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อสินค้าจำเป็นมากักตุน เพราะเกรงว่าจะมีคำสั่งกักกันโรค ซึ่งห้างค้าปลีกเองก็พยายามจัดหาสินค้าจำพวกอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยต่างๆ มาเพิ่มในสต็อกอยู่ตลอดเวลา และต้องมีพนักงานดูแลทั้งในส่วนของการจำหน่ายภายในห้าง และการจัดส่งสินค้าตามบ้าน
เช่นเดียวกับแอมะซอน เครือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ อย่างแอลเบิร์ตสันส์ (Albertsons), โครเกอร์ (Kroger) และเรลีย์ส (Raley’s) ก็ประกาศรับพนักงานเพิ่มเพื่อตอบสนองจำนวนลูกค้าในร้านและคำสั่งซื้อออนไลน์เช่นกัน โดยมุ่งความสนใจไปที่แรงงานร้านอาหาร, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และภาคบันเทิงที่เวลานี้มีคนว่างงานจำนวนมากเนื่องจากพิษโควิด-19
“เราอยากให้คนกลุ่มนี้ทราบว่า เรายินดีต้อนรับพวกเขามาร่วมทีม จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ และนายจ้างเก่าพร้อมที่จะรับพวกเขากลับเข้าทำงานอีกครั้ง” แอมะซอน ประกาศผ่านบล็อก https://blog.aboutamazon.com/operations/amazon-opening-100000-new-roles
บริษัทขนส่งพัสดุรายใหญ่อย่าง ยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส อิงค์ ยืนยันวานนี้ (16) ว่ายังคงให้บริการจัดส่งสินค้าทั้งทางบกและทางอากาศตามปกติ แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มจำกัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ และพนักงานที่มีอยู่ก็เพียงพอต่อความต้องการ
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปแล้วกว่า 7,100 คน และบีบให้หลายประเทศหันมาใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อยับยั้งการระบาด ยังทำให้สินค้าหลายชนิดขาดตลาดบนเว็บแอมะซอน และการจัดส่งต้องล่าช้ากว่าปกติ
แอมะซอนจะจ้างพนักงานมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยในช่วงหยุดยาวที่ผ่านมาบริษัทมีพนักงานทั้งแบบเต็มเวลาและพาร์ทไทม์รวมกันถึง 798,000 คน
เพื่อดึงดูดแรงงานใหม่ๆ แอมะซอนยังประกาศทุ่มทุน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเพิ่มค่าแรงให้กับพนักงานในอเมริกาอีกชั่วโมงละ 2 ดอลลาร์ จากอัตราขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงไปจนถึงเดือน เม.ย. เช่นเดียวกับพนักงานในสหราชอาณาจักรและยุโรปซึ่งจะได้ค่าแรงรายชั่วโมงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 ปอนด์ และ 2 ยูโร ตามลำดับ
ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการจำกัดการเดินทางของภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อจัดส่งสินค้ามากน้อยเพียงใด โดยเมื่อวันจันทร์ (16) ทางการได้มีคำสั่งให้ผู้ที่อาศัยอยู่รอบอ่าวซานฟรานซิสโกเก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัย เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ เช่น “ทำงานให้กับบริษัทที่ต้องจัดส่งอาหาร สินค้าในครัวเรือน และบริการต่างๆ ให้แก่ประชาชน” เป็นต้น