xs
xsm
sm
md
lg

‘ไวรัสระบาด’ กำลังทำให้การหย่าร้างแยกขาดระหว่าง‘สหรัฐฯ-จีน’ยิ่งเป็นจริงเป็นจัง

เผยแพร่:   โดย: คริสตินา ลิน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Coronavirus solidifies US-China decoupling
By Christina Lin
15/02/2020

วิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด กำลังเร่งทำให้ความแตกแยกระหว่างตะวันออกกับตะวันตกดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ท่ามกลางความหวาดกลัวจะเกิดสงครามความขัดแย้งขึ้นมา ถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังคงเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) อยู่ในกรุงปักกิ่งขณะเข้าร่วมงาน “เวทีประชุมเศรษฐกิจอนาคตข้างหน้าของบลูมเบิร์ก” (Bloomberg Next Economy Forum) เขากล่าวเตือนว่าสหรัฐฯกับจีนกำลังอยู่ตรงบริเวณ “เชิงเขาแห่งสงครามเย็น” (foothills of a Cold War) [1] แล้ว โดยที่สงครามความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นมาได้นั้น สามารถที่จะเลวร้ายยิ่งเสียกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยซ้ำ ถ้าหากปล่อยปละทิ้งให้ดำเนินไปอย่างไม่มีการจำกัดทัดทาน

ความคิดเห็นเหล่านี้ของเขาปรากฏขึ้นมาภายในบริบทของความตึงเครียดที่กำลังบานปลายขยายตัวในช่วงปีหลังๆ มานี้ ทั้งทางด้านการค้า, วาทกรรมแบบความขัดแย้งทางทหารซึ่งกำลังเพิ่มพูนขึ้นทั้งในประเด็นเรื่องไต้หวันและทะเลจีนใต้, การกล่าวหาใส่กันในเรื่องการทำจารกรรมและการรณรงค์สร้างอิทธิพล, รวมทั้งการแข่งขันชิงชัยกันอย่างไม่มีบันยะบันยังเพื่อการนิยามจำกัดความบรรทัดฐานต่างๆ และค่านิยมต่างๆ ซึ่งอยู่เบื้องลึกลงไปของระเบียบระหว่างประเทศ

อีกหนึ่งเดือนให้หลัง นั่นคือในเดือนธันวาคม มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทางภาคกลางของจีน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความตระหนกตื่นกลัวไปทั่วโลก และเกิดการกักกันโรคต่อเศรษฐกิจจีนในทางพฤตินัย ทั้งด้วยมาตรการต่างๆ ในการปิดตายการเข้าออกนคร[2], การปิดทำการธุรกิจ, และการที่ประชาคมระหว่างประเทศห้ามการเดินทางไปจีนและห้ามผู้ที่มาจากจีนเข้าประเทศ

ด้วยการที่วอชิงตันมีการปรับเปลี่ยนนโยบายว่าด้วยจีน จากที่เคยใช้นโยบายมุ่งมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ก็กลายมาเป็นการปิดล้อมจำกัดวงและการหย่าร้างแยกขาดจากกัน (decoupling)ในยุคของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ผู้สังเกตการณ์บางราย เป็นต้นว่า เคอร์ติส ชิน (Curtis Chin) นักวิจัยด้านเอเชียของสถาบันมิลเคน (Milken Institute) เชื่อว่า ไวรัสโคโรนาคราวนี้กำลังกลายเป็นตัวเร่งการหย่าร้างแยกขาดจากจีน [3] เนื่องจากมีประเทศต่างๆ และธุรกิจต่างๆ “ขบคิดพิจารณาเกี่ยวกับสายโซ่อุปทาน (supply chain) ของพวกเขาในช่วงระยะยาว”

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) เห็นดีเห็นงามกับทัศนะเช่นนี้ และมองว่าวิกฤตการณ์โรคระบาดใหญ่ของจีนครั้งนี้ คือโอกาสที่จะนำเอาตำแหน่งงานต่างๆ กลับคืนมาสู่สหรัฐฯ [4] เวลาเดียวกันนั้น พวกเหยี่ยวก็พากันใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้สหรัฐฯต่อต้าน (boycott), ถอนการลงทุน (divest), และลงโทษ (sanction) (ทั้ง 3 ด้านนี้มีการใช้อักษรย่อรวมๆ ว่า BDS) จีน พร้อมกันนั้นก็มีการส่งเสียงเตือนด้วยว่า ปักกิ่งกำลังทำสงครามชีวภาพ ผ่านทางห้องแล็ปวิทยาไวรัส (virology lab) แห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น [5] รวมทั้งเรียกร้องสหรัฐฯให้ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่จีน [6] และเปิดทางให้ไวรัส “อาละวาดไปทั่วเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่ระดับชั้นต่างๆ” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนั้นพวกเขายังบอกกล่าวกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้กำลังถูกใช้ให้กลายเป็นสายของจีนไปโดยไม่รู้ตัว [7] อีกทั้งพวกเขายังคงสืบต่อผลักดันให้สหรัฐฯใช้ทั้งการขึ้นภาษีศุลกากรทางการค้า [8] และมาตรการลงโทษอย่างอื่นๆ [9] เพื่อเล่นงานเศรษฐกิจจีน

ความผูกพันที่เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ

ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ พวกนักจับจ้องมองจีน (China watcher) กำลังสั่นระฆังเตือนภัยเสียงดังขึ้นทุกทีในเรื่องที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังเสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้วที่จะต้องได้ยินเหตุผลข้อโต้แย้งที่เตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังแตกแยกออกมาเป็นเขตอิทธิพลอเมริกันและเขตอิทธิพลจีนซึ่งต่างฝ่ายต่างก็กีดกันไม่ต้อนรับอีกฝ่ายหนึ่ง เควิน รัดด์ (Kevin Rudd) [10] อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เพิ่งเตือนว่าถ้าหากเราเคลื่อนตัวไปสู่ “โลกที่หย่าร้างขาดออกจากกัน” อย่างเต็มที่จริงๆ แล้ว มันก็จะเหมือนกับการหวนกลับไปสู่ยุคที่มี “ม่านเหล็ก” กางกั้นระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก และ “การเริ่มต้นขึ้นของการแข่งขันอาวุธครั้งใหม่ทั้งอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธตามแบบแผนธรรมดา โดยที่ผู้เข้าร่วมในการชิงชัยนี้ทุกๆ รายล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญความไร้เสถียรภาพทางยุทธศาสตร์และความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์”

อย่างไรก็ตาม หยุน ซุน (Yun Sun) [11] จากศูนย์สติมสัน (Stimson Centre) บอกว่า แท้ที่จริงสหรัฐฯกับจีนได้เข้าสู่ภาวะการทำสงครามทอนกำลังกัน (war of attrition) เรียบร้อยแล้ว โดยที่ตัวแสดงทั้งสองรายนี้และฝ่ายที่สามอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบและทิศทางของสายโซ่อุปทานของพวกตน และหันเหสายโซ่อุปทานเหล่านี้ไปยังที่อื่นๆ เธอเตือนว่าถ้าหากการหย่าร้างแยกขาดจากกันนี้ส่งผลทำให้ในทั้งสองประเทศเกิดการตัดขาดผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกันอย่างหมดสิ้น เหลือทิ้งเอาไว้แต่พวกผลประโยชน์ซึ่งมีความขัดแย้งกันอยู่อย่างดิบเถื่อนและถ่องแท้แล้ว มันก็จะเป็นเส้นทางที่มีอันตราย –เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันทางทหาร ทัศนะเช่นนี้ปรากฏว่าต้องตรงกันกับของ พลโท คาร์ล ไอเคนเบอร์รี (Lt. Gen. Karl Eikenberry) นายทหารอาวุโสที่เกษียณอายุแล้วของกองทัพบกสหรัฐฯ

พลโทไอเคนเบอร์รี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) กำลังกล่าวเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “อุบัติเหตุทางทหาร (military accident) [12] หรือ การคาดคำนวณผิดในทางยุทธการ (operational miscalculation)” ระหว่างกองทัพของประเทศทั้งสองท่ามกลางกระบวนการหย่าร้างแยกขาดจากกันนี้ ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมามีตัวอย่างอยู่มากมายทีเดียวเกี่ยวกับเหตุการณ์ซึ่งจวนเจียนจะเกิดการปะทะกันระหว่างกำลังทหารของสองประเทศอยู่แล้ว เป็นต้นว่า ในปี 2018 เรือพิฆาตลำหนึ่งของจีน กับเรือพิฆาตลำหนึ่งของนาวีสหรัฐฯ เกือบแล่นชนกันในเขตทะเลจีนใต้ ส่วนในเดือนเมษายน 2001 เครื่องบินของกองทัพเรือสหรัฐฯลำหนึ่งได้ชนปะทะกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นลำหนึ่งของฝ่ายจีน และถูกบังคับให้ต้องร่อนลงจอดในเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) หรือเมื่อปี 1996 สหรัฐฯได้ทิ้งระเบิดใส่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเบลเกรด โดยบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ ทว่าสถานการณ์ร้อนฉ่าเหล่านี้ยังไม่ได้อันไหนนำไปสู่สงคราม

อย่างไรก็ตาม จากความตึงเครียดที่พุ่งพรวดขึ้นสูงระหว่างประเทศทั้งสอง สมทบด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันรวดเร็วในภาคผู้บริโภค ขณะเดียวกันนั้น ปริมณฑลของการทำสงครามก็ได้ขยายเข้าไปในภาคไซเบอร์และภาคเทคโนโลยี ไอเคนเบอร์รีบอกว่าเวลานี้วอชิงตันกำลังเน้นหนักโฟกัสไปที่ “กระบวนการสร้างความมั่นคงให้แก่การแลกเปลี่ยนต่างๆ ในทางเศรษฐกิจ” (securitization of economic exchanges) และด้วยเหตุนี้ การทำข้อตกลงต่างๆ ทางการค้าจึงไม่ใช่เรื่องความพยายามแก้ไขการขาดดุลอีกต่อไปแล้ว หากแต่เพื่อให้บรรลุผลพวงทางด้านความมั่นคงในวงกว้างออกไป ดังนั้น ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ในทางการทูตหรือในทางทหารขึ้นมาอีกครั้งภายในบริบทที่เต็มไปด้วยความเครียดเค้นนี้แล้ว ไอเคนเบอร์รีเชื่อว่า “ผลต่อเนื่องที่ติดตามมาจะใหญ่โตยิ่งกว่าอดีตที่ผ่านมามากมายนัก”

นอกเหนือจากในแวดวงเศรษฐกิจและแวดวงการทหารแล้ว กระบวนการหย่าร้างแยกขาดจากกันยังกำลังเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นของการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและในระดับท้องถิ่นของการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชนอีกด้วย บทความชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 [13] เปิดเผยให้ทราบว่า สหรัฐฯกำลังพยายามมุ่งกำจัดพวกนักวิทยาศาสตร์เชื้อสายจีน โดยรวมไปถึงพวกที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯด้วย ให้ออกไปจากการทำงานวิจัยด้านมะเร็งในสถาบันระดับท็อปทั้งหลาย ตลอดจนในโครงการอื่นๆ หลายหลากในแวดวงวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์, และคณิตศาสตร์ (science, technology, engineering, mathematics ใช้คำย่อโดยรวมว่า STEM) ทั้งนี้สถาบันจำนวนมากได้จับมือเป็นหุ้นส่วนกับสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ในการกำหนดเป้าหมายเพ่งเล็งพวกนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการชาวจีนที่จะถูกตรวจตราเฝ้าระวัง จนก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในหมู่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียว่า นี่อาจจะเป็นการโซซัดโซเซอย่างน่ากลัวอันตรายจนกระทั่งเข้าสู่เส้นทางแห่งโรคจิตหวาดระแวง (paranoia) และการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเชื้อชาติ (racial profiling) [14] ทำนองเดียวกับการรณรงค์ของจีนที่มุ่งเลือกปฏิบัติเอากับคนชาติพันธุ์อุยกูร์ในซินเจียง

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2015 หลังจากเกิดกรณีอันผิดพลาดจนเกิดความเสียหายขึ้นมาหลายๆ กรณี ส.ส.เท็ด ลิว (Ted Lieu) (สังกัดพรรคเดโมแครต จากเขตทอร์แรนซ์ Torrance รัฐแคลิฟอร์เนีย) [15] และ ส.ส.สหรัฐฯอีก 42 คน [16] ได้หยิบยกความวิตกกังวลเหล่านี้ขึ้นมาพูดจากับกระทรวงยุติธรรม ทว่าเมื่อประสบกับสภาพแวดล้อมแห่งความหวาดกลัวและตึงเครียดซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในบรรดาสถาบันวิชาการทั้งหลายเวลานี้ เรื่องการแลกเปลี่ยนนักวิชาการและความร่วมมือประสานกันในการทำวิจัยระดับทวิภาคีจึงกำลังตกอยู่ในภาวะเย็นชา อีกทั้งการหย่าร้างแยกขาดจากกันเช่นนี้ทำท่าว่าน่าจะดำเนินต่อไปอีก

“ช่วงขณะที่อยู่ในจุดสูงสุด” ?

เมื่อคำนึงในแง่ที่ว่า คิสซิงเจอร์นั้นขึ้นชื่อลือชาเรื่องความสามารถสังเกตเล็งการณ์เกี่ยวกับอนาคตได้อย่างแม่นยำ ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งยวดนี้จึงดูเหมือนว่าคำเตือนของเขาว่าด้วยสงครามเย็นครั้งใหม่ทำท่าจะเป็นไปได้ทีเดียว พอล เฮเนิล (Paul Haenle) [17] ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาด้านเอเชียให้แก่ทั้งประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวเอาไว้ดังนี้: “ถ้าคุณไปพูดคุยกับพวกเจ้าหน้าที่ในเพนตากอน พวกเขาจะบอกว่าพวกเขาไม่ได้ถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องที่ว่าจีนเป็นศัตรูใช่หรือไม่กันอีกต่อไปแล้ว หากแต่พวกเขากำลังวางแผนเพื่อสงคราม ... และถ้าคุณไปพูดเกี่ยวกับความร่วมมือ (กับจีน) คุณก็จะ (ถูกมองว่า) ช่างไร้เดียงสาเหลือเกิน”

อีแวน ออสนอส (Evan Osnos) [18] แห่งนิตยสาร “เดอะ นิวยอร์กเกอร์” (The New Yorker) ชี้ให้เห็นว่า คิสซิงเจอร์นั้นเปรียบเทียบสถานการณ์ทวิภาคีในปัจจุบันว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงอย่างไม่ชวนให้สบายใจเลยกับสงครามโลกครั้งแรก ในมุมมองเช่นนั้น สงครามการค้าคือสัญญาณแห่งลางร้ายของการแยกขั้วแบ่งข้างในทางเศรษฐกิจ แบบเดียวกับที่ทำให้อังกฤษเป็นปรปักษ์ต่อต้านเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (สงครามนี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 1914 - 1918) โดยบ่อยครั้งที่สงครามการค้าเช่นนี้เองเป็นอารัมภบทของสงครามจริงที่จะเกิดติดตามมา

“ถ้ามัน (ความขัดแย้ง) แช่แข็งยืดเยื้อ จนกลายเป็นความขัดแย้งอันถาวรขึ้นมา แล้วคุณก็มีกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่มกำลังเผชิญหน้ากันและกันอยู่” คิสซิงเจอร์กล่าว “เมื่อนั้นอันตรายแบบสถานการณ์ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็อยู่ในระดับใหญ่โตมหึมา หากมองย้อนเข้าไปในประวัติศาสตร์ ไม่มีผู้นำคนไหนเลยซึ่งเริ่มต้นก่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมา จะยังคงทำเช่นนั้นหรอก ถ้าพวกเขาเกิดทราบขึ้นมาว่าโลกทำท่าจะถึงจุดจบแล้ว นี่แหละคือสถานการณ์แบบที่เราจะต้องคอยหลีกเลี่ยง”

อ็อด อาร์น เวสตัด (Odd Arne Westad) [19] นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล เห็นพ้องกับทัศนะเช่นนี้ เขาชี้เอาไว้ว่า “แน่นอนทีเดียว ข้อเปรียบเทียบ (ระหว่างปัจจุบัน) กับช่วงก่อนหน้าปี 1914 ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องการเติบโตขยายตัวขึ้นเป็นมหาอำนาจของเยอรมนีเท่านั้น ผมคิดว่า สิ่งที่เราจำเป็นต้องเน้นหนักให้ความสนใจก็คือ จริงๆ แล้วอะไรคือตัวที่นำไปสู่สงคราม สิ่งที่นำไปสู่สงครามคือความหวาดกลัวของฝ่ายเยอรมันที่ว่า พวกเขากำลังต้องตกอยู่ในฐานะซึ่งพลังอำนาจของพวกเขาจะไม่สามารถเข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า จากความเข้มแข็งที่พวกเขามีอยู่แล้ว นี่แหละคือสิ่งที่พวกเขาคิดกันเมื่อช่วงฤดูร้อนของปี 1914 ช่วงขณะที่อยู่ในจุดสูงสุด”

ออสนอสยังพูดเตือนภัยเอาไว้ว่า ในปัจจุบันความเสี่ยงที่ใหญ่โตที่สุดได้แก่ความมืดบอดซึ่งถือกำเนิดจากความโง่เขลา, ความโอหัง, หรือไม่ก็จากอุดมการณ์ อย่างที่เราสามารถมองเห็นเป็นประจักษ์พยานจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้นำเอาทั้งสองประเทศเข้าไปสู่ปากขอบเหวแห่งสงคราม ความรับรู้ความเข้าใจอย่างผิดๆ นั้น สามารถที่จะนำไปสู่การคาดคำนวณอย่างผิดๆ [20] ตลอดจนการขยายตัวบานปลายของความขัดแย้ง

ด้วยเหตุนี้ ออสนอสจึงเตือนว่า ถ้าวอชิงตันประสงค์ที่จะเล่นพนันในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ โดยอาศัยการทำนายทายทักอย่างลวกๆ สะเพร่า ตลอดจนอุดมการณ์ในทางการค้าแล้ว ผลต่อเนื่องซึ่งเกิดติดตามมาจะร้ายแรงสาหัสนัก และถ้าหาก สี เห็นดีเห็นงามกับภาพสถานการณ์ที่ว่าอเมริกามุ่งมั่นตั้งใจที่จะกีดกันจีนออกจากความเจริญมั่งคั่ง และพยายามทำให้จีนตกต่ำแล้ว เขาก็อาจจะเกิดความรับรู้ความเข้าใจอย่างผิดๆ ขึ้นมาว่า เวลานี้แหละ คือ “ช่วงขณะที่อยู่ในจุดสูงสุด” ของเขาแล้ว

เชิงอรรถ

[1] https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-11-21/kissinger-says-u-s-and-china-in-foothills-of-a-cold-war
[2] https://foreignpolicy.com/2020/02/05/china-lockdown-wuhan-coronavirus-government-propaganda-xi-jinping/
[3] https://www.cnbc.com/2020/02/12/coronavirus-effect-on-us-china-decoupling-versus-trade-war-milken.html
[4] https://www.nytimes.com/2020/01/30/business/economy/wilbur-ross-coronavirus-jobs.html
[5] https://www.buzzfeednews.com/article/janelytvynenko/a-site-tied-to-steve-bannon-is-writing-fake-news-about-the
[6] https://www.dailymail.co.uk/news/article-7986727/Kyle-Bass-says-let-coronavirus-rampage-Chinas-Communist-Party.html
[7] https://www.the-american-interest.com/2020/02/13/pompeo-to-governors-china-is-using-you/
[8] https://twitter.com/GordonGChang/status/1228291653124984833
[9] https://economictimes.indiatimes.com/news/international/world-news/us-house-passes-bill-on-sanctions-against-chinese-officials-for-meddling-in-dalai-lamas-succession/articleshow/73723531.cms?from=mdr
[10] https://china.ucsd.edu/_files/11042019_ellsworth-lecture-speech.pdf
[11] https://www.stimson.org/2019/managing-fallout-us-china-trade-war/
[12] https://www.cnbc.com/2019/11/21/ex-us-army-official-warns-of-military-accident-amid-us-china-tensions.html
[13] https://www.bloomberg.com/news/features/2019-06-13/the-u-s-is-purging-chinese-americans-from-top-cancer-research
[14] https://raskin.house.gov/media/press-releases/raskin-voices-concern-about-racial-profiling-chinese-americans
[15] https://www.vice.com/en_us/article/59eybd/why-does-the-fbi-keep-arresting-asian-american-scientists
[16] https://www.latimes.com/politics/la-pol-ca-ted-lieu-espionage-letter-story.html
[17] https://www.newyorker.com/magazine/2020/01/13/the-future-of-americas-contest-with-china
[18] https://www.newyorker.com/magazine/2020/01/13/the-future-of-americas-contest-with-china
[19] https://www.newyorker.com/magazine/2020/01/13/the-future-of-americas-contest-with-china
[20] https://www.nytimes.com/2020/02/13/us/politics/iran-trump-administration.html
กำลังโหลดความคิดเห็น