รอยเตอร์ - เนื้อค้างคาวยังคงได้รับความนิยมในบางพื้นที่ของอินโดนีเซีย แม้ผลวิจัยบ่งชี้ว่าโคโรนาไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดในจีนและลุกลามสู่หลายประเทศ อาจต้นตอจากค้างคาว ก่อนที่มันจะแพร่เชื้อสู่มนุษย์
แต่ดั้งเดิมเนื้อค้างคาวนิยมบริโภคกันในหมู่ชนพื้นเมือง “มินาฮาซา” ในสุลาเวสีเหนือ ในรูปแบบของแกงกะทิค้างคาว โดยใช้ค้างคาวทั้งตัวลงไปในแกงกะทิ ในนั้นรวมถึงส่วนหัวและปีกของมัน
“มัน(โคโรนาไวรัส) ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย” สเตนลีย์ ทิมบูเลง พ่อค้าให้สัมภาษณ์จากแผงขายเนื้อค้างคาวในเมืองโตโมฮอน ในสุลาเวสีเหนือ “ความจริงคือ มันยังขายได้ ขายหมดเกลี้ยงเหมือนเคย”
โดยเฉลี่ยต่อวัน ทิมบูเลง ขายค้างคาวได้ 50-60 ตัว แต่หากเป็นช่วงเทศกาล เขาเคยขายได้สูงสุดถึง 600 ตัว “ค้างคาวเป็นอาหารพื้นเมืองที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในสุลาเวสีเหนือ” วิลเลียม วี.วองโซ บอกกับรอยเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารอินโดนีเซียกล่าว “ส่วนที่ผมชอบก็คือส่วนปีกของมัน”
ต่อมบริเวณรักแร้จะถูกเลาะออกและจะมีการตัดคอของมันทิ้งเพื่อกำจัดกลิ่นสาปของมัน จากนั้นก็จะนำตัวมันไปลนไฟหรือเผาเพื่อเอาขนออก ก่อนหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปประกอบอาการร่วมกับเครื่องเทศ พริกและกระทิ จนได้เมนูเปิปพิสดารแกงกะทะค้างคาวหรือที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกกันว่า paniki
ว่ากันว่าโคโรนาไวรัสมีต้นตอจากตลาดค้าเนื้อสัตว์แห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งลักลอบค้าเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ด้วยพวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเชื่อว่ามันมีแหล่งกำเนิดจากค้างคาว จากนั้นก็แพร่เชื้อสู่คน และเป็นไปได้ว่าการติดต่อผ่านสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ
องค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลในวันอังคาร (11 ก.พ.) ว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ในจีนแล้ว 42,708 ราย ในนั้นเสียชีวิต 1,017 คน ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ และตามดินแดนต่างๆ นอกจีนแผ่นดินใหญ่เพียง 319 คน ในนั้นเสียชีวิต 2 คน หนึ่งในนั้นตายในฮ่องกง ส่วนอีกคนเสียชีวิตในฟิลิปปินส์
แม้ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซีย แต่การแพร่ระบาดกระตุ้นให้ร้านอาหารพื้นเมืองมินาฮาซา ในกรุงจาการ์ตา ต้องถอดค้างคาวออกจากเมนู อย่างไรก็ตาม ชาวมินาฮาซาก็ยังคงหาซื้อค้างคาวมารับประทานกันตามปกติ