โรงงานรถยนต์แห่งซึ่งมีชื่อเสียงว่าสามารถผลิตรถได้มากที่สุดในโลก ต้องหยุดเดินเครื่องจักรในวันศุกร์ (7 ก.พ.) ที่ผ่านมา
บริษัทฮุนไดของเกาหลีใต้ต้องระงับการดำเนินงาน ณ โรงงานยักษ์ในเมืองอุลซานของตนแห่งนี้ เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนบางชิ้น สืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังทำให้การผลิตทางอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ของจีนกลายเป็นอัมพาต
กลุ่มอาคารที่เป็นเครือข่ายของโรงงานต่างๆ 5 โรงนี้ สามารถผลิตรถได้ 1.4 ล้านคันต่อปี ในสถานที่ตั้งบริเวณชายฝั่งทะเลซึ่งอำนวยความสะดวกให้แก่การนำเข้าชิ้นส่วนประกอบต่างๆ และการส่งรถยนต์ที่ผลิตเสร็จแล้วออกไปทั่วโลก
สายโซ่อุปทาน (supply lines) มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในเศรษฐกิจของพิภพมนุษย์ซึ่งมีการเชื่อมโยงพัวพันกันมากขึ้นทุกที แต่จากการระบาดของเชื้อไวรัสอู่ฮั่นในประเทศจีน จึงมีโรงงานถูกสั่งปิดไปในหลายๆ พื้นที่ ในความพยายามที่จะหาทางปิดล้อมควบคุมโรคติดต่อชนิดนี้
ผลที่ออกมาก็คือ ฮุนได –ซึ่งเมื่อรวมกับ เกีย ที่เป็นแบรนด์ในเครือของตนแล้ว มีฐานะเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 5 ของโลก— ประสบปัญหาขาดแคลน “มัดสายไฟ” (wiring harness) ซึ่งทำหน้าที่ต่อเชื่อมระบบอิเล็กทรอนิกส์อันสลับซับซ้อนภายในรถ
บริษัทกำลังระงับการผลิตประมาณครึ่งหนึ่ง ตามโรงงานต่างๆ ของตนทั่วเกาหลีใต้ ทำให้คนงานจำนวน 25,000 คนอยู่ในภาวะถูกบังคับให้ลาหยุดและได้รับค่าจ้างเพียงบางส่วน กลายเป็นเหยื่อผู้มีสุขภาพดีแต่ต้องรับผลจากโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นในดินแดนอีกฟากฝั่งหนึ่งของทะเลเหลือง
“เป็นเรื่องน่าอายสุดๆ ที่ผมไปทำงานที่โรงงานไม่ได้และต้องถูกตัดเงินรายได้” คนงานแซ่ปัก ซึ่งทำงานในสายการผลิตที่อุลซาน คร่ำครวญ “มันเป็นความรู้สึกที่แย่มากๆ”
แต่การปิดโรงงานแห่งนี้อาจเป็นตัวอย่างแรกของปรากฏการณ์ที่จะทยอยเกิดขึ้นมาในทั่วโลก นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวเตือน
เฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับฮุนไดก็ชวนให้น้ำตาตกแล้ว โดยพวกนักวิเคราะห์ประมาณการว่าหากโรงงานในเกาหลีใต้หยุดไป 5 วัน จะทำให้บริษัทขาดทุนไปอย่างน้อย 600,000 ล้านวอน (ราว 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 15,760 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม ฮุนไดไม่ได้เป็นรายเดียวที่ติดบัญชีรายชื่อบริษัทผู้บาดเจ็บจากเชื้อไวรัสระบาดครั้งนี้ เกียก็จะปิดโรงงาน 3 แห่งชั่วคราวเป็นเวลา 1 วันในวันจันทร์ (10) สาขาเกาหลีใต้ของ เรโนลต์ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ฝรั่งเศส กำลังพิจารณาปิดโรงงานของตนในเมืองปูซานสัปดาห์หน้า ขณะที่ ไมค์ แมนลีย์ ซีอีโอของเฟียตไครสเลอร์ บอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า บริษัทของเขาถูกบังคับให้ต้องหยุดเดินเครื่องโรงงานที่อยู่ในยุโรปไปแล้ว 1 แห่ง
พวกนักวิเคราะห์เตือนว่า ความยุ่งยากจะยิ่งขยายใหญ่โตกว้างขวางออกไป ถ้าปักกิ่งยังคงต้องสั่งหยุดงานต่อไปอีกเนื่องจากเชื้อไวรัส
“ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเราไม่รู้ว่าการระบาดในจีนจะมีการพัฒนาคลี่คลายต่อไปอย่างไร” ชอง อิน-คโย อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอินฮา ในเกาหลีใต้ กล่าวให้ความเห็น
“พวกบริษัทเกาหลีใต้พึ่งพาอาศัยจีนอย่างมากมายในเรื่องชิ้นส่วน ปัญหาอยู่ที่ว่ากระทั่งชิ้นส่วนขาดหายไปแค่อย่างเดียว คุณก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว”
เขาพูดต่อไปว่า “ดิสรัปชั่นกำลังเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น และมันจะแผ่ลามไปไกลกว่าภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยซ้ำไป”
“ไม่มีสักประเภทนึงเลยที่ไม่ได้มีชิ้นส่วนซึ่งผลิตจากโรงงานในจีน”
ทุกๆ คนเจอผลกระทบหมด
สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐฯเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแดนมังกร
การส่งออกไปยังสหรัฐฯจากจีนและฮ่องกงรวมกัน –สินค้าจีนจำนวนมากถูกลำเลียงไปส่งออกที่ฮ่องกง— รวมแล้วมีมูลค่ามากกว่า 450,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ติดตามด้วยยอดการนำเข้าของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่มากกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้กับเวียดนามก็นำเข้าสินค้าจากจีนและฮ่องกงสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์
ทางด้าน มาร์ก แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ มูดี้ส์ แอนาลิติกส์ สำทับว่า “จีนกลายเป็นส่วนที่ขาดหายไม่ได้ของสายโซ่อุปทานการผลิตอุตสาหกรรมระดับทั่วโลกไปแล้ว โดยเป็นผู้มีส่วนอยู่ประมาณหนึ่งในห้าของผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตในทั่วโลก”
เขากล่าวต่อไปว่า พวกเพื่อนบ้านของจีนจะเจอผลกระทบในเรื่องสายโซ่อุปทานก่อนคนอื่น โดยเขาเอ่ยชื่อ ไต้หวันและเวียดนาม ติดตามมาด้วยมาเลเซียและเกาหลีใต้
ขณะที่ คริสทิน ดซิคเซค แห่ง ศูนย์กลางเพื่อการวิจัยด้านรถยนต์ (Center for Automotive Research) ของสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองแอนน์อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน ของสหรัฐฯ เสริมว่า สำหรับอเมริกาแล้ว ผลกระทบจะเกิดขึ้นช้า เนื่องจากความยาวของสายโซ่อุปทาน แต่อาจประสบในรูปของผลกระทบขั้นที่สอง นั่นคือขาดแคลนชิ้นส่วนซึ่งส่งมาจากตลาดต่างแดนแห่งอื่นๆ ที่ผลิตเพิ่มเติมขึ้นจากชิ้นส่วนของจีน
พวกผู้ผลิตรถยนต์และซัปพลายเออร์เวลานี้ “กำลังประเมินผลและวางแผนเรื่องวิธีการในการหลบหลีกภาวะหยุดชะงัก” เธอกล่าว “แต่มันไม่ได้มีศักยภาพในขนาดใหญ่โตแบบจีน กำลังนั่งอยู่นิ่งๆ รอคอยที่จะเข้าเติมเต็มในช่องว่างที่กำลังเกิดขึ้นมาหรอกนะ แล้วมันยังเป็นเรื่องลำบากที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ที่ทุกๆ คนเจอผลกระทบหมด”
หาทาง‘ป้องกัน’แล้วแต่ก็‘ยังไม่พอ’
อุตสาหกรรมรถยนต์โลกเคยจ่อมจมลงสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายมาแล้ว เมื่อตอนที่โรงงานเรเนซัสอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิต “ไมโครคอนโทรลเลอร์” (microcontroller อุปกรณ์ที่เหมือนกับเป็นระบบคอมพิวเตอร์ชนาดเล็กคอยทำหน้าที่ควบคุม) ที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งและใช้กันอย่างกว้างขวางในรถยนต์ต่างๆ ต้องหยุดการผลิตสืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่ฟุกุชิมะปี 2011
พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า หลังจากนั้นมา สายโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมนี้ก็มีลักษณะที่กระจายตัวเพิ่มขึ้นมาก
“พวกโรงงานผลิตรถยนต์มีระบบที่อาศัยแหล่งต่างๆ หลายๆ แหล่ง เพราะมองเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงเกินไปถ้าหากมีแค่ซัปพลายเออร์เจ้าเดียวในสถานที่แห่งเดียว ที่คอยส่งชิ้นส่วนแต่ละอย่างให้” เฟอร์ดินันด์ ดูเดนเฮฟเฟอร์ ผู้อำนวยการของ ศูนย์กลางเพื่อการวิจัยด้านรถยนต์ (Center for Automotive Research) ของเยอรมนี บอก
เขาชี้ต่อไปว่า เวลานี้มันกลายเป็นมาตรฐานไปแล้วที่ว่าชิ้นส่วนหนึ่งๆ จะต้องจัดหาจาก “ซัปพลายเออร์เจ้าต่างกันอย่างน้อยที่สุด 2 เจ้า” และกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากบริษัทผู้ซัปพลายชิ้นส่วนมีความโน้มเอียงที่จะอยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับสายการประกอบรถยนต์ ดังนั้น “อุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปหรือในอเมริกาจึงเจอผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเกิดความเสี่ยงจากจีน หากเปรียบเทียบกับพวกประเทศในเอเชียอย่างเช่นเกาหลีหรืออินเดีย”
อย่างไรก็ดี ขนาดใช้แหล่งซัปพลาย “มัดสายไฟ” จากบริษัทต่างๆ กัน 3 รายแล้ว ก็ยังคงประสบความล้มเหลวไม่สามารถปกป้องพวกโรงงานในเกาหลีใต้ของฮุนไดได้
“เราควรต้องมีซัปพลายเออร์ที่กระจายมากขึ้นกว่านี้อีก” คนงานการผลิตแซ่ปัก กล่าว “มันเป็นเรื่องน่าอายที่มาถึงจุดนี้แล้วเราไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเราพึ่งพาอาศัยประเทศหนึ่งประเทศเดียวมากเกินไป”
(เก็บความจากเรื่อง Coronavirus claims world's biggest capacity car plant ของสำนักข่าวเอเอฟพี)