xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งโอมาน ‘สวรรคต’ สิริรวมพระชนม์ 79 พรรษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านกอบูส บิน สะอีด แห่งโอมาน
รอยเตอร์ - สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านกอบูส บิน สะอีด แห่งโอมาน หนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดของโลกตะวันออกกลาง เสด็จสวรรคตวานนี้ (10 ม.ค.) สิริรวมพระชนมายุได้ 79 พรรษา ขณะที่สภาทหารสูงสุดของโอมานเปิดประชุมหารือกับสมาชิกพระราชวงศ์เพื่อคัดเลือกประมุขพระองค์ใหม่

รัฐบาลโอมานได้ประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน และมีการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 40 วัน

สำนักข่าว ONA ของทางการโอมานไม่ได้ระบุสาเหตุของการสวรรคต ทว่าสมเด็จพระราชาธิบดีทรงพระประชวรมาเป็นเวลานานหลายปี และเพิ่งเสด็จฯ ไปเข้ารับการรักษาที่เบลเยียมเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว

เนื่องจากสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านกอบูสไม่ทรงมีพระราชโอรส-ธิดา ทั้งยังไม่มีการสถาปนาองค์รัชทายาท ตามกฎหมายปี 1996 จึงเป็นหน้าที่ของพระราชวงศ์ที่จะต้องคัดเลือกกษัตริย์พระองค์ใหม่ภายใน 3 วันหลังจากที่ราชบัลลังก์ว่างลง

สภาทหารสูงสุดโอมานได้ออกแถลงการณ์เปิดประชุมหารือกับสภาราชวงศ์ในวันนี้ (11) ซึ่งหากไม่สามารถตกลงกันได้ สภาทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง, คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด และประธานสภาที่ปรึกษา 2 สภา จะยกสิทธิ์การปกครองประเทศให้แก่ผู้ที่ถูกระบุชื่อในพระราชหัตถเลขาปิดผนึกซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีทรงเขียนไว้

ผู้สังเกตการณ์ในโอมานเชื่อว่า หนึ่งในพระราชภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) 3 พระองค์ ได้แก่ อัสซาด, ชิฮาบ และฮัยษัม บิน ตอรีก อัล-สะอีด น่าจะได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่

การสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งโอมานเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับฝ่ายสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย

โอมานซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับวอชิงตันและเตหะรานเคยรับบทคนกลางในการเจรจาลับระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านเมื่อปี 2013 จนนำมาสู่ข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 ในปี 2015 ซึ่งต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ ในยุค โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวออกไป