xs
xsm
sm
md
lg

‘ตำรวจ-ผู้ประท้วงฝรั่งเศส’ปะทะเดือด วาระครบ1ปีของขบวนการ‘เสื้อกั๊กเหลือง’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพมุมกว้างแสดงให้เห็นพวกผู้ประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ปะทะกับตำรวจที่บริเวณจัตุรัส ปลาซ ดิตาลี ในกรุงปารีส เมื่อวันเสาร์ (16 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ ซึ่งมุ่งประท้วงประธานาธิดบีเอมมานูเอล มาครง และนโยบายปฏิรูปของเขา
b>เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – ตำรวจฝรั่งเศสยิงแก๊สน้ำตาและเครื่องฉีดน้ำแรงสูง เพื่อขับไล่กลุ่มผู้ประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ซึ่งใช้ก้อนหินและขวดเป็นอาวุธ เมื่อวันเสาร์ (16 พ.ย.) ในกรุงปารีส ในวาระครบรอบ 1 ปีแรกของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ที่มุ่งท้าทายนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง

การปะทะกันในขนาดที่เล็กกว่านี้ ยังเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่อื่นๆ อีกหลายแห่งของฝรั่งเศส ขณะที่พวกนักเคลื่อนไหวออกมาชุมนุมกันเพื่อพิสูจน์ว่าขบวนการเคลื่อนไหวของพวกเขายังคงมีพลังอยู่ 1 ปีหลังจากการประท้วงขนาดยักษ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2018 ซึ่งเรียกระดมผู้มาเข้าร่วมได้ 282,000 คน

ทั้งจำนวนผู้ร่วมการประท้วงและระดับของความรุนแรงได้ลดลงอย่างฮวบฮาบนับจากจุดสูงสุดของขบวนการนี้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาสืบเนื่องจากความหงุดหงิดผิดหวังในตัวมาครง ที่ถูกมองว่าบกพร่องล้มเหลวไม่ได้แก้ไขคลี่คลายความต้องการต่างๆ ของประชาชนคนธรรมดาชาวฝรั่งเศส

แต่การประท้วงในวันเสาร์ (16) ซึ่งพวกผู้เดินขบวนเรียกว่า “ตอนที่ 53” ของการชุมนุมทุกสัปดาห์ของพวกเขา ได้กลายเป็นหลักหมายบันทึกถึงการปะทะกันอย่างดุเดือดครั้งแรกระหว่างกองกำลังความมั่นคงกับพวกผู้ชุมนุมเดินขบวน ในรอบหลายๆ เดือนที่ผ่านมา ณ บริเวณใจกลางเมืองหลวง

กระทรวงมหาดไทยให้ตัวเลขผู้เข้าร่วมการประท้วงทั่วประเทศคราวนี้เอาไว้ที่ 28,600 คน แต่ทางฝ่ายผู้จัดบอกว่ามีจำนวนร่วมๆ 40,000 คน

ผู้ประท้วงช่วยกันยกรถยนต์คันหนึ่งให้พลิกคว่ำ บริเวณใกล้ๆ จัตุรัส ปลาซ ดิตาลี ในกรุงปารีส วันเสาร์ (16 พ.ย.)

พนักงานดับเพลิงพยายามดับไฟที่ไหม้รถยนต์คันหนึ่งซึ่งถูกกลุ่มผู้ประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” พลิกคว่ำและจุดไฟเผา บริเวณจัตุรัส ปลาซ ดิตาลี
จุดที่เกิดความตึงเครียดกันหนักที่สุด คือบริเวณจัตุรัส ปลาซ ดิตาลี ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของปารีส โดยตำรวจในชุดปราบจลาจลได้ระดมยิงทั้งแก๊สน้ำตาและใช้เครื่องฉีดน้ำกำลังแรง ภายหลังพวกผู้ชุมนุมเดินขบวนซึ่งจำนวนมากแต่งกายชุดดำและปกปิดใบหน้าเอาไว้ ได้เข้าทุบทำลายสาขาในย่านนั้นของธนาคารเอชเอสบีซี รวมทั้งขว้างก้อนหินและขวดเข้าใส่ตำรวจ, จุดไฟเผาถังขยะ, ยกรถพลิกหงายท้องไปหลายคันแล้วจากนั้นก็จุดไฟเผาเช่นกัน, ตลอดจนตั้งเครื่องกีดขวางปิดกั้นถนน

ศูนย์การค้าใหญ่แห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวได้ปิดประตูทางเข้าของตน หลังจากผู้ประท้วงหลายสิบคนขว้างก้อนหินเข้าใส่หน้าต่างของโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ ผู้เดินขบวนหลายสิบคนรวมทั้งนักหนังสือพิมพ์อิสระรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ

ตำรวจแถลงว่าได้จับกุมผู้ประท้วงไป 147 คนทั่วทั้งปารีส โดยในจำนวนนี้ได้คุมขังเอาไว้ 78 คน

ก่อนหน้านั้นในตอนบ่ายวันเดียวกัน ผู้บัญชาการตำรวจปารีส ดิดิเยร์ ลัลเลอมองต์ ได้ออกคำสั่งห้ามการชุมนุมเดินขบวนที่ปลาซ ดิตาลี หลังจากได้อนุญาตไปก่อนหน้านั้น โดยเขาประณามว่า การเดินขบวนนี้ “สร้างความเสียหายและโจมตีอย่างเป็นระบบมุ่งเล่นงานกองกำลังความมั่นคงและหน่วยดับเพลิง”

ตำรวจปารีสยังยิงแก๊สน้ำตาเพื่อขับไล่พวกผู้เดินขบวน ในย่านเลส์ อัลเลส์ ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์ ปอมปิดู เซนเตอร์ ที่อยู่ติดกับประตูชัย อาร์ค เดอ ทริออมป์ ขณะที่พวกผู้ประท้วงเตรียมตัวจะเดินขบวนเพื่อข้ามเมืองไปยังย่าน ญาร์ ดุสแตร์ลิตซ์

นอกจากนั้นตำรวจยังได้เข้าขัดขวางผู้เดินขบวนสองสามร้อยคน ที่พยายามเข้ายึดถนนสายวงแหวนของปารีส

ในเมืองใหญ่อื่นๆ มีรายงานว่าการเดินขบวนสวมเสื้อกั๊กเหลืองดำเนินไปด้วยความสงบเป็นส่วนใหญ่ โดยที่มีผู้คนราว 1,000 คนออกมาเดินขบวนในเมืองมาร์เซย์ ทางภาคใต้ฝรั่งเศส กระนั้นก็ได้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้เดินขบวนในบางจุด เป็นต้นว่าที่เมืองบอร์โดซ์ และเมืองตูลุส ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เมืองนองต์ ในภาคตะวันตก และเมืองลิยง ทางภาคตะวันออก

กลุ่มผู้ประท้วงยืนอยู่ข้างหลังเครื่องกีดขวาง บริเวณใกล้ๆ จัตุรัส ปลาซ ดิตาลี  ในกรุงปารีส วันเสาร์ (16 พ.ย.)
ขบวนการประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง ได้ชื่อมาจากเสื้อกั๊กสีเหลืองสดใสที่ผู้เดินขบวนจำนวนมากนำมาสวมใส่ การประท้วงของพวกเขาปะทุขึ้นเมื่อรัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันรวมทั้งค่าครองชีพก็สูงลิ่ว จากนั้นก็แผ่ลามกลายเป็นการต่อต้านทั้งประธานาธิบดีมาครงและนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจของเขาซึ่งถูกโจมตีว่ามุ่งให้ประโยชน์แก่พวกทุนขนาดใหญ่

การประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายที่หนักหน่วงที่สุดในยุคการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของมาครง ก่อนที่มันจะหดตัวลงไปมากเมื่อถึงต้นฤดูร้อนปีนี้

การต่อสู้ของพวกเขา ได้วิวัฒนาการจากการปิดกั้นถนนสายต่างๆ ทั่วประเทศ มาเป็นการเดินขบวนอย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์ซึ่งมักจบลงด้วยความรุนแรง โดยเกิดการปะทะกับตำรวจ นอกจากนั้นยังมีการทุบทำลายข้าวของร้านรวง ทั้งในปารีสและเมืองใหญ่อื่นๆ

วิกฤตการณ์นี้บังคับให้มาครงต้องยินยอมผ่อนปรนทางนโยบาย และชะลอการปฏิรูประลอกต่อไป ซึ่งก็รวมถึงการยกเครื่องระบบการจ่ายบำนาญและระบบการปลดคนงาน

แผนการของมาครงมุ่งทำให้การจ่ายบำนาญลดความซับซ้อนและลดภาระนายจ้าง โดยเขาบอกว่าจะทำให้ระบบมีความเป็นธรรมมากขึ้น ทว่ากลายเป็นที่ชิงชังโกรธเกรี้ยวของทางฝ่ายลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น