xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: เบื้องลึก ‘คนเวียดนาม’ เสี่ยงชีวิตไป‘ขุดทอง’ในยุโรป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ภาพถ่ายของ บุ่ย ถิ นุง  ติดตั้งอยู่บนสถานที่บูชาในบ้านของเธอที่จังหวัดเหงะอาน ประเทศเวียดนาม เมื่อวันอาทิตย์ (27 ต.ค.) หวั่นเกรงกันว่าเธอเป็นผู้หนึ่งใน 39 คนซึ่งเสียชีวิตในรถตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็น ที่ประเทศอังกฤษ </i>
ชาวเวียดนามหนุ่มสาวผู้ยากจนแต่มุ่งมั่นหวังสูง กำลังเสี่ยงชีวิตของพวกเขาด้วยการเดินทางไปยังยุโรป โดยพร้อมที่จะแบกรับหนี้สินก้อนโตและเข้าร่วมขบวนเดินทางในเส้นทางค้ามนุษย์สายเก่าที่ยังคงเต็มไปด้วยอันตราย ด้วยความหวังที่จะก้าวสู่อนาคตซึ่งดีขึ้นกว่าเดิม ในสถานที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตรจากบ้านเกิดในชนบทของพวกเขา

อันตรายของการเดินทางข้ามเข้าไปในยุโรปอย่างผิดกฎหมายเช่นนี้ แบเปลือยเปล่าออกมาให้เห็นอย่างถนัดในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อชาย 31 คนและหญิงอีก 8 คนถูกพบกลายเป็นศพในตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นที่ประเทศอังกฤษ

ตอนแรกทีเดียว ตำรวจอังกฤษบอกว่าเหยื่อเหล่านี้เป็นชาวจีน แต่มาถึงเวลานี้ เกรงกันว่าพวกเขาเหล่านี้แทบทั้งหมดเป็นผู้ที่มาจากเวียดนาม

ผู้อพยพชาวเวียดนามจำนวนมาก มาจากไม่กี่จังหวัดทางภาคกลางของประเทศ ที่ซึ่งพวกนักค้ามนุษย์ตั้งเป้ามุ่งดึงดูดล่อใจคนหนุ่มสาวผู้ไม่พอใจชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันของพวกเขา ด้วยคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับลู่ทางโอกาสที่จะได้ทำงานค่าตอบแทนสูงๆ ในต่างแดน

ความเบื่อหน่ายชีวิตหมู่บ้านชนบท และสุดทนกับการขาดไร้โอกาส รวมทั้งพลังล่อใจของการเดินทางไปขุดทองในต่างแดน ดูเพียงพอแล้วที่จะดึงดูดคนหนุ่มคนสาวจำนวนมากให้เริ่มต้นทริปการเดินทางที่แสนเสี่ยงของพวกเขา

ในหมู่คนเหล่านี้ จำนวนมากเป็นผู้มีอายุไม่ถึง 30 ปีเศษๆ ซึ่งถือเป็นพวกที่มีอัตราส่วนสูงในประชากรเวียดนามปัจจุบัน พวกขาต่างติดสื่อสังคมกันอย่างงอมแงม โดยมักเฝ้าติดตามญาติๆ หรือเพื่อนฝูงซึ่งเดินทางไปยังอังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี ก่อนแล้ว ทั้งนี้โพสต์ทางเฟซบุ๊กจากต่างแดน และเงินทองที่ถูกส่งกลับมาบ้านเกิด มักถูกมองว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันอย่างเพียงพอว่า การเดินทางไปเสี่ยงโชคเช่นนี้นั้นคุ้มค่า

ด้วยการเป่าหู แนะนำ อำนวยความสะดวก จากพวกเครือข่ายค้ามนุษย์ ซึ่งมีสายติดต่อเชื่องโยงอยู่ในเมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลของเวียดนาม และมีจุดสัมพันธ์ต่างๆ ทั่วทั้งยุโรปตะวันออก ผู้ต้องการอพยพจะเกิดความเชื่อว่า หากพวกเขาสามารถจ่ายเงินซึ่งอาจจะสูงถึงราว 40,000 ดอลลาร์ ก็จะได้ตั๋วสำหรับการเดินทางก้าวพ้นไปจากความยากจน เงินทองก้อนใหญ่เช่นนี้อาจได้มาด้วยการขอหยิบยืมญาติพี่น้อง หรือไม่ก็ไปกู้หนี้ยืมสิน

“พวกนักค้ามนุษย์จะบอกกันว่าอังกฤษเป็นขุมทองที่สามารถไปขุดหาสร้างความร่ำรวยให้ตนเอง” นาดยา เซบตาอุย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้อพยพที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงปารีสกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

บ่อยครั้งพวกเขาได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้เงินเดือนงามๆ ถึงเดือนละ 3,000 ปอนด์ (3,800 ดอลลาร์) ซึ่งเป็นราว 3 เท่าตัวของรายได้ตลอดทั้งปีในเขตจังหวัดยากจนที่สุดของเวียดนาม

แต่ความเป็นจริงแล้ว มักจะแตกต่างห่างไกลไปมากมาย

บางคนจบลงด้วยการติดค้างหนี้สินหลายพันหลายหมื่นดอลลาร์ ให้แก่พวกแก๊งค้ามนุษย์และนายเงินปล่อยกู้ผู้ซึ่งออกเงินให้ก่อนสำหรับการเดินทางที่มีผู้เสี่ยงภัยสูงเหล่านี้ เมื่อถูกผูกติดกับหนี้ก้อนโตเช่นนี้แล้ว จำนวนมากจึงเสี่ยงที่จะถูกขูดรีดด้วยวิธีต่างๆ ในตลอดทั้งเส้นทาง

“จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้มีความตระหนักเอาเลย ว่าการทำงานในยุโรปนั้นความจริงแล้วมันมีสภาพอย่รางไร” เซบตาอุย บอก พร้อมกับเสริมว่า ผู้อพยพจำนวนมากต้องยอมทำงานแบบหลบๆ ซ่อนๆ และได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นต้นว่า ช่างแต่งเล็บ หรือคนงานปลูกกัญชา หรือกระทั่งเป็นผู้ให้บริการทางเพศ
<i>ภาพถ่ายของ เล วัน ฮา ติดตั้งอยู่บนสถานที่บูชาในบ้านของเขาที่จังหวัดเหงะอาน ประเทศเวียดนาม เมื่อวันอาทิตย์ (27 ต.ค.) กลัวกันว่าเขาจะเป็น 1 ใน 39 คนซึ่งเสียชีวิต </i>
เมืองที่เปลี่ยนไปด้วยหยาดเหงื่อของผู้อพยพ

มีจังหวัดเพียง 2-3 จังหวัดในบริเวณภาคกลางของเวียดนามเท่านั้น ได้แก่ เหงะอาน, ห่าติ๋ญ, และ กว๋างบิ่ญ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของผู้อพยพผิดกฎหมายส่วนใหญ่ ทั้งนี้ตามข้อมูลในรายงานฉบับหนึ่งของ กลุ่มต่อต้านการค้าทาสสากล (Anti-Slavery International) , ECPAT UK, และมูลนิธิแปซิฟิกลิงคส์ (Pacific Links Foundation)

พื้นที่แถบนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าตื่นใจของเวียดนามในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สำหรับคนหนุ่มสาวแทบทั้งหมด การงานที่พวกเขาสามารถฉวยคว้าทำได้ มีเพียงพวกตำแหน่งงานในโรงงาน, กิจการก่อสร้าง, หรือไปทำไร่ทำนา

เวลาเดียวกันนั้น เรื่องความความสำเร็จของพวกผู้อพยพรุ่นพี่ๆ ส่งผลสะท้อนสะเทือนไปทั่วเมืองเล็กเมืองน้อยในแถบนี้ เมื่อเงินทองที่คนเหล่านี้ส่งกลับมา ได้แปรเปลี่ยนเป็นบ้านเรือนหลังใหม่ๆ และกลายเป็นความใฝ่ฝันของคนรุ่นน้องจำนวนมาก

“เราอยู่ได้ด้วยเงินทองที่ส่งจากคนของเราในต่างประเทศ” นี่เป็นคำบอกเล่าของลุงผู้หนึ่งของ เงวียน ซิง ตู ชายหนุ่มวัย 27 ปีซึ่งเกรงกันว่าเป็นผู้หนึ่งที่ได้เสียชีวิตไปในรถตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นในอังกฤษคันนั้น

ในหมู่บ้าน ฝูซวน ของเขานั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นชุมนุมการเกษตรยากจนในจังหวัดเหงะอาน แต่เวลานี้กลับปรากฏสัญญาณของความมั่งคั่งอยู่ทั่วไป

บ้านก่ออิฐถือปูนหลังใหม่ถูกสร้างแทนที่กระท่อมโทรมๆ รถจักรยานถูกอัปเกรดด้วยรถจักรยานยนต์และรถยนต์ และร้านชานมไข่มุกอินเทรนด์ร้านหนึ่งเพิ่งเปิดขึ้นมาเร็วๆ นี้บนถนนสายหลักของหมู่บ้าน

“เงินทองที่ถูกส่งมาจากคนของเราในต่างประเทศ ได้เปลี่ยนรูปโฉมของหมู่บ้านแห่งนี้ นี่คือเหตุผลที่ทำไมคนหนุ่มคนสาวของเราจึงออกไปกันมั่ง” ลุงของตู กล่าว ขณะนั่งอยู่ในบ้านหลังใหม่ ซึ่งทำให้เขาคิดถึงหลานชายผู้ที่ช่วยให้เงินสนับสนุนในการสร้างบ้านที่ราคาร่วมๆ 13,000 ดอลลาร์หลังนี้

เงินก้อนนี้ถือว่าเยอะมากในจังหวัดเหงะอาน ซึ่งรายได้เฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ราวๆ 1,200 ดอลลาร์ต่อปี ต่ำลงมาราวเท่าตัวจากรายได้เฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,400 ดอลลาร์
<i>ชาวบ้านท้องถิ่นเข้าร่วมสวดอ้อนวอน เพื่อผู้คน 39 คนซึ่งพบเสียชีวิตในรถบรรทุกแช่เย็นที่ประเทศอังกฤษ  ระหว่างพิธีมิสซาวันอาทิตย์ ที่โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในหมู่บ้านฝูซวน จังหวะเหงะอาน ประเทศเวียดนาม เมื่อวันอาทิตย์ (27 ต.ค.) </i>
“ผมจะต้องโชคดี”

ในพื้นที่ส่วนนี้ของเวียดนาม ไม่ใช่เรื่องลำบากเลยที่จะหาใครสักคนซึ่งสามารถช่วยเหลือคุณเดินทางไปให้ถึงยุโรป –หากคุณมีเงินจ่าย

รัสเซียเป็นที่หมายซึ่งไปได้ง่ายมาก แค่มีวีซ่านักท่องเที่ยวหรือพาสปอร์ตปลอมก็มักเพียงพอแล้ว จากนั้นพวกเครือข่ายแก๊งอาชญากรรมซึ่งตั้งกระจายอยู่ทั่วยุโรปตะวันออก ก็จะช่วยผู้อพยพให้ไปกันต่อ โดยบ่อยครั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม

ในยุโรปตะวันออกนั้น มีชุมชนชาวเวียดนามตั้งถิ่นฐานหยั่งรากกันอยู่หลายๆ จุดภายหลังสงครามเวียดนาม บางแห่งเกิดขึ้นมาโดยเป็นส่วนหนึ่งในแผนการจ้างแรงงานเวียดนามยุคสหภาพโซเวียต แห่งอื่นๆ เกิดขึ้นจากพวกผู้ลี้ภัยสงคราม

พวกผู้อพยพส่วนใหญ่จะเดินทางกันต่อไปอีกสู่ยุโรปตะวันตกโดยทางบก โดยพวกซึ่งมุ่งหน้าสู่อังกฤษจะไปรอกันอยู่ในแค้มป์ที่พักชั่วคราวทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เพื่อคอยรถบรรทุกที่จะรับพวกเขาข้ามทะเลไป

สำหรับพวกที่จ่ายเงินพิเศษที่เรียกว่า “เงินโอนวีไอพี” ให้พวกแก็งค้ามนุษย์ ก็ได้รับประกันว่าจะได้ที่นั่งในรถบรรทุก ซึ่งโฆษณากันว่าเป็นเส้นทางอพยพที่สบายกว่า เซบตาอุย เล่า เธอผู้นี้มีประสบการณ์ในการทำงานกับพวกผู้อพยพชาวเวียดนามในฝรั่งเศส

พวกผู้อพยพที่เสียชีวิตในรถบรรทุกซึ่งพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจจะเป็นพวกที่จ่ายเงินหลายพันดอลลาร์ เพื่อให้ได้ที่นั่งในตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นก็เป็นได้

สำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้จ่ายเงินส่วนนี้ อาจต้องเสี่ยงโชคด้วยการหดตัวเก็บแขนขาให้ดีภายในช่องโค้งแคบๆ เหนือล้อของรถบรรทุก

แต่โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นมา มักไม่ได้เป็นเครื่องป้องปรามคนรุ่นหลัง ถึงแม้ในผู้เสียชีวิตทั้ง 39 คน จำนวนมากได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นชาวเวียดนาม ทว่ามันก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยืนไม่ให้ผู้อพยพในอนาคตตัดสินใจเลือกไปในเส้นทางเดียวกันนี้

“ถ้าหากใครสักคนหนึ่งรู้สึกสิ้นหวังกันจริงๆ หรือถ้าชีวิตของพวกเขาดูไม่มีความหวังอะไรเอาเสียเลย ... ในหมู่พวกเขาก็อาจจะยังมีคนคิดว่า ‘ผมจะต้องโชคดี’” นี่เป็นคำพูดของ ไมเคิล โบรโซว์สกี้ ผู้ก่อตั้ง เอ็นจีโอบลูดราก้อน กลุ่มเอ็นจีโอต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งตั้งฐานในเวียดนาม

(เก็บความจากเรื่อง Bored and broke, Vietnam migrants risk lives for riches in Europe ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น