xs
xsm
sm
md
lg

IS ระเบิดฆ่าตัวตายต้อนรับ ‘รอง ปธน.อัฟกัน’ กลับประเทศ ดับ 14 ศพ-เจ็บกว่าครึ่งร้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองประธานาธิบดี อับดุลรอชีด ดอสตุม แห่งอัฟกานิสถาน เดินทางโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำจากตุรกีถึงสนามบินนานาชาติคาบูล เมื่อวันที่ 22 ก.ค. โดยมีผู้สนับสนุนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
เอเอฟพี - เหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่บริเวณประตูทางเข้าสนามบินนานาชาติคาบูลทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 ราย บาดเจ็บอีกราว 60 คน ขณะที่ผู้คนจำนวนมากกำลังรอต้อนรับรองประธานาธิบดีอับดุลรอชีด ดอสตุม เดินทางกลับจากการลี้ภัยในต่างประเทศเมื่อวานนี้ (22 ก.ค.)

ฮัชมัต สตานิกไซ โฆษกตำรวจคาบูล ยืนยันยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 ราย บาดเจ็บอีก 60 คนจากเหตุระเบิดครั้งนี้ โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและตำรวจจราจรรวม 9 นาย

ดอสตุม ที่เผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ และชาติผู้บริจาคช่วยเหลืออัฟกานิสถานจนต้องหนีไปลี้ภัยอยู่ในตุรกีตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ถูกบรรดาผู้สนับสนุนเข้าไปห้อมล้อมต้อนรับอย่างอบอุ่นราวกับซูเปอร์สตาร์ ขณะเดินลงจากเครื่องบินเช่าเหมาลำที่สนามบินคาบูล และเดินทางออกจากสนามบินก่อนจะเกิดระเบิดแค่ไม่นาที

กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้ประกาศอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีครั้งนี้ ขณะที่รองประธานาธิบดีเชื้อสายอุซเบกไม่ได้รับอันตรายใดๆ และกล่าวถึงเรื่องระเบิดเพียงเล็กน้อยขณะที่พบกับบรรดาผู้สนับสนุนซึ่งปักหลักปูพรมแดงต้อนรับที่สำนักงานรองประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ยิ่งสะท้อนให้ถึงบรรยากาศทางการเมืองที่ไร้เสถียรภาพในอัฟกานิสถาน ก่อนจะถึงศึกเลือกตั้งรัฐสภาในช่วงเดือน ต.ค. รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า

ดอสตุม ได้กล่าวสนับสนุนการเจรจาสันติภาพกับตอลิบาน และขอบคุณหุ้นส่วนนานาชาติที่ให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถานตลอดมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาวอัฟกันทุกคนออกไปลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง

“การทุจริตฉ้อโกงเลือกตั้งทุกรูปแบบจะนำพาประเทศไปสู่วิกฤตที่ร้ายแรงและอันตราย” เขาเตือน

การกลับบ้านอย่างสง่างามของ ดอสตุม ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 หลังทีมบอดี้การ์ดของเขาจับตัวนักการเมืองคู่แข่ง อะหมัด เอชชี (Ahmad Eshchi) ไปรุมซ้อม ทรมาน และล่วงละเมิดทางเพศอย่างป่าเถื่อน

ดอสตุม ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ เอชชี แต่เมื่อถูกนานาชาติกดดันให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้นำระดับสูงก็ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย เขาจึงตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2017 โดยอ้างว่าจะไปรักษาอาการป่วยที่ตุรกี

ถึงแม้จะอยู่ต่างแดน แต่ ดอสตุม ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง และได้รับการสนับสนุนล้นหลามจากพลเมืองเชื้อสายอุซเบกทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน

ระหว่างที่อาศัยอยู่ในตุรกี ดอสตุมได้ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ อัตตา โมฮัมหมัด นูร์ ผู้นำชาวทาจิก และ โมฮัมหมัด โมฮากีก แกนนำชนกลุ่มน้อยฮาซารา ซึ่งต่างก็เดินทางมาต้อนรับเขาถึงที่กรุงคาบูลเมื่อวานนี้ (22)

ประธานาธิบดีอัชรอฟ ฆอนี จะต้องเผชิญภารกิจที่ท้าทายในการดึง ดอสตุม กลับมาเป็นหุ้นส่วนในรัฐบาลอีกครั้ง ขณะที่โฆษกของ ฆอนี ยืนยันเมื่อวันเสาร์ (21) ว่าจะมีการตั้งทีมสืบสวนอิสระเพื่อคลี่คลายคดีที่ ดอสตุม ถูกกล่าวหา

ดอสตุม เคยถูกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตราหน้าว่าเป็น “วอร์ลอร์ดระดับหัวกะทิ” (quintessential warlord) และถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานว่ามีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

มีรายงานว่า หลังจากที่สหรัฐฯ นำทหารบุกอัฟกานิสถานและโค่นล้มรัฐบาลตอลิบานลงได้เมื่อปี 2001 ดอสตุม ได้จับนักโทษตอลิบานไปสังหารหมู่ด้วยการขังในตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มีอากาศหายใจ ซึ่งเขาปฏิเสธว่าไม่จริง






กำลังโหลดความคิดเห็น