เอเอฟพี - หลังจากที่หน่วยซีลกองทัพเรือและผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำสามารถเข้าถึงจุดที่เด็ก 12 คนและผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลเยาวชน “หมูป่าอะคาเดมี” ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนได้แล้วเมื่อวานนี้ (2 ก.ค.) ภารกิจถัดไปที่ยากลำบากไม่แพ้กันคือการนำทั้ง 13 ชีวิตกลับออกมาจากถ้ำให้ได้อย่างปลอดภัย
เด็กๆ ดำน้ำออกมาได้หรือไม่?
ในทางทฤษฎีสามารถทำได้ แต่การปฏิบัติจริงอาจจะยากมาก เพราะการดำน้ำในถ้ำมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ร่างกายอ่อนแอจากการอดอาหารมานานถึง 10 วัน และไม่มีประสบการณ์ดำน้ำในลักษณะนี้มาก่อน
ถ้ำหลวงนอกจากจะเป็นถ้ำที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตรแล้ว ยังขึ้นชื่อว่าเป็นถ้ำที่สำรวจยากที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากเส้นทางภายในถ้ำนั้นคดเคี้ยวและบางจุดก็แคบจนเดินได้ลำบาก
หากจะใช้วิธีดำน้ำออกมาทางปากถ้ำ เยาวชนและโค้ชทั้ง 13 คนก็จะต้องผ่านโพรงแคบๆ ที่เต็มไปด้วยน้ำโคลนเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ซึ่งเส้นทางนี้แม้แต่หน่วยซีลที่สุขภาพแข็งแรงยังต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงในการกลับออกมา
เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำอาหารและน้ำดื่มเข้าไปให้เด็กๆ รับประทานเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย และเตรียมฝึกให้พวกเขาใช้อุปกรณ์ดำน้ำที่จำเป็น
“การดำน้ำในถ้ำถือเป็นทักษะด้านเทคนิคที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้ผ่านการฝึกมาก่อน” อันมาร์ มิรซา ผู้ประสานงานคณะกรรมาธิการช่วยชีวิตในถ้ำแห่งสหรัฐฯ (US National Cave Rescue Commission) เผยกับเอเอฟพี
“ดังนั้นทางเลือกที่ดีกว่าน่าจะเป็นการส่งเสบียงให้พวกเขาใช้ประทังชีวิต จนกว่าจะสามารถพาออกมาได้ด้วยวิธีอื่น”
ออกทางปล่องด้านบนถ้ำได้หรือไม่?
ทีมสำรวจได้พยายามค้นปล่องเหนือถ้ำหลวงเพื่อหาช่องที่จะลงไปยังจุดที่ผู้ประสบภัยติดอยู่ได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบปล่องที่เชื่อมกับโถงซึ่ง 13 ชีวิตทีมหมูป่าเข้าไปติดอยู่ และต่อให้พบช่องทางที่จะนำออกมาได้ เด็กๆ ก็ยังต้องฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรงพอที่จะปีนป่ายหรือถูกอพยพขึ้นมาทางปล่องดังกล่าว
เดินออกมาได้หรือไม่?
นี่คือทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด แต่ยังทำไม่ได้เนื่องจากภายในถ้ำมีน้ำท่วมสูง และจำเป็นต้องรอให้น้ำลดเสียก่อน
เจ้าหน้าที่ได้เดินเครื่องสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อระบายน้ำออกจากถ้ำ แต่ก็ต้องเผชิญอุปสรรคจากฝนที่ตกหนักเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม
“หากน้ำฝนไหลเข้าไปท่วมจมเต็มระบบถ้ำอีก ก็อาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ กว่าน้ำจะลดลงอีกครั้ง” เบน เรย์เมนานต์ ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำมือหนึ่งในไทยซึ่งเดินทางมาช่วยค้นหาทีมหมูป่า ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ใช้เวลานานแค่ไหน?
ยังยากที่จะตอบได้ และขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของทั้ง 13 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำหลวงอีกเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ จนกว่าหน่วยกู้ภัยจะค้นพบวิธีที่ปลอดภัยที่สุด
นาวาเอกอนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับกรมรบพิเศษ 1 นสร.กร. แถลงวันนี้ (3) ว่า เจ้าหน้าที่ได้เตรียมส่งเสบียงอาหารที่เพียงพอสำหรับ 4 เดือนเป็นอย่างน้อย แต่ไม่ได้ระบุว่าเด็กจะต้องติดอยู่ในถ้ำนานถึงขนาดนั้น
สภาพจิตใจของเด็กๆ พร้อมหรือไม่?
เด็กทุกคนต้องการออกจากถ้ำโดยเร็วที่สุด พวกเขาบอกกับนักดำน้ำชาวอังกฤษ 2 คนซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปพบว่า “อยากออกไปข้างนอก” ซึ่งหนึ่งในผู้ช่วยเหลือก็ตอบไปว่า “ผมรู้ ผมเข้าใจ แต่ไม่ใช่วันนี้”
นอกจากร่างกายที่จะต้องฟิตพอสำหรับการดำน้ำออกมาแล้ว เด็กๆ ทีมหมูป่ายังต้องฝึกควบคุมสติให้นิ่งเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำที่ขุ่นจนแทบมองอะไรไม่เห็นภายในโพรงถ้ำคับแคบที่กั้นระหว่างพวกเขากับอิสรภาพภายนอก
เรย์เมนานต์ ระบุว่า การที่น้องๆ ทั้ง 12 ชีวิตมีจิตใจมั่นคงและไม่เจ็บป่วยรุนแรงถือเป็นเรื่องที่ดี และต้องชื่นชมผู้ฝึกสอนที่ยังมีสติ บอกให้เด็กอยู่รวมกันเพื่อออมแรงไว้ให้มากที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาอยู่รอด