xs
xsm
sm
md
lg

คนสายการบินต้องอ่าน! ผลวิจัยฮาร์วาร์ดพบ แอร์-สจ๊วต" เสี่ยงมะเร็งสูงกว่าคนปกติ แม้ไม่อ้วน-ไม่สูบบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
เอเอฟพี - นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดศึกษาพบอัตราความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งทุกประเภทในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ “ลูกเรือสายการบิน” สูงกว่าคนปกติทั่วไปชัดเจน แม้น้ำหนักไม่เกินและไม่สูบบุหรี่ ชี้อาจเกิดจากหลายๆ สาเหตุ

“เรามีรายงานที่บ่งชี้ว่า ลูกเรือมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา และไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer) มากกว่าประชากรทั่วไป” อิรินา มอร์ดูโควิช นักวิจัยจาก ที.เอช. ชาน สกูลออฟพับลิก เฮลท์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารอนามัยสิ่งแวดล้อม

“เรื่องนี้น่าตกใจ เพราะลูกเรือเหล่านี้นั้นเฉลี่ยแล้วไม่ได้เป็นอาชีพที่มีน้ำหนักเกิน และไม่ค่อยสูบบุหรี่ด้วย” เธอระบุ
แฟ้มภาพ
มากกว่าร้อยละ 15 ของลูกเรือจำนวน 5,366 คนที่เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ระบุว่าเคยถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง โดยผลการศึกษายังชี้ให้เห็นด้วยว่าลูกเรือมีสัดส่วนการเป็นมะเร็งทุกประเภทสูงกว่าคนทั่วไป แม้จะมีการแบ่งแยกศึกษาตามช่วงอายุแล้วก็ตาม

ร้อยละ 3.4 ของลูกเรือหญิงที่ต้องบินไปบินมาบ่อยระบุว่าเป็นมะเร็งเต้านม เทียบกับตัวเลขร้อยละ 2.3 ของผู้หญิงปกติทั่วไป ส่วนอัตราการเป็นมะเร็งมดลูกนั้น บรรดาแอร์โฮสเตสก็มีอัตราส่วนการเป็นอยู่ที่ร้อยละ 0.15 เปรียบเทียบกับคนทั่วไปที่ร้อยละ 0.13 ด้านมะเร็งปากมดลูกแอร์โฮสเตสก็มีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไปที่อัตราร้อยละ 1.0 เทียบกับสาว ๆ อาชีพอื่นที่ร้อยละ 0.7

ส่วนมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้นั้น บรรดาลูกเรือสายการบินก็มีอัตราการเป็นสูงถึงร้อยละ 0.47 เทียบกับคนทั่วไปที่ร้อยละ 0.27 นอกจากนี้ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์สูงกกว่าคนทั่วไปคือร้อยละ 0.67 เทียบกับร้อยละ 0.56

ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ยังไม่มีบุตรนั้นก็สูงกกว่าผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว รวมถึงผู้หญิงที่มีบุตรมากกว่า 3 คนก็มีความเสี่ยงมากกว่าด้วย นักวิจัยจาก ม.ฮาร์วาร์ดระบุ
แฟ้มภาพ
“สิ่งที่เราแปลกใจก็คือ การค้นพบว่าแอร์โฮสเตสที่มีบุตรเกินกว่า 3 คนนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นด้วย” มอร์ดูโควิชเผย พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า “นี่อาจจะเกี่ยวข้องกับการถูกขัดจังหวะของการมีรอบประจำเดือน การนอนพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และตารางการทำงานที่ไม่ปกติ ทั้งในการใช้ชีวิตปกติและการประกอบอาชีพ”

ในส่วนของลูกเรือผู้ชาย หรือสจ๊วต ก็มีผลบ่งชี้ว่า มีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนัง ทั้งเมลาโนมา และไม่ใช่เมลาโนมาสูงกว่าผู้ชายทั่วไปคือ ร้อยละ 1.2 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ส่วนชายทั่วไปนั้นมีอัตราความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังทั้งสองชนิดน้อยกว่าที่ราวร้อยละ 0.69 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ โดยความเสี่ยงดังกล่าวเป็นที่ทราบกันดีในช่วงก่อนหน้าที่กฎการห้ามสูบบุหรี่บนเครื่องบินในสหรัฐฯ จะเริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2541 (ค.ศ. 1998)

ทั้งนี้ บรรดาลูกเรือสายการบินนั้นมีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็ง รวมไปถึงรังสีคอสมิกจากอวกาศ วิถีชีวิตประจำวันที่ขาดความสม่ำเสมอ รวมไปถึงการสัมผัสสารเคมีปนเปื้อนต่างๆ ด้วย

นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดใช้ข้อมูลในปี 2556-2557 ที่ศึกษาผลการตรวจสุขภาพของลูกเรือ ซึ่งถูกเก็บอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 โดยข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลสุขภาพและโภชนาการของชายและหญิงจำนวน 23,729 คน ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน และถูกสำรวจในปีเดียวกัน

มากกว่าร้อยละ 80 ของลูกเรือสายการบินที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัยนั้นเป็นสตรี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีอายุ 51 ปี และทำงานเป็นลูกเรือสายการบินมามากกว่า 20 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น