xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ จ่อถอนใบอนุญาต “โบอิ้ง-แอร์บัส” ห้ามขายเครื่องบินโดยสารให้ “อิหร่าน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - สหรัฐฯ จะเพิกถอนใบอนุญาตที่ช่วยให้ค่ายอากาศยานยักษ์ใหญ่อย่าง “โบอิ้ง” และ “แอร์บัส” สามารถจำหน่ายเครื่องบินโดยสารให้แก่อิหร่าน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน แถลงวานนี้ (8 พ.ค.)

ทรัมป์ ประกาศจะรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเตหะรานอีกครั้ง หลังจากที่เคยยกเว้นให้ตามเงื่อนไขข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เขาวิจารณ์ว่าเป็น “ดีลที่แย่ที่สุด”

สหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ร่วมมือกับอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และเยอรมนี จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action - JCPOA) กับอิหร่าน โดยมหาอำนาจรับปากจะผ่อนคลายบทลงโทษทางเศรษฐกิจ แลกกับการที่เตหะรานจะต้องลดทอนกิจกรรมนิวเคลียร์ลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถพัฒนาระเบิดปรมาณูได้

สายการบินอิหร่านแอร์ได้สั่งซื้อเครื่องบินโดยสารรวมทั้งหมด 200 ลำ แบ่งออกเป็นแอร์บัส 100 ลำ, โบอิ้ง 80 ลำ และเครื่องบินเทอร์โบพร็อบจากบริษัท ATR สัญชาติอิตาลี-ฝรั่งเศสอีก 20 ลำ

สัญญาสั่งซื้อทั้งหมดขึ้นอยู่กับใบอนุญาตของสหรัฐฯ เนื่องจากเครื่องบินโดยสารเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนหลักๆ ที่ผลิตในอเมริกา

โบอิ้ง ยอมตกลงขายเครื่องบิน 80 ลำให้แก่อิหร่านแอร์เมื่อปี 2016 รวมมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์ตามราคาแค็ตตาล็อก หลังจาก JCPOA เริ่มมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการออกใบอนุญาตส่งออกสินค้ายืนยันว่า สหรัฐฯ จะไม่อนุมัติส่งออกเครื่องบินโดยสาร ชิ้นส่วน หรือบริการให้แก่อิหร่านอีกต่อไปหลังผ่านพ้น 90 วัน

“ใบอนุญาตของโบอิ้งและแอร์บัสจะถูกเพิกถอน” มนูชิน ให้สัมภาษณ์สื่อที่กระทรวงการคลัง “ข้อตกลงเก่าได้กำหนดข้อยกเว้นสำหรับเครื่องบินโดยสาร ชิ้นส่วน และบริการต่างๆ แต่ใบอนุญาตที่ใช้อยู่กำลังจะถูกยกเลิก”

แอร์บัส ซึ่งเป็นค่ายอากาศยานของยุโรปออกมาแถลงจุดยืนก่อนที่ มนูชิน จะตั้งโต๊ะแถลงข่าววานนี้ (8) ว่า บริษัทจะศึกษาผลกระทบจากการตัดสินใจของ ทรัมป์ ซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควร

กอร์ดอน จอห์นโดร โฆษกของโบอิ้ง ยืนยันว่า “เราพร้อมจะปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลสหรัฐฯ ในขั้นตอนเหล่านี้

แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า ใบอนุญาตเดิมของโบอิ้งจะหมดอายุลงในเดือน ก.ย.ปี 2020

หลังช่วงเปลี่ยนผ่าน 90 วันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 ส.ค. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตที่ช่วยให้บริษัทอเมริกันสามารถเจรจาทำธุรกิจกับอิหร่านด้วย

มนูชิน เผยว่า “มีความเป็นไปได้” ที่บางบริษัทอาจจะขอยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตร หรือขอใบอนุญาตเพื่อทำธุรกิจกับอิหร่านใหม่ แต่ก็ไม่ระบุแน่ชัดว่าหมายถึงบริษัทใดบ้าง

“เราจะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่โดยภาพรวมผมเชื่อว่ารัฐบาลมีเป้าหมายที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างครอบคลุม” โดยเฉพาะการปิดกั้นไม่ให้อิหร่านสามารถเข้าถึงระบบการเงินของสหรัฐฯ

เดนนิส มุยเลนเบิร์ก ซีอีโอโบอิ้ง แถลงเมื่อเดือน เม.ย.ว่า บริษัทยังไม่มีเครื่องบินที่เตรียมจะส่งมอบให้อิหร่านในปีนี้ ส่วนแผนการผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 777 “ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อของอิหร่าน”

อิหร่านแอร์ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 15 ลำ โดยแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการบินระบุว่า โบอิ้งเคยมีแผนที่จะส่งมอบ โบอิ้ง 777 ให้แก่อิหร่าน 3 ลำในปีนี้ แต่ตัดสินใจปรับไปส่งมอบให้ลูกค้ารายอื่นก่อน




กำลังโหลดความคิดเห็น